อาเซียน: มิตรชิดใกล้ของไทย

อาเซียน: มิตรชิดใกล้ของไทย

ในสัปดาห์ก่อนได้นำเสนอไปแล้ว สำหรับ 10 เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังอยู่ค่อนข้างห่างไกลจากการเป็นเศรษฐกิจลำดับของโลก

เพราะหากวัดจากขนาดของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศแล้ว จากข้อมูลของธนาคารโลก ปี ค.ศ. 2016 หรือ พ.ศ. 2559 ประเทศไทยจะจัดอยู่ในลำดับที่ 26 ของโลกด้วยมูลค่าขนาดเศรษฐกิจ 406,949 ล้านดอลลาร์ และมีขนาดใหญ่ลำดับที่สองของอาเซียนรองจากประเทศอินโดนีเซียที่อยู่ในอันดับที่ 16 ด้วยขนาดของเศรษฐกิจ 932,448 ล้านดอลลาร์

 

หากมองไปในอนาคตแล้ว ด้วยการเติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี จะทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่เติบโตได้สูงเป็นลำดับที่ 3 ของโลก รองลงมาประเทศอินเดีย(เฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี) และจีน ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 6.5 ต่อปี สังเกตได้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอัตราร้อยละ 3.5-4.0 ต่อปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียนและต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น ที่มีคำกล่าวของผู้นำว่าประเทศไทยติดอยู่ในกับดักของการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง ซึ่งมีปัญหามาจากปัจจัยหลายประการ ที่ชัดเจนคือ การขาดเสถียรภาพทางการเมืองที่มีเหตุความไม่สงบในมาต่อเนื่องยาวนานนับสิบปีทำให้การผลักดันนโยบายที่สนับสนุนการเจริญเติบโตขาดความต่อเนื่อง และติดอยู่กับกับดักนโยบายประชานิยมที่สนับสนุนการบริโภคใช้จ่ายที่มากเกินตัวจนทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในระดับร้อยละ 80 ของรายได้ และยังขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เพิ่มศักยภาพการผลิตในระยะยาว

 

แต่นับเป็นความโชคดีประการหนึ่งของประเทศไทยที่มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ที่อยู่ใจกลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีการร่วมมือทางเศรษฐกิจกันมายาวนาน จนกลายเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2516 มีการขยายตัวของประเทศสมาชิก จากกลุ่มอาเซียนเดิม 5 ประเทศ เพิ่มกลุ่มประเทศเพื่อนใหม่ อันได้แก่ ลาว พม่า เวียดนาม และ กัมพูชา และมีการขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นจากมิติ เศรษฐกิจ ไปสู่ความร่วมมือทางด้านสังคมอื่นๆ เพิ่มเติมมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่ประเทศไทยไม่สามารถโดดเดียวด้วยตัวเอง เพราะนับเป็นประเทศเล็ก แต่หากรวมเป็นกลุ่มอาเซียนแล้วจะทำให้อาเซียนมีความสำคัญในทุกมิติ ไม่เฉพาะ เรื่องการค้า แต่รวมไปถึงภาคบริการ นับตั้งแต่การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง

 

ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านอยู่หลายประการ ที่ชัดเจนคือ ในเรื่องแรงงาน ดังที่ปรากฏชัดเจนในเรื่องของแรงงานที่ อัตราการเพิ่มของประชากรในอัตราที่ต่ำ ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ทำให้ขาดแคลนแรงงานในหลายภาคการผลิต นับตั้งแต่ ประมง เกษตร ก่อสร้าง งานบ้าน ฯลฯ ที่ต้องมีการนำเข้าแรงงานทั้งที่ถูกกฏหมายและผิดกฏหมายจำนวนหลายล้านคน จากประเทศ พม่า ลาวและกัมพูชา ที่มีปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ต้องแก้ไขกันอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการขยายการผลิตจากประเทศไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

 

ในอนาคตแล้วด้วยอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี จะทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนมีความสำคัญเพิ่มขึ้น ซึ่งจากประมาณการของศูนย์วิจัย ตะวันออก-ตะวันตก(East-West Centre) จะกลายเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ลำดับ 4 ของโลก ภายในปี ค.ศ. 2050 รองจากเศรษฐกิจ ของ จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา

 

ประชากรของอาเซียนมีขนาด 630 ล้านคนนับว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่เราสามารถส่งออกสินค้าและบริการที่ในปัจจุบันอาเซียนได้เป็นตลาดส่งออกสินค้าในลำดับต้นๆ และที่สำคัญคือ การเติบโตในระดับสูงทำให้มีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้อาเซียนมีความสำคัญและเป็นที่จับตาที่ประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน หรือ สหภาพยุโรป สนใจที่เข้ามาลงทุนทางการค้าและธุรกิจกับอาเซียน ดังนั้นไทยจึงยังคงต้องเน้นสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเป็นลำดับสูงกว่าประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไป