เครื่องบินจีนสู้ยักษ์สองทวีป​​

เครื่องบินจีนสู้ยักษ์สองทวีป​​

​เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลจีนสร้างความภาคภูมิใจให้ชาวจีนอีกครั้งโดยแสดงให้ชาวโลกเห็นว่าสามารถสร้างเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ได้

อย่างไม่ต่างไปจาก Boeing และ Airbus ของโลกตะวันตก ความสำเร็จของการสร้าง Comac C919 ของจีนมีนัยยะสำคัญหลายประการ

จีนมิได้เพิ่งสร้างเครื่องบินเป็น หากสร้างเครื่องบินฝึกบิน เครื่องบินรบ เครื่องบินตรวจภูมิอากาศและกิจการเกษตร เฮลิคอปเตอร์ ฯลฯ หลากหลายรูปแบบและหลายรุ่นมานานแล้ว

สำหรับเครื่องบินโดยสารนั้นมีความพยายามมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 หลังจากประธานาธิบดีนิกสันไปเยือนจีนด้วย Boeing 707 จีนได้ซื้อเครื่องยนต์จาก Boeing ไป 40 เครื่องเพื่อสร้างเครื่องบินเองคือ Y-10 ซึ่งต่อมาได้สร้างไป 3 ลำ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะปัญหาน้ำหนัก

เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาครบรอบ 1 ปี ของการบินพาณิชย์โดยเครื่องบินรุ่น ARJ21 ของจีนซึ่งจุคนได้ไม่เกิน 100 คนจำนวน 6 ลำ ที่บินโดยเฉินตูแอร์ไลน์ และจีนก้าวไปอีกโดยการนำ ComacC919 ขึ้นบินอย่างประสบผลสำเร็จ

C919 มีลักษณะและคุณสมบัติคล้าย Airbus รุ่น 320 และ Boeing737 ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง จุคนได้ไม่เกิน 190 คน เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2008 แต่ล่าช้าไป 3 ปี ตั้งใจว่าจะผลิตจากที่มีอยู่ 2 ลำ เป็น 6 ลำเพื่อทดลองบิน และจะผลิตรุ่นแรกออกมาในปี 2020 ประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ลำ และคาดว่าใน 20 ปีหลังจากนั้นจะผลิตรวมได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ลำ

จีนเอาความรู้และประสบการณ์มาจากที่ใดจึงหาญกล้าสร้างเครื่องบินโดยสารขึ้นมาทาบรัศมี Boeing ของสหรัฐ และ Airbusของยุโรปผู้ครองตลาดใหญ่อยู่ 2 รายมายาวนาน คำตอบก็คืออยู่ที่จีนเอง ARJ21 มีลักษณะคล้าย MD-80 และ MD-90 ของบริษัท McDonnell Douglas ซึ่งผลิตในจีนและเลิกไป จีนก็ใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่ทิ้งไว้ตลอดจนความรู้มาออกแบบและสร้างเองจนมีเสียงนินทาว่าคล้ายต้นตำรับมาก

สำหรับ C919 นั้นทำได้เพราะ จีนรับจ้าง Airbus ประกอบลำตัวรุ่น A320 และรับจ้างผลิตชิ้นส่วนให้ Boeing 737 มานาน ความรู้และประสบการณ์จึงมีมากและก็ถูกนินทาอีกว่า C919 คล้าย A320 มาก

จีนโดดลงมาผลิตเครื่องบินโดยสารเพราะเห็นโอกาสทางการค้าและต้องการพึ่งตนเองตามประกาศของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เรื่อง “Made in China 2025” ซึ่งครอบคลุม 10 อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นรถไร้คนขับ รถไฟฟ้าความเร็วสูง เครื่องบิน หุ่นยนต์ ไมโครชิพแบบล้ำหน้า ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ

ใน 20 ปีข้างหน้า (2016-2036) คาดว่าโลกจะมีความต้องการเครื่องบินประมาณ 30,000 ลำ 75% ของจำนวนนี้จะเป็นขนาด A320 และ Boeing737 (หรือเรียกว่าชนิดมีทางเดินเดียว) เนื่องจากมีความคล่องตัวในการตอบรับกับความต้องการโดยสารที่ผันแปรของโลกได้ดี ระยะบินได้ไกลถึง 5,000 กิโลเมตรและประหยัดพลังงาน

ตลาดที่ใหญ่สุดในปี 2036 ก็คือเอเชียแปซิฟิก(จีนนั่นแหละคือตลาดใหญ่) คาดว่าจะมีส่วนแบ่งของตลาดถึง 36% (เพิ่มจาก 29% ในปี 2016) รองลงมาคืออเมริกาเหนือคือ 23% (ตกจาก 30% ในปี 2016) ยุโรปตกจาก 20% ในปี 2016 เหลือ 18% ลาตินอเมริกาและตะวันออกไกลใกล้เคียงกันคือเพิ่มจาก 6% เป็น 8% ในปี 2036

ตัวเลขความต้องการเครื่องบินจำนวนมหาศาลเช่นนี้กอบกับตลาดมีมูลค่ารวมระหว่างปัจจุบันถึง 2036 ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ จีนจึงต้องลงมาเล่นในตลาดผลิตเครื่องบินโดยสารเพื่อความยิ่งใหญ่ประทับใจชาวจีนและชาวโลกอันเป็นเหตุผลทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง (โครงการอวกาศจีนก็ไปได้ดี จนคาดว่าจะเหยียบดวงจันทร์ หรือบรรลุเป้าหมายสำคัญได้ในเวลาอีกไม่นาน)

