เวทีวิชาการกับค่ายทหาร

เวทีวิชาการกับค่ายทหาร

ประเด็นที่มีนักวิชาการสามคนถือป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ ๑๓

(13th International conference on Thai Studies) ที่จ.เชียงใหม่ แล้วถูกข้าราชการฝ่ายปกครองส่งโทรสารรายงานไปยัง “ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ผ่าน ศปก.มท),อธิบดีกรมการปกครอง (ผ่าน ผอ.ศน.มน) “ควรเป็นเรื่องที่สังคมต้องรับรู้และเข้ามาร่วมตัดสินกันล่ะครับ เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถที่จะ “โดน” กันได้ทุกคนและทุกพื้นที่ 

 

ที่สำคัญ หากในสังคมใดก็ตาม “วิชาการ” ไม่สามารถมีที่ได้ สังคมนั้นมืดบอดครับ 

 

ฝ่ายปกครองได้ระบุท้ายจดหมายรายงานนี้ว่าทางจ.เชียงใหม่จะได้เชิญนักวิชาการทั้งสามคนเข้าพบเพื่อชี้แจงและขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป ซึ่งผมไม่สามารถที่จะเข้าใจได้เลยว่าทางฝ่ายปกครองเห็นว่าการกระทำเช่นนี้ผิดได้อย่างไร และจะขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น มีความหมายอย่างไร “การเมือง“ ในความหมายที่ฝ่ายปกครองเชียงใหม่ใช้และคิดอยู่คืออะไร ผมก็ว่าผมอ่านตำราการเมืองมามากมายแต่ไม่สามารถจะเข้าใจความหมายและการกระทำที่ “คับแคบ” แบบนี้ได้จริงๆครับ 

 

เอาล่ะ สมมติว่า “การเมือง” ในความหมายแคบๆแบบที่ฝ่ายปกครองคิดได้นั้น มีความหมายเพียงว่าห้ามพูดหรือแสดงออกอะไรที่กระทบรัฐหรือผู้ครองอำนาจ ก็ยังงงต่อไปว่า การถือป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” กระทบอะไรกับรัฐหรือผู้ครองอำนาจ หากกระทบ/กระทบตรงไหน อย่างไร หรือว่าเกรงกลัวว่าหากปล่อยให้มีส่วนของพื้นที่ทางสังคมบางแห่งวิพากษ์วิจารณ์ทหารได้แล้ว จะทำให้รัฐบาลที่มาจากทหารจะล้มคลืนลงไป 

 

ต้องบอกอย่างเน้นย้ำว่าหากรัฐบาลทหารล้มได้เพราะป้ายประกาศ ก็แสดงถึงความอ่อนแอจนถึงที่สุดของพวกท่าน ไม่ใช่เพราะป้ายหรอกครับ 

 

ดังนั้น จึงมีเหตุผลเดียวที่จะเข้าใจโทรสารฉบับนี้ได้ ก็คือ ฝ่ายปกครองของจ.เชียงใหม่กลัว “ทหาร” จะว่าเอาว่าไม่มีความสามารถในการควบคุมและทำให้เกิด “ความสงบงัน” ในพื้นที่ของตนเอง จึงต้องรีบรายงานและบอกแก่ “นาย “ ว่าท่านไม่ต้องกังวลนะพวกผมจะจัดการทำให้ “เงียบงัน” ให้ได้ในเร็ววัน 

 

ด้วยการเดาว่าเป็นเพราะเหตผลนี้เป็นหลัก ผมจึงต้องบอก/เตือนรัฐบาลทหารว่าควรที่จะสำนึกรู้ไว้ 4 ประการ

 

ประการแรก รัฐบาลกำลังอยู่กับระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพมากขึ้น กรณีปัญหาอันเกิดจากการออกกฎหมายเรื่องรถกะบะในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ปัญหาการออกพระราชกำหนดแรงงานต่างด้าว และการทำงานตามนโยบายมากมายที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จอะไร ก็เพราะระบบราชการในปัจจุบันนี้เสื่อมประสิทธิภาพไปแล้ว ดังนั้น หากรัฐบาลทหารจะตัดสินใจอะไรลงไปควรที่จะปรึกษาหารือคนอื่นๆนอกระบบราชการด้วย ไม่อย่างนั้น ก็ต้อง “หน้าแตก” ไปเรื่อยๆ และผมขอเตือนเอาไว้ว่าหาก “หน้าแตก” บ่อยๆ พวกท่านจะกลายเป็น “ตัวตลก” ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น อำนาจเด็ดขาดจะประคองเอาไว้ไม่ได้นะครับ 

