คาดการณ์อนาคตเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารยุคไทยแลนด์ 4.0

คาดการณ์อนาคตเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารยุคไทยแลนด์ 4.0

เครื่องมือคาดการณ์อนาคต ที่เรียกว่า Technology Foresight (TF) ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อกวาดหาสัญญาณเทคโนโลยีในอนาคตในระยะ 10 ปีข้างหน้า

ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค สานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และ สานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดทำ รายงานโครงการศึกษาเทคโนโลยียุทธศาสตร์แห่งชาติ ด้วยเครื่องมือคาดการณ์อนาคตและตีพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ กรกฎาคม 2559 (สืบค้นได้จาก http://www.apecforesight.org/index.php/research/49-key-tech-final-report.html)

ทำให้เราได้มองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ของการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการนำประเทศไทยเข้าสู่การเป็น ไทยแลนด์ 4.0

เครื่องมือ TF ส่องกราดให้เห็น 4 สาขาของเทคโนโลยีที่ถือได้ว่า จะเป็นเทคโนโลยีหลักของประเทศไทย ซึ่งได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีวัสดุ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม และ นาโนเทคโนโลยี ซึ่งได้ทยอยนำเสนออย่างต่อเนื่องมาในคอลัมน์นี้ (ดูฉบับย้อนหลังได้ในเว็ปไซต์ของ กรุงเทพธุรกิจ)

เครื่องมือดังกล่าว ยังมีประสิทธิภาพในการเจาะลึกเพื่อบ่งชี้ถึง เทคโนโลยียุทธศาสตร์ ระดับย่อยในแต่ละสาขาของเทคโนโลยีดังกล่าวได้อีกด้วย

สำหรับสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เครื่องมือ TF ถูกนำมาใช้ภายใต้วิธีการเฉพาะที่เรียกว่า การคาดการณ์เทคโนโลยียุทธศาสตร์ (Key Technology Exercise) และให้ผลการคาดการณ์ออกมาว่า เทคโนโลยียุทธศาสตร์ ที่จำเป็นต่อประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า จะได้แก่

อันดับที่ 1 เทคโนโลยี Cybersecurity: emphasize on cryptography เป็นเทคโนโลยีที่จะรวบรวมเครื่องมือ แนวคิด วิธีป้องกัน การบริหารความเสี่ยง และแนวปฏิบัติ ที่จะนำไปสู่การรักษาความปลอดภัยให้กับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงระบบข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูล โดยเน้นไปที่เทคโนโลยีการเข้ารหัสเพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูล การดัดแปลงข้อมูล หรือการทำลายข้อมูล โดยบุคคลที่ 3 หรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง

อันดับที่ 2 เทคโนโลยี Advanced Geographic Information System (GIS) เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับระบบของการจัดเก็บ การจัดการ การวิเคราะห์ และการแสดงผล ของข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ หรือข้อมูลเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์ของโลกแบบอัจฉริยะ

อันดับที่ 3 เทคโนโลยี Electrical Energy Storage เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อการจัดเก็บพลังงานไว้เพื่อการนำออกมาใช้ภายหลังเมื่อต้องการ โดยจะรวมถึงเทคโนโลยีเกี่ยวกับการพัฒนา แบตเตอรี่ และเซลเชื้อเพลิง ที่มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บที่สูงขึ้น

อันดับที่ 4 เทคโนโลยี Smart Sensors: Body area sensor (BAS), Intelligence plaster, Implant sensors เป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับเซ็นเซอร์อัจฉริยะ ที่จะทำหน้าที่ตรวจวัดหรือตรวจจับสัญญาณต่างๆ โดยเฉพาะสัญญาณที่สื่อออกมาทางร่างกาย พลาสเตอร์หรือแผ่นปิดที่ตรวจวัดหรือตรวจจับสัญญาณได้ รวมถึงเซ็นเซอร์ที่ใช้ฝังเข้าไปในร่างกาย

อันดับที่ 5 เทคโนโลยี Big data: emphasize on data visualization and data integration เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาล ที่รวมวิธีการในการนำเข้าข้อมูล การตรวจจับข้อมูล การจัดเก็บ การจัดการ และการประมวลข้อมูลจำนวนมากได้ในเวลาที่รวดเร็ว โดยการหลอมรวมเทคโนโลยีหลากหลายชนิดเข้าด้วยกัน เช่น การทดสอบประสิทธิภาพของแอพพลิเคชั่นเทียบกัน การสืบค้นหาคำตอบจากแหล่งข้อมูลจำนวนมาก (Crowdsourcing) การนำเสนอข้อมูลหรือผลการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปของกราฟฟิคที่เข้าใจได้ง่าย การหลอมรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อให้เกิดเป็นข้อมูลใหม่ที่ตรงกับความต้องการใช้งานได้ดีขึ้น

แม้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ทิศทางการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ก็เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้งานที่หลากหลายและข้ามสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์

เครื่องมือคาดการณ์อนาคต TF เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับตรวจจับหาสัญญาณที่จะบ่งชี้ถึงเทคโนโลยีที่สำคัญและจำเป็นต้องใช้สำหรับอนาคตในระยะกลางและระยะยาว

ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมนำมาใช้งานในประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับการวางแผนงานวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งในระดับบริษัท ระดับประเทศ และสำหรับความร่วมมือในระดับกลุ่มประเทศ