สำหรับ C919 นั้นจะว่าไปแล้วก็ซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศในทุกระบบที่สำคัญ เช่น เครื่องยนต์ ระบบข้อมูล ระบบเบรก ระบบการบิน ระบบไฟฟ้า ฯลฯ จีนนั้นออกแบบและเอาระบบต่าง ๆ ที่ซื้อมาประสานกัน กลุ่มผู้ผลิตเก่าอ้างว่า C919 นั้นล้าสมัยถึง 10-15 ปี ไม่สามารถสู้กับ Boeing737 รุ่นชั่วคนที่ 4 คือ รุ่นMax(737-800 ที่บินกันว่อนสำหรับราคาประหยัดนั้นยังล้าสมัยกว่า737-Max 8)และ Airbus รุ่นใหม่ คือ Airbusneo 320ได้ ฝ่ายจีนก็บอกว่า C919 ออกแบบในยุคปี 2000 ส่วน Boeing737 นั้นออกแบบในยุค 1960 และ Airbus320 นั้นออกแบบในยุค 1980 อีกทั้งเราก็ใช้อุปกรณ์ของพวกยูเกือบทั้งหมด ดังนั้นมันจะทิ้งกันห่างมากได้อย่างไร

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ C919 ราคาประมาณลำละ 50 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ A320 และ Boeing 737 รุ่นใกล้เคียงกันนั้นตกไม่ต่ำกว่าลำละ 100 ล้านดอลลาร์ พูดง่าย ๆ ก็คือถูกกว่ากันเท่าตัว คุณภาพใกล้เคียงกัน ตอนนี้ C919 มีคำสั่งซื้อแล้ว 500 กว่าลำจาก 23 ประเทศ (ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น)

C919ผลิตโดยบริษัท Comac ซึ่งรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของทั้งหมดและทุ่มสุดตัว (ลงทุนไปในการผลิต C919 แล้วประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ มีโรงงานใหญ่โตมโหฬาร มีตึกใหญ่กว่า 100 หลัง มีทุนให้ไม่จำกัด) ขณะนี้ Comac จับมือกับรัสเซียจะผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ รุ่น C929 จุผู้โดยสาร 280 คน บินได้ไกล 12,000 กิโลเมตร ออกมาสู้กับ Airbus350 และ Boeing787 ที่เรียกว่า Dreamliner

อย่างไรก็ดีเรื่องมันไม่ได้จบแค่ผลิตเครื่องบินออกมาได้เท่านั้น C919 และรุ่นอื่น ๆ ต้องการใบอนุญาตรับรองความปลอดภัยจากยุโรป สหรัฐและองค์กรบินระหว่างประเทศซึ่งเป็นงานใหญ่ใช้เวลา ต้องการงานทูตระดับโลกเพราะไม่อาจหลีกเลี่ยงการเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศไปได้ (ถ้ายอมกันง่าย ๆ ก็ไม่มีการต่อรองเพื่อต้องเอาอะไรบางอย่างมาแลกสิ) แต่วงการบินโลกก็เชื่อมือจีนในการเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก และบทบาทที่พร้อมจะเป็นผู้นำโลกแทนสหรัฐที่มีผู้นำบุคคลิกสุดประหลาดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ

เลวร้ายสุดหากมีการดึงกันนานในเรื่องนี้ จีนก็สามารถบิน C91 และ C929 ภายใน ประเทศที่มีประชากรอันดับ 2 คือ 1,300 ล้านคนในโลกได้ (ตอนนี้อินเดียแซงหน้าเป็นอันดับหนึ่งไปแล้วที่ 1,400 ล้านคน) เพราะมีความต้องการในประเทศเพียงพอ

จีนไม่เพียงแต่ภูมิใจที่สามารถผลิตเครื่องบินระดับนานาชาติได้เท่านั้น หากยังมีการจัดการการบินที่มีประสิทธิภาพกว่าโลกตะวันตกท่ามกลางเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอีกด้วย หลักฐานก็คือในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่งมีอุบัติเหตุเครื่องบินที่มีผู้เสียชีวิตเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้มีสถิติคนตาย 1 คนจากอุบัติเหตุเครื่องบินต่อผู้โดยสาร 70 ล้านคน ในขณะที่ตัวเลขเดียวกันในโลกตะวันตกคือ 25 ล้านคน

ธุรกิจผลิตเครื่องบินไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจำเป็นต้องมีการให้บริการบำรุงและซ่อมแซมเครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนควบคุมติดตามการใช้เครื่องบินของตนหลังการขายไปแล้วอีกด้วย เนื่องจากความน่าเชื่อถือในความปลอดภัยคือหัวใจของความสำเร็จ

จีนจะใช้การเมืองระหว่างประเทศอย่างไรในการให้เครื่องบินได้รับการยอมรับ ในการขายและในการให้บริการ ภายใต้การผลิตและการบริหารที่มีประสิทธิภาพอย่างเป็นเลิศอย่างน่าไว้วางใจ จนสามารถแข่งขันกับ 2 ยักษ์จาก 2 ทวีปที่ผูกขาดแบ่งตลาดกันมานานแล้วได้