 

ประการที่ 2 ท่ามกลางการใช้อำนาจแบบที่ใช้อยู่ อันได้แก่ ม.44 จะทำให้ระบบราชการเกรงกลัว และความกลัวที่จะต้องรับผิดชอบมีอย่างเข้มข้นมากขึ้น การตัดสินใจจะทำอะไรจึงจะต้องเสนอและทำไปในสิ่งที่คิดว่าคณะรัฐประหารชอบ ระบบราชการปัจจุบันจะไม่มีทางที่จะกล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ควรทำเพื่อประโยชน์ของสังคมหรอกครับ เพราะการริบอำนาจการตัดสินใจ (ที่จริงๆก็มีอยู่น้อยนิด) ไปจากระบบราชการเช่นนี้เอง ยิ่งทำให้พวกท่านได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้เรื่องมากขึ้น น่าแปลกใจที่ 3 ปีที่ครองอำนาจมา พวกท่านยังไม่เข้าใจเรื่องนี้อีก (เฮ้อ) 

 

ประการที่ 3 ผมอยากจะเสนอว่ารัฐบาลและเครือข่ายทหารของพวกท่านควรที่จะเรียนรู้ทาง “วิชาการ” ให้มากขึ้นกว่านี้ พวกทานลองติดต่อไปทางนักวิชาการรัฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญทางด้าน “ว่าด้วยการปกครอง” (On Governmentality) ไปเปิดคอร์สในค่ายทหารหรือในคณะรัฐมนตรี เผื่อว่าพวกท่านจะเข้าใจและมองหาทางได้ว่าพวกท่านจะอยู่ต่อไปจนถึงวันเลือกตั้งได้อย่างไรโดยที่จะทำร้ายผู้คนในสังคมไทยน้อยที่สุด พวกท่านต้องเรียนรู้จากนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น อย่าไปคิดพึ่งนักรัฐศาสตร์รุ่นช่วยเหลือคณะรัฐประหาร รสช. เลยครับ เพราะเชยมากทีเดียว (จริงๆ ประเด็นนี้ไม่อยากบอกหรอกนะ ปล่อยให้พวกท่านเป็นอย่างนี้ มันก็ดีกับสังคมไทยไปอีกอย่างหนึ่ง ฮา ) 

 

ประการที่ 4 ผมเสนอให้ท่านตั้งคณะนักวิชาการอิสระประเมินผลงานและแผนการที่พวกท่านได้ทำมาและจะทำต่อไปในอนาคต (ท่านจะตั้งแบบไม่บอกให้ใครรู้ก็ได้) เพื่อที่ท่านจะได้รู้ถึงความเป็นจริงมากขึ้น และรู้ชัดเจนขึ้นว่าแผนอนาคตที่วางเอาไว้นั้นจะมีผลต่อสังคมไทยอย่างไร เผื่อพวกท่านจะได้ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงแผนอนาคตที่ท่านวางเอาไว้ได้ทันท่วงที 

 

ผมรอดูสถานการณ์อยู่นะครับว่าทางฝ่ายปกครองจ.เชียงใหม่หรือฝ่ายทหารจะเรียกนักวิชาการสามท่านไปชี้แจงและขอร้องไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อไร เพราะอยากจะรู้จริงๆว่าหลักการและเหตุผลที่ฝ่ายปกครอง/ทหารจะใช้วางอยู่บนฐานคิดอะไร

 

ที่พูดเตือนพวกท่านทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นห่วงพวกท่านหรอกนะครับ หากแต่เป็นห่วงสังคมไทยว่าจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร จะเผชิญหน้ากับปัญหาในอนาคตอย่างมีพลังได้หรือไม่ครับ 

 

ขอสันติสุขจงมีในสังคมไทย