สงครามสนามเพลาะ

สงครามสนามเพลาะ

สงครามสนามเพลาะ

ในสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ฝ่ายอักษะที่นำโดยเยอรมันใช้สงคราม “สายฟ้าแลบ” ในการรุกรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นส่วนใหญ่ สงครามสายฟ้าแลบนั้นทำโดยมีหลักการหรือยุทธวิธีใหญ่ ๆ 3 ประการด้วยกันนั่นก็คือ หนึ่ง วางกลยุทธการเข้าทำศึกอย่างรอบคอบและชาญฉลาดโดยมีเป้าหมายสำคัญก็คือ ใช้กำลังเข้ายึดตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ทำให้ได้เปรียบศัตรู ฆ่าและทำลายฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้ยอมแพ้อย่างรวดเร็ว สอง จะต้องมีการรวมกำลังทหารและทรัพยากรจำนวนมากอยู่ในจุดเน้นที่แคบเพื่อเพิ่มอำนาจในการยิง และสาม การเข้าโจมตีจะต้องเป็นเรื่องที่ฝ่ายตรงข้าม “นึกไม่ถึง” ในสงครามแบบสายฟ้าแลบนั้น ฝ่ายที่เข้าโจมตีจะต้องมีแม่ทัพและกองทหารที่มีความสามารถและวินัยสูง นอกจากนั้นก็จะต้องมีอาวุธและยุทโธปกรณ์ในการรบรวมถึงระบบการสื่อสารที่ดีเมื่อเทียบกับศัตรู

ก็อย่างที่เรารู้ เยอรมันประสบความสำเร็จสูงมากในช่วงแรกของสงครามที่สามารถยึดประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรด้านตะวันตกหลายประเทศรวมถึงฝรั่งเศสที่เป็นผู้นำในเวลาอันสั้น แต่เมื่อเยอรมันเปิดแนวรบด้านตะวันออกโดยการบุกรัสเซีย สงครามก็เปลี่ยนไป เพราะรัสเซียสามารถยันกองทัพเยอรมันไว้ได้แม้จะเสียหายหนักมาก รัสเซียได้เปลี่ยนสงครามสายฟ้าแลบของเยอรมันให้กลายเป็น “สงครามยืดเยื้อ” จนในที่สุดเยอรมันกลายเป็นฝ่ายที่แพ้เพราะ “หมดกำลัง” ต้องถอยทัพและถูกทหารรัสเซียตามขยี้จนถึงเบอร์ลินและยอมแพ้ในที่สุด

ในการลงทุนนั้น ผมมักจะพยายามนึกถึงประวัติศาสตร์สงครามเพื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนเพราะผมคิดว่าสงครามและการต่อสู้นั้น มีอะไรที่คล้าย ๆ กับการลงทุนที่ว่ามันเป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่มักจะต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรเพื่อการอยู่รอดและพวกที่ “ชนะ” ก็คือคนที่ “มองขาด” และใช้กลยุทธ์ที่ถูกต้องในสถานการณ์ที่เหมาะสม

ในตลาดหุ้นไทยในช่วงประมาณ 10- 20 ที่ผ่านมานั้น คนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นโดยใช้ยุทธวิธีแบบ “สายฟ้าแลบ” นั่นคือ หนึ่ง ลงทุนแบบมีการวางแผนและใช้หลักการลงทุนแบบถูกต้องเช่น การใช้หลักการแบบ Value Investment ที่เน้นคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลักรวมถึงการดูราคาหุ้นที่ไม่แพงเกินไป เป็นต้น สอง มีการลงทุนแบบ Focus หรือเน้นการทุ่มเททรัพยากรให้อยู่ในจุดที่แคบ ลงทุนเม็ดเงินจำนวนมากของตนเองในหุ้นน้อยตัว และ สาม เลือกลงทุนในหุ้นตัวเล็กที่นักลงทุนคนอื่นยังไม่สนใจและไม่มีหรือแทบไม่มีบทวิเคราะห์ เข้าทำนอง คนยัง “นึกไม่ถึง”

