ทำไมตำรวจ “เกียร์ว่าง”

ทำไมตำรวจ “เกียร์ว่าง”

มีคำถามมามากว่าเหตุใด “ตำรวจ” จึงไม่บังคับใช้กฎหมายที่มักล้อๆ กันว่า “ตำรวจเกียร์ว่างบ้าง หรือ ร้ายกว่านั้นคือ ตำรวจใส่เกียร์ถอยไปเลยก็มี”

จะมีวิธีการอย่างไรให้ตำรวจสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้สมศักดิ์ศรีเป็นที่ยอมรับของประชาชน คำตอบหรือคำแนะนำที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปอาจไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่ต้องการสะท้อนปัญหาหลายๆ อย่างในการบังคับใช้กฎหมายอาญาที่เจ้าหน้าที่จำนวนมากต้องประสบพบเจอไม่เฉพาะเจ้าหนาที่ตำรวจแต่ผู้บังคับใช้กฎหมายส่วนอื่น ๆ น่าจะมีประสบการณ์คล้ายๆ กัน

จริงๆ เรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นปัญหา ซ้ำซาก มีการวิพากษ์วิจารณ์มาหลายครั้งหลายหนแล้ว คือ เรื่องว่าด้วย จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวมของคนในสังคมเรากันเอง ไม่ว่าการละเมิดกฎหมาย ด้วยวิธีการหรือช่องทางต่างๆ เพื่อให้ตัวเองพ้นผิด ถ้าจวนตัวหรือจำเป็นจริงๆ ก็ติดสินบนเจ้าหน้าที่แบบซึ่งๆ หน้า เช่น การเกรงจะโดนโทษเมาแล้วขับจะกระทบต่อชื่อเสียงหน้าที่การงาน ก็หาทางยัดเยียดทรัพย์สินเงินทองให้เจ้าหน้าที่ บางรายที่มีฤทธิ์มาก ก็อวดเบ่งอำนาจหน้าที่ อย่างที่เป็นข่าวทำให้เสื่อมเสียไปถึงองค์กรที่ตนเองสังกัดอย่างน่าละอาย แม้เรื่องเหล่านี้จะแก้ไขได้ยากแต่เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องจัดการแก้ไขให้จงได้เพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นความจริง คือ ภารกิจของตำรวจที่มีกฎหมายซึ่งมีมูลฐานความผิดทางอาญาในการควบคุมดูแลของตำรวจอยู่เป็นจำนวนมาก ผมมีโอกาสลองไล่ๆ ดูอย่างคร่าวๆ ว่ามีอะไรบ้างที่ประชาชนทั่วๆ ไปต้องไปขออนุญาตกับตำรวจ ไม่นับเรื่องการจดแจ้งการพิมพ์ที่เมื่อก่อนต้องขออนุญาตและต้องได้รับอนุมัติจากทางสันติบาล ดีที่วันนี้การอนุญาตไม่อยู่ในหน้าที่ของตำรวจแล้ว

 แต่เป็นการให้เป็นที่รับ จดแจ้ง เพื่อให้รู้สถานะแหล่งที่อยู่ของผู้ต้องการจัดทำวารสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ แต่ในส่วนการขออนุญาตนั้นยังปรากฎว่ามีไปตั้งแต่การขออนุญาตเล่นการพนัน การจุดดอกไม้เพลิง การขออนุญาตแสดงมหรสพชั่วคราว การใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งหลายเรื่องเหล่านี้ไปผูกพันกับเรื่องของสถานบันเทิง สถานบริการในท้องที่ เราเคยคุยกันแล้วว่าอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องต้องขอต้องออกใบอนุญาต (licensing) เป็นช่องทางทำมาหากินให้กับผู้ไม่สุจริตในแวดวงเจ้าหน้าที่ต่างๆ ได้เป็นล่ำเป็นสัน

สิ่งเหล่านี้เป็นช่องโอกาสให้ตำรวจสามารถใช้ ดุลยพินิจ ในการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างอิสระ เพราะปกติเรื่องใครจะให้สินบนใครหรือใครจะรับของของใครมักเป็นเรื่องที่รับรู้กันดีระหว่าง “ผู้รับและผู้ให้” เว้นแต่จะมีคนไปแอบรู้เห็นหรือฝ่ายตรงข้ามรับรู้แล้วนำไปเปิดโปง การใช้ดุลยพินิจในทางมิชอบเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดความเกลียดชังในการทำหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งผมได้เคยกล่าวถึงหลายครั้งแล้วว่า ความสำเร็จของการบังคับใช้กฎหมายจะเกิดขึ้นได้อย่างสัมฤทธิผล หากประชาชนยินยอมพร้อมใจและยอมรับบทบาทหน้าที่ของตำรวจ และเชื่อฟังที่จะอยู่ภายในอาณัติการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (policed by consent)

มีตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายของสถานีตำรวจภูธรจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ที่ผมได้ทำการศึกษาวิจัยในขณะรับทุนวิจัยการแก้ไขปัญหาอุบัติภัยทางถนนอย่างบูรณาการ ด้วยทุนวิจัยของ สสส พบว่าทางตำรวจเองมีการปรับตัวและสามารถบูรณาการความร่วมมือกับภาคประชาชนได้อย่างดียิ่ง สถานีตำรวจภูธรในจังหวัดดังกล่าวได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับมหาวิทยาลัยราชภัฎของจังหวัด ในการแก้ไขปัญหาการละเมิดวินัยจราจรและการไม่สวมใส่หมวกนิรภัย (หมวกกันน๊อก) ของนักศึกษา

วิธีการที่นำมาใช้น่าจะเป็นแนวทางหรือบทเรียนให้กับการบังคับใช้กฎหมายในส่วนอื่นๆ ได้ กล่าวคือ สถานีตำรวจจะไม่มีการจับ ปรับ แต่จะทำหน้าที่ออกใบเตือน (warning) ให้กับผู้ที่ละเมิดกฎหมายซึ่งเป็นนักศึกษาของสถาบันที่ให้ความร่วมมือ โดยสถาบันจะเป็นผู้กำหนดกรอบการลงโทษทางวินัยแก่นักศึกษา ตั้งแต่ภาคทัณฑ์ ตัดคะแนนความประพฤติ หรือถ้าฝ่าฝืนร้ายแรงก็จะลงโทษหนักขึ้นตามโทษานุโทษ วิธีการเช่นนี้ทำให้ได้ประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย ตำรวจเองสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาก็สามารถกวดชันระเบียบวินัยให้กับคนในบังคับคือนิสิตนักศึกษาของตนได้เช่นเดียวกัน

การบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้มิใช่แนะนำหรือกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ซึ่งจะมีความผิดทางกฎหมาย แต่เป็นวิธีการที่น่าจะปรับใช้กับแนวทางการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่อาจไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดหรือหนักข้อในทุกกรณี ซึ่งรังแต่จะสร้างความเกลียดชังและเป็นปรปักษ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชน โดยวิธีการในลักษณะนี้ถ้าเปรียบเทียบด้วยภาษิตโบราณ คือ อยากให้ประชาชนซึมซับการทำหน้าที่ของตำรวจแบบใช้ พระคุณ มากกว่า พระเดช” 

เพราะในบางกรณี เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จากการบังคับใช้กฎหมายบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นก่อหวอดมีการจลาจลในที่ต่าๆ ตัวอย่างในต่างประเทศ กรณีตำรวจทุบตีชายผิวดำ Rodeney King ทำให้ ลอสแองเจลิสปั่นป่วนลุกลามไปถึงการปล้นสดมภ์และเกิดการพิพาทระหว่างคนเกาหลีอพยพกับคนผิวดำกันใหญ่โต หรือแม้แต่เรื่อง อาหรับสปริง ก็เป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและการลุแก้อำนาจของเจ้าหน้าที่ จึงเชื่อว่าหากเราหันหน้าพูดคุยหารือกันอย่างจริงจัง ในอนาคตคำว่า “เกียร์ว่าง” จะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยและจะมีแต่ตำรวจของประชาชน หรือ ตำรวจในฝัน ให้ได้เห็นในเร็ววันจากการขับเคลื่อนของกรรมการปฎิรูปตำรวจร่วมกับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน