ปฎิรูปตำรวจต้องเริ่มที่ “ตำรวจ”

ปฎิรูปตำรวจต้องเริ่มที่ “ตำรวจ”

ผลงานการจับกุมผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญฆ่า 8 ศพที่จังหวัดกระบี่ โดยการนำของท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา และคณะ มีส่วน

ทำให้ความน่าเชื่อถือและศรัทธาต่อการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ตีกลับขึ้นมาในทางบวกได้ขั้นหนึ่ง แต่ยังมีอีกหลายคดีที่หากตำรวจสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดจริงมาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมกระทั่งส่งผลให้มีการตัดสินลงโทษได้อย่างรวดเร็ว จะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์และการได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนจะทวีคูณขึ้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่ปรัชญาที่ว่า “จะต้องทำให้ประชาชนยินดีที่จะให้ตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายได้อย่างสนิทใจ (policed by consent)”

หลักการข้างต้นไม่ต่างจากสิ่งที่นักกฎหมายหรือนักวิชาการด้านการเมืองการปกครองรู้จักกันดีในแนวคิดว่าด้วยทฤษฎีสัญญาประชาคม นั่นคือ หากคนในรัฐเชื่อถือศรัทธาในตัวผู้นำและผู้นำนั้นเป็นผู้อยู่ในทำนองคลองธรรม ให้ความเป็นธรรมต่อทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน ประชาชนก็พร้อมจะเป็นเกราะกำบังสร้างความชอบธรรมในอำนาจของผู้ปกครองนั้นแต่หากเมื่อใดก็ตามที่ผู้ปกครองใช้อำนาจไปในทางที่ผิดหรือมิชอบรวมทั้งไม่ทำหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิ ความเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อผู้นำหรือถ้าจะเปรียบกับตำรวจ คือ องค์กรตำรวจและบุคลากรย่อมเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้

ผมต้องขอเรียนในเบื้องต้นว่า ความคิดเห็นของผมในที่นี้เป็นความเห็นเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับแนวทางของคณะกรรมการปฎิรูปตำรวจที่ผมร่วมเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย ซึ่งแนวทางหรือวิธีการต่างๆ ที่นำเสนอนี้หากจะเป็นประโยชน์และสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาทำให้การปฎิรูปประสบความสำเร็จได้ก็ยินดียิ่ง

ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีหลายคดีมากที่สังคมจับตามอง และให้ความสนใจในวิธีการทำงานของตำรวจ ยิ่งคดีที่ตำรวจเป็นคู่กรณีทั้งฝ่ายโจทก์หรือจำเลยกระทั่งเป็นผู้เสียหายเองก็ตาม ประชาชนเฝ้าดูการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของตำรวจไม่ต่างกับการเฝ้าติดตามละครหรือการแสดงต่างๆ ทางโทรทัศน์หรือสื่อต่างๆ ในเวลาไพร์มไทม์หรือเวลาที่มีคนติดตามรับชมมากที่สุด ยกตัวอย่างคดีที่มีความคืบหน้าไปค่อนข้างช้ามาก คือ เรื่องเก่าที่เคยนำเสนอซึ่งเป็นไปตามเนื้อหาสาระของข่าวที่ปรากฏ 

มีการกล่าวหาตำรวจว่า คดีที่มีนักธุรกิจขับรถหรูชนตำรวจเสียชีวิต แล้วหลบหนีกระทั่งวันนี้ยังไม่สามารถนำตัวมาดำเนินการให้ต่อเนื่องไปได้ ก็มีการกล่าวหากันว่าทางชั้นอัยการยังดำเนินการต่อไม่ได้เนื่องจากยังไม่มีคำร้องมาจากสถานีตำรวจนครบาลเจ้าของท้องที่ ซึ่งมูลความจริงเป็นอย่างไรไม่อาจทราบได้ 

แต่เมื่อคนอ่านหรือติดตามข่าวนี้ เมื่อรับรู้เช่นนี้แล้ว ย่อมเกิดความท้อแท้และเสื่อมศรัทธาต่อการทำหน้าที่ของตำรวจ แม้ว่าในทางแพ่งทางครอบครัวของผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยาในขั้นหนึ่งไปแล้วก็ตาม แต่ในทางคดีอาญาดูเหมือนจะติดขัดและความเลวร้ายเกิดขึ้นเมื่อจุดเริ่มต้นก่อนจะกลายเป็นคดีมีนัยยะของการทำหน้าที่ของตำรวจบางนายไปในทางไม่สุจริตกระทั่งนายตำรวจผู้นั้นต้องพ้นจากราชการไป

ผมเชื่อมั่นว่าคดีในลักษณะนี้มีอีกหลายคดี บางคดีศาลยกประโยชน์ให้จำเลยด้วยความสงสัยซึ่งในหลักการของคนที่เรียนรู้กฎหมายต่างทราบดีว่า การยกประโยชน์ “ด้วยความสงสัย” มิได้หมายความว่า จำเลยจะเป็นผู้บริสุทธิ์เสมอไป ในบางคดีด้วยการไม่สามารถแสวงหาพยานหลักฐานมามัดตัวผู้ต้องสงสัยได้ ศาลยังมีการสั่งให้จำคุกไว้ในระหว่างรอการอุทธรณ์ฎีกาด้วยซ้ำไป แต่ปรากฏว่าในบางคดีผู้ต้องหาบางรายยังสามารถเข้ารับราชการตำรวจได้อย่างสง่างาม 

ถ้าคิดแบบโลกสวยก็อาจมองได้ว่า สถาบันตำรวจนั้นใจกว้างขวาง พร้อมอ้าแขนรับคนทุกคนเข้าเป็นตำรวจได้อย่างไม่แบ่งชั้นวรรณะ แต่สังคมวันนี้ด้วยข้อมูลข่าวสาร ด้วยคำติฉินนินทา เพราะหลายๆ เรื่องที่มาถึงหูประชาชนก็เล็ดลอดมาจากคนภายในที่เกี่ยวข้องในแต่ละกระบวนการของกระบวนการยุติธรรมกันเอง 

ทำให้ประชาชนวันนี้ถ้าพูดอย่างภาษาชาวบ้าน คือ เขาไม่หูหนวกตาบอด หรือ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกระทั่งไม่ทราบถึง drama หรือการเล่นละครในทางสังคมของใครต่อใครที่ปรากฏให้เห็น แต่เขาอาจไม่อยู่ในวิสัยหรือหน้าที่และอำนาจที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องได้โดยตรง เสียงติฉินนินทาจึงแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ด้วยช่องทางในการสื่อสารวันนี้การแพร่กระจายข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเนื้อหาสาระของข่าวสารนั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้องค์กรตำรวจและบุคลากรที่ดำรงตนอยู่ในกรอบวินัยของการเป็นข้าราชการที่ดีต้องพลอยมัวหมองและถูกสังคมตราหน้าอย่างไม่เป็นธรรม วันนี้เวลาที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาตามกรอบเวลาที่ได้รับมอบหมายมามีค่อนข้างจำกัดมาก ในเรื่องของการโยกย้ายแต่งตั้งและภารกิจของตำรวจที่ต้องมาไตร่ตรองดูว่ามีอะไรสมควรให้ตำรวจดำเนินการตต่อไปหรือต้องโอนย้ายไปให้ผู้ที่ควรรับผิดชอบโดยตรงนั้น 

ผมเองมิได้เกี่ยวข้องกับอนุกรรมการชุดดังกล่าวแต่ได้มีความเห็นเป็นการส่วนตัวว่า หลายหน่วยงานที่เป็นการให้บริการประชาชน และไม่เกี่ยวกับภารกิจของตำรวจในการปราบปรามอาชญากรโดยตรง เช่น การให้บริการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ครูอาจารย์ พวกที่ไปติดตามนักการเมืองหรือไปช่วยราชการ (อย่างประจำ) รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนอื่นๆ ที่เราได้เคยมีการศึกษารวบรวมภาระหน้าที่ไว้ในการศึกษาวิจัยจำนวนมากแล้ว 

สมควรที่จะต้องใช้เวลานี้ในการพิจารณาให้เด็ดขาดไปว่าเราจะต้องเลือกอย่างไร เช่น งานจราจรจะให้ใครดูแล การศึกษาให้เขาอยู่กับ สกอ หรือ งานการรักษาพยาบาลควรให้สาธารณสุขรับผิดชอบไปหรือไม่ ซึ่งได้นำเรียนท่านปลัดกระทรวงการคลังรวมทั้งผู้แทนสำนักงบประมาณและ สำนักงาน กพ เพื่อขอคำแนะนำว่า จะสามารถคงอัตราเดิมและเงินงบประมาณในหมวดเงินเดือนให้ตำรวจไว้เป็นกรณีพิเศษได้หรือไม่ 

เพื่อจะได้ให้ตำรวจสามารถมีกำลังพลเพิ่มเติมมาใช้ในภารกิจของตำรวจและการโยกย้ายข้ามสายงานต้องใช้ระบบคุณธรรมอย่างแท้จริงจะได้เกิดขวัญกำลังใจในการปฎิบัติหน้าที่ทั้งเงินเพิ่มและมีการเติบโตในสายงานได้อย่างมืออาชีพ