The Upstarts ปี 2017

The Upstarts ปี 2017

ไม่บ่อยนักที่ผมจะมาแนะนำหนังสือที่น่าสนใจในคอลัมน์ ทว่าในครึ่งปีแรกนี้ ผมชอบหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ขอโอกาสมาแชร์กัน

หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า The Upstarts เขียนโดย แบรด สโตน นักข่าวของบลูมเบิร์ก เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการก่อตั้งสองบริษัทที่ถือว่าโด่งดังมากในยุคนี้คือ Uber ก่อตั้งโดย ทราวิส คาลานิค และ เกเรธ แคมป์ กับ Airbnb ที่บุกเบิกโดยไบรอัน เชสกี้ โจ เก็บเบีย และ นาธาน บลีชคาซีค

 

ผมประทับใจผลงานของสโตนมาตั้งแต่หนังสือชีวประวัติของเจฟฟ์ เบซอส เจ้าของ Amazon เมื่อ 4 ปีก่อน ที่เขียนได้แซบมาก ถึงขนาดที่ทีมงานของเบซอสออกมาบอกว่าเนื้อหาที่พูดถึงของเบซอสไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด เนื่องจากสโตนกล่าวถึงด้านมืดของเบซอสไว้ค่อนข้างเยอะพอสมควร หากท่านผู้อ่านเคยอ่านผลงานของวอล์เตอร์ อิแซคสัน ที่เขียนถึงสตีฟ จอบส์ไว้แบบเทาๆ ผมว่าสโตนเขียนถึงเบซอสไว้เทากว่าที่ิอิแซคสันเขียนถึงจอบส์เสียอีก

 

มาถึงหนังสือเล่มล่าสุดของเขากันบ้าง ผมชอบที่สโตนเขียนถึงคาลานิค CEO ของ Uber ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อเดือนที่แล้ว ในแง่ที่ค่อนข้างแฟร์กับเขา สโตนมองว่าแม้คาลานิคจะมีนิสัยที่ชอบใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาของ Uber ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับ Lyft บริษัทคู่แข่งของ Uber หรือการสู้คดีกับทางการในรัฐนิวยอร์ค เกี่ยวกับกฎหมายของแท็กซี่ในแบบของ Uber ทว่าต้องไม่ลืมว่าคาลานิคมีสไตล์การทำงานในรูปแบบที่เกรี้ยวกราดก็เพราะว่าเขาผ่านช่วงเวลาเลวร้ายมาเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความล้มเหลวของ Startup แรกๆที่ถึงขนาดต้องรับภาระหนี้สินเป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งมาร์ค คิวบาน นักลงทุนชื่อดังเข้ามาช่วยร่วมลงทุนในที่สุด

 

มีเกร็ดที่น่าสนใจซึ่งสโตนกล่าวถึงคาลานิคไว้ คือก่อนที่เขาจะตกลงมาทำงานที่ Uber แบบเต็มตัว คาลานิคเคยเดินทางมาประเทศไทยเพื่อพักผ่อนและใช้ร้านกาแฟในกรุงเทพ นั่งวางแผนธุรกิจผ่านโน้ตบุ๊ค ในช่วงเวลานี้ คาลานิคบอกว่าที่เขาเลืือกประเทศไทย เนื่องจากค่าครองชีพที่ไม่แพงมากและตัวเขาเองก็มีสถานภาพทางการเงินที่ไม่ดีนักในช่วงดังกล่าว โดยให้ชื่อของช่วงเวลานั้นของเขาเองว่า ‘Ramen Time’ เนื่องจากเขาต้องกินแต่บะหมี่ราคาประหยัดเพื่อเลี้ยงชีพ

 

หาก Uber เหมือนเป็นฝ่ายบู๊ Airbnb ก็ถือเป็นฝ่ายบุ๊น หันมารู้จัก 3 เกลอที่ก่อตั้งธุรกิจบริการที่พักของนักท่องเที่ยวซึ่ง Airbnb ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่าง Host ของเจ้าของที่พักอาศัยในประเทศต่างๆทั่วโลกกับนักท่องเที่ยวกันบ้าง

 

Airbnb อาศัยความถนัดที่ไม่เหมือนกันของสามเกลอได้อย่างน่าสนใจ ในขณะที่เชสกี้ เป็นนักต่อรองและมีบุคลิกที่เหมาะกับการเจรจาทางธุรกิจและพรีเซนท์ในเวทีต่างๆ เก็บเบียมีลักษณะของผึ้งงานที่คอยเป็นผู้ประสานงานหรือเป็นเบื้องหลังคอยดูแลความเรียบร้อยของบริษัท ส่วนบลีชคาซีคเป็นหนุ่มโย่งสุดเนิร์ดที่คอยเขียนโค้ดให้กับโซอฟต์แวร์ของเว็บ Airbnb เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์และบริการที่ดีจากบริษัท

 

จะว่าไปเส้นทางของ Airbnb ก็มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทั้งสามคนต้องประสบปัญหาหนักหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Hacker ชาวเยอรมันที่สร้างเว็บไซต์เงาเลียนแบบ Airbnb ไว้คอยปั่นป่วนธุรกิจของพวกเขา จนต้องจ้าง Hacker อีกรายในการจัดการกับตัวป่วนดังกล่าว รวมถึงการที่ลูกค้าของบริษัทหลายท่านเกิดปัญหาต่างๆบนที่พักอาศัยของ Host ในหลายประเทศจนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก

 

ผมว่าจุดเด่นหนึ่งของหนังสือของสโตน คือมีรายละเอียดที่น่าสนใจแบบเจาะลึก รวมถึงค่อนข้างแฟร์กับตัวละครที่เป็นตัวเด่นว่ามีทั้งด้านดีและด้านมืด ผมคิดว่าหากใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้ น่าจะเข้าใจและให้กำลังใจทราวิส คาลานิค ผู้ร่วมก่อตั้ง Uber มากขึ้น จะเห็นว่าการเสนอข่าวการลาออกจาก Uber ของคาลานิค ดูเหมือนว่าเขาจะถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาของบริษัท ซึ่งต้องไม่ลืมว่าสตีฟ จอบส์ ครั้งหนึ่งก็เคยถูกมองเช่นนั้น ทว่าก็กลับมากู้วิกฤต Apple ในท้ายที่สุดครับ