ผลของการลงทุนแบบ “VI” ในสไตล์ดังกล่าวนั้น บ่อยครั้งทำให้พวกเขา “ชนะ” อย่างรวดเร็ว ความหมายก็คือ ราคาหุ้นวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและทำกำไรมหาศาลในเวลาอันสั้น ซึ่งพวกเขาก็มักจะขายทำกำไรก่อนที่จะหาหุ้นหรือ “จุดเข้าตี” ใหม่ซึ่งก็มักจะสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ กลายเป็นปรากฏการณ์คล้ายๆ กับชัยชนะในแนวรบด้านตะวันตกของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง

“สงครามยืดเยื้อ” นั้น เป็นเกมสงครามในแนวรบด้านตะวันออกของเยอรมันต่อรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่สองที่จะคอยเตือนใจให้นักกลยุทธ์สงครามและนักลงทุนโดยเฉพาะ VI ตระหนักว่า สถานการณ์อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลาและกลยุทธ์ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปมิฉะนั้นเราก็อาจจะ “พ่ายแพ้” อย่างคาดไม่ถึง

ว่าที่จริงสงครามยืดเยื้อนั้น ไม่ได้เกิดครั้งแรกในสงครามเยอรมันกับรัสเซีย ตรงกันข้าม ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นประมาณ 25 ปีนั้น ต้องเรียกว่าเป็น “สงครามยืดเยื้อ” เป็นส่วนใหญ่ และที่น่าเศร้าก็คือ “ผู้เล่นหลัก” หรือคู่สงครามเองก็แทบจะซ้ำกันระหว่างครั้งที่หนึ่งกับครั้งที่สองนั่นก็คือ เยอรมันที่เป็นฝ่าย “มหาอำนาจกลาง” ประกอบด้วย เยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี และตุรกี ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามก็คือฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประกอบด้วยฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย เป็นต้น

“ภาพใหญ่” ของกลยุทธ์การรบในครามโลกครั้งที่หนึ่งก็คือ มันเป็นการรบหรือสงครามใน “สนามเพลาะ” นั่นก็คือ คู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่ายต่างก็ขุดสนามเพลาะเป็นแนวรับเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกบุกผ่านเข้ามายึดชัยภูมิและเมืองสำคัญของฝ่ายตน แนวสนามเพลาะนั้นยาวเป็นหลายสิบหรือร้อยกิโลเมตรและมักจะมีหลายแนวซ้อนกันเพื่อเป็นการป้องกันหลายชั้นในกรณีว่าแนวหน้า “แตก” 

ในสนามเพลาะซึ่งเป็นคูดินลึกพอให้ทหารตั้งปืนเพื่อยิงฝ่ายตรงข้ามที่จะบุกเข้ามานั้น เต็มไปด้วยทหารที่ยืนเรียงรายกันตลอดแนว ในอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายบุกก็มักจะเริ่มโจมตีด้วยปืนใหญ่ก่อนที่จะให้ทหารบุกเข้าไปยึดสนามเพลาะของข้าศึก อย่างไรก็ตาม การที่จะเอาชนะนั้นไม่ง่าย เหตุผลก็เพราะคนที่ตั้งรับอยู่ในสนามเพลาะนั้นมักจะได้เปรียบในเรื่องของทำเลและภูมิประเทศที่เลือกไว้ก่อนแล้ว เช่นเดียวกับเรื่องของการที่ทหารของพวกเขายืนอยู่ในที่ที่มีที่กำบังในขณะที่ฝ่ายรุกนั้นวิ่งเข้ามาในที่โล่งแจ้ง ผลก็คือ ฝ่ายรุกมักจะไม่สามารถเอาชนะฝ่ายรับได้และมักจะเสียหายหนัก และทั้งสองฝ่ายก็ผลัดกันรุกและรับกลายเป็นสงคราม “ยืดเยื้อ” ที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งสองฝ่าย

สงคราวยืดเยื้อนั้น มีคุณสมบัติที่สำคัญก็คือ การที่ฝ่ายหนึ่งพยายาม “ตี” ให้อีกฝ่ายหนึ่งอ่อนแรงลงไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่ “หมดแรง” อันเป็นผลจากการที่บุคลากรและอาวุธยุทโธปกรณ์ถูกทำลายลงไปอย่างต่อเนื่อง โดยปกติแล้ว ฝ่ายที่มีทหารและทรัพยากรมากกว่าก็มักจะเป็นฝ่ายชนะ แต่นั่นก็มักจะใช้เวลายาวมาก

ในประวัติศาสตร์นั้น กลยุทธ์สงครามยืดเยื้อมักจะใช้โดยฝ่ายที่เสียเปรียบ อาจจะเนื่องจากการที่มีกำลังทหารและความสามารถน้อยกว่าและ/หรือมีอาวุธยุทโธปกรณ์ด้อยกว่า และมักจะเป็นการใช้เมื่อหมดหนทางจริง ๆ แล้ว อย่างไรก็ตาม ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้น ดูเหมือนว่ากำลังของทั้งสองฝ่ายต่างก็พอ ๆ กัน และอาจจะเป็นเพราะว่ามีการพัฒนาการทางด้านของอำนาจการยิงแต่เรื่องของการสื่อสารและการเคลื่อนพลยังล้าหลัง รถบรรทุกและรถถังที่ใช้ขนส่งกำลังยังมีน้อยมากและไม่เพียงพอ ทำให้ผู้นำทหารต่างก็ต้องใช้กลยุทธ์สงครามแบบยืดเยื้อโดยการขุดสนามเพลาะและรบกันในสนามเพลาะเป็นหลัก

กลับมาที่กลยุทธ์ลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงเร็ว ๆ นี้ และย้อนหลังไปประมาณ 3-4 ปี ดัชนีตลาดหุ้นดูเหมือนว่าจะไม่ไปไหน เช่นเดียวกับที่ความผันผวนก็ลดลงมาก การลงทุนในตลาดหุ้นดูเหมือนกับการรบในสนามเพลาะที่คนเล่นไม่สามารถเอาชนะหรือทำกำไรได้ ยิ่งเล่นหรือเข้าตีมากเท่าไรก็จะยิ่งเสียหายมากเท่านั้น กลยุทธ์แบบเดิมที่เข้าซื้อหุ้นแบบทุ่มซื้อเพื่อหวังที่จะให้ราคาปรับตัวขึ้นไปแรงหรือคล้าย ๆ กับการรบแบบสายฟ้าแลบนั้นดูเหมือนว่าจะไม่ทำงานอีกต่อไปและอาจจะทำให้ต้อง “ติดหุ้น” อย่างยาวนาน สถานการณ์ต่าง ๆ ทางด้าน “พื้นฐาน” และ/หรือ เก็งกำไรในช่วง 3-4 ปีมานี้ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นใจในการที่จะใช้กลยุทธ์รุกรบรุนแรงหรือการเล่นหุ้นโตเร็วราคาแพงเพราะคนอาจจะไม่เชื่อว่าราคามันจะขึ้นไปสูงและยืนอยู่ได้อีกต่อไป ทุกครั้งที่หุ้นขึ้นก็จะมีคนขายทำให้มันตกลงมาที่เดิม 

 ดังนั้น เราอาจจะต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสม ตั้งสมมุติฐานว่านี่คือสงครามยืดเยื้อที่รบกันในสนามเพลาะและเราไม่สามารถเอาชนะได้ง่าย ยุทธศาสตร์ที่สำคัญก็คือ รักษากำลังหรือเม็ดเงินของเราให้ปลอดภัยที่สุด วิธีการก็คือ ลงทุนในหุ้นแข็งแกร่งและจ่ายปันผลงาม กระจายหุ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม นี่ก็คือ “การเล่นหุ้นในสนามเพลาะ” พยายามอย่าให้แพ้ ไม่ต้องเอาชนะ