จะสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนและสังคมธรรมาธิปไตยได้อย่างไร

จะสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนและสังคมธรรมาธิปไตยได้อย่างไร

รัฐบาลหรือธุรกิจเอกชนบางแห่งกล่าวถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกระแสแฟชั่นบางครั้งกล่าวว่าพวกตนจะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตตลอดไปหรืออย่างยาวนาน

ซึ่งขัดแย้งกับโลกความจริงของระบบนิเวศที่มีข้อจำกัด ว่าเราไม่สามารถผลิต/บริโภคเกินกว่าที่ระบบนิเวศ/ระบบธรรมชาติจะรองรับได้

 

คำว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นหมายถึงว่าเราต้องรักษาระบบเศรษฐกิจสังคมและระบบนิเวศให้อยู่ยาวนานยั่งยืนถึงรุ่นลูกหลาน ดังนั้นจึงต้องเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ไม่ใช่การพัฒนาแบบที่รัฐบาลและธุรกิจเอกชนเน้นการเพิ่มเติบโตของสินค้าและบริการ และอ้างว่าจะทำให้เศรษฐกิจสังคมไทยเติบโตแบบยั่งยืนยาวนานได้ด้วย

 

โครงสร้างเศรษฐกิจและนโยบายการพัฒนาแบบตลาดเสรีหรือทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการหากำไรสูงสุดของภาคเอกชน คือตัวการสร้างปัญหาทั้งความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความขัดแย้ง การเอารัดเอาเปรียบต่างๆ ทำให้สังคมไทยขาดความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาแบบล้างผลาญคือทำลายป่าไม้ ดิน แหล่งน้ำ ความสมดุลระบบนิเวศ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแบบผันผวน เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ บ่อยขึ้นรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้ามการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ในยุโรปเหนือ ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ ฯลฯ ผู้ใช้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างทุนนิยมแข่งขันกับสังคมนิยมประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการ คือกรณีตัวอย่างการจัดการระบบเศรษฐกิจสังคมที่มีลักษณะเสรีประชาธิปไตยแบบก้าวหน้า ลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิต และคำนึงถึงการอนุรักษ์/ฟื้นฟูระบบนิเวศด้วย มีกฎการควบคุมและลดการปล่อยมลภาวะ การเก็บภาษีคาร์บอน และการใช้พลังงานทางเลือก การใช้เทคโนโลยีทางเลือก ฯลฯ ที่ค่อนข้างจริงจังทำให้ประเทศเขาเกิดมลภาวะและปัญหาโลกร้อนลดลง ประชาชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างดีกว่าหลายประเทศ

 

แนวคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สำคัญ เศรษฐศาสตร์แนวระบบนิเวศ เป็นแนวคิดที่แตกต่างจากเศรษฐศาสตร์แนวทุนนิยมอุตสาหกรรมกระแสหลักที่เน้นการเติบโตแบบล้างผลาญโดยสิ้นเชิง เศรษฐศาสตร์แนวระบบนิเวศ เน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพแทนเชิงปริมาณ รักษาการเจริญงอกงามทางเศรษฐกิจให้ก้าวไปอย่างช้าๆ มั่นคง ไม่ผลิตและบริโภคมากจนเกินความสามารถที่จะรองรับและฟื้นตัวได้เองของระบบนิเวศ (ระบบธรรมชาติ/สภาพแวดล้อม) การผลิตการจำหน่ายและการบริโภคเน้นการคำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม คุณภาพชีวิตและความสุขสงบของคนส่วนใหญ่ เช่น ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปริมาณขยะ ลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ต่างจากเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมอุตสาหกรรมกระแสหลักที่เน้นการเพิ่มความเจริญเติบโตของมูลค่าสินค้าและบริการที่หลายอย่างเป็นการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยและมุ่งทำลายระบบนิเวศเพิ่มขึ้น

 

ไทยควรศึกษาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแนวเพื่อความเป็นธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแบบยุโรปเหนือและเศรษฐศาสตร์แนวระบบนิเวศ อาจรวมถึงการผสมผสานเศรษฐศาสตร์แนวพุทธที่เน้นทางสายกลาง การใช้ชีวิตเรียบง่าย ประหยัด แบบพอเพียงเท่าที่จำเป็น ทำดีต่อตัวเองและคนอื่นๆ ในสังคม ลดการเบียดเบียนต่อคนสัตว์และธรรมชาติ ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา

 

โดยเปรียบเทียบสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และเยอรมัน พัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมได้เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง มีดัชนีการพัฒนามนุษย์และคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับสูง เทียบกับที่ประเทศทุนนิยมสุดโต่งอย่างสหรัฐอเมริกาและทุนนิยมพรรคพวกอย่างยุโรปใต้ (กรีก สเปน อิตาลี ฯลฯต้องเผชิญปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาหนี้สินและการชาดความสมดุลทางการคลัง การเงิน และการกระจายการพัฒนาสู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ส่วนประเทศทุนนิยมโดยรัฐหรือกึ่งรัฐ เช่น รัสเซีย จีน ฯลฯ ที่ถึงเศรษฐกิจโดยรวมจะเติบโตได้สูง แต่ยังคงเป็นประเทศมีปัญหาหลายอย่าง รวมทั้งการเอาเปรียบคนและธรรมชาติ การพัฒนาที่ไม่สมดุล ไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้น

 

นอกจากศึกษาแบบอย่างจากยุโรปเหนือแล้ว ไทยอาจใช้แนวทางการสร้างสังคมธรรมาธิปไตย (ธรรม+ประชาธิปไตยในความหมายกว้างให้ครอบคลุมถึงธรรมทั้ง 3 ด้าน คือ 1. ความยุติธรรม 2. การอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติ 3. ธรรมแห่งความถูกต้องดีงาม (ประชาชนมีจริยธรรม ศีลธรรม)

 

การปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีธรรมทั้ง 3 ด้าน ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรม แต่เน้นการแข่งขันอย่างเป็นธรรมมากกว่าการแข่งขันอย่างเสรีแบบทุนใหญ่กินทุนเล็ก เน้นการผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม ลดการทำลายระบบนิเวศ และการจัดสรรทรัพยากร สินค้า บริการ สนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นประชาชนทั้งหมดได้อย่างพอเพียง เน้นการผลิตและบริโภคสิ่งที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ เพื่อคุณภาพชีวิต และคุณภาพของสังคม แทนการมุ่งเพิ่มปริมาณการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการที่เกินจำเป็น หรือฟุ่มเฟือย เพื่อกำไรของนายทุนเอกชนอย่างไม่มีขีดจำกัดของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบสุดโต่ง

 

การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในแนวใหม่นี้ไม่ได้ต่อต้านนักธุรกิจนายทุนหรือคนรวยเป็นการเฉพาะ หากทำไปเพื่อประโยชน์ของสมาชิกทั้งหมดในสังคม รวมทั้งพวกคนรวยและลูกหลานของพวกเขา ที่จะได้มีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกันได้ต่อไปอย่างมีความสงบสุข ปราศจากความขัดแย้งรุนแรง และเป็นสังคมที่มีสภาพแวดล้อมดีน่าอยู่เพิ่มขึ้นด้วย

 

การที่เราจะสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และระบบนิเวศเพื่อบรรลุเป้าหมายธรรมทั้ง 3 ด้านได้ จะต้องหาทางปฏิรูปการศึกษาสื่อและอื่นๆ ช่วยกันทำให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับการศึกษาและข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ ฉลาดทั้งทางปัญญา อารมณ์ และจิตสำนึก มีความรู้เรื่องระบบเศรษฐกิจการเมืองและมีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรประชาชนอย่างกว้างขวางและเข้มแข็ง ภาคประชาชนสามารถเรียกร้อง ผลักดัน ตรวจสอบ ควบคุม ถ่วงดุลทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนได้อย่างมีเหตุผล มีวุฒิภาวะ และสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น

 

(อ่านเพิ่มเติมวิทยากร เชียงกูล ประชาธิปไตย/ธรรมาธิปไตยฯ ในสังศิต พิริยะรังสรรค์ และคณะ สังคมธรรมาธิปไตย วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม 2560 โทร 086-8014737)