เมื่อภาษีกลายเป็นเรื่องแมส ในรายการสตาร์ทอัพพันล้าน

เมื่อภาษีกลายเป็นเรื่องแมส ในรายการสตาร์ทอัพพันล้าน

เมื่อภาษีกลายเป็นเรื่องแมส ในรายการสตาร์ทอัพพันล้าน

“เดอะยูนิคอร์น สตาร์ทอัพพันล้าน” เป็นรายการของ Workpoint ที่ต่อยอดความสำเร็จจาก SME ตีแตก โดยซีรี่ส์นี้โฟกัสไปที่กลุ่มสตาร์ทอัพซึ่งเป็นเทรนด์ธุรกิจที่มาแรงในโลกยุคนี้ ซึ่งผมได้มีโอกาสเข้าแข่งขันในรายการฐานะผู้บริหาร iTAX

หลายคนยังเข้าใจผิดว่า “สตาร์ทอัพ” หมายถึงธุรกิจเล็กๆ ที่เพิ่งตั้งใหม่ ไม่มั่นคง แต่คำจำกัดความในปัจจุบัน หมายถึงธุรกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อสามารถเติบโตและขยายตลาดได้อย่างรวดเร็วผ่านนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ไม่ได้ขึ้นกับขนาดหรือรายได้ของบริษัทแต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถขยายตัวไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว และนำรายได้เข้าประเทศมหาศาล

รายการสตาร์ทอัพพันล้านจะคัดเลือกสตาร์ทอัพที่ดูแล้ว “แมสพอ” ซึ่งก็คือภารกิจหรือบริการของแอป (หรือเทคโนโลยี) นั้น มีความเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ และมีคนใช้งานเยอะเป็นวงกว้างแล้ว โดยรายการจะให้ธุรกิจมาพรีเซนต์เจาะลึกเต็มๆ ตลอด 45 นาที เพื่อให้คนดูในห้องส่งลงคะแนนตัดสินว่าแอปนี้มีประโยชน์กับเขาไหม แอปนี้น่าสนใจพอที่จะ “โหลด” หรือ “ไม่โหลด” และเก็บแอปนี้ไว้ใช้ในเครื่องต่อหรือไม่ โดยทางรายการแบ่งกลุ่มคนดูในห้องส่งที่จะให้คะแนนเราออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้ใหญ่อย่างละเท่ากัน

โดยตอนแรก กลุ่มคนดูที่ผมหนักใจก็คือกลุ่มวัยรุ่นเนี่ยล่ะครับ เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เข้าสู่วัยทำงาน และยังไม่เคยเกี่ยวข้องกับเรื่องภาษี เขาน่าจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวจนอาจไม่ลงคะแนนให้ และรายการนี้ก็สอดแทรกความบันเทิง พร้อมๆ ไปกับสาระให้คนดูรู้สึกย่อยได้ง่าย ผมจึงต้องทำการบ้านอย่างหนักว่า จะนำเสนออย่างไรดีให้เกิดความสนุก สื่อสารกับคนดูได้ง่ายๆ ด้วยความที่ตัวผมเองก็อยู่ในสายวิชาการมาตลอด ไม่ใช่คนเก่งเรื่องมุขตลกสักเท่าไร ถึงจะใจรักกับการปล่อยมุขในวงเพื่อนฝูง แต่เพื่อนๆ ก็จะขำเพราะความแป๊กเสียมากกว่า

ก่อนขึ้นเวทีไม่กี่วัน ผมได้มีโอกาสคุยกับพี่เก่ง ไกรวิทย์ กุลวัฒนโนทัย นักพูดมือหนึ่งด้านการละลายพฤติกรรม ผู้ถือเป็นอาจารย์สอนให้ผมรู้จักการแปลพวกทฤษฎียากๆ ให้ออกมาฟังง่าย และเข้าถึงคนในวงกว้างมากขึ้น ผมก็ถามพี่เก่งว่า เวลาพี่ได้ยินคำว่าภาษีพี่นึกถึงอะไร? พี่แกตอบทันทีว่า “เห็นภาษีแล้วเหมือนเห็นผี เพราะคนกลัวกันโดยไม่มีเหตุผล” เท่านั้นล่ะ ไอเดียและเรื่องราวในการนำเสนอต่างๆ ก็พรั่งพรูขึ้นมาในการสนทนานั้น

พอเริ่มรายการ ผมเปิดด้วยคำพูดที่ว่า “ภาษีก็เหมือนกับ… ผีครับ” ปรากฏว่าคนหัวเราะกันทั้งห้องส่ง การเปิดใจรับฟังเรื่องยากๆ อย่างเรื่องภาษี ก็เริ่มต้นขึ้น และใจความสำคัญที่ผมสื่อสารไปหาทุกคนได้สำเร็จในวันนั้นก็คือ

1. ภาษีเป็นเรื่องใกล้ตัว เกี่ยวข้องกับทุกคน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม อย่ากลัวที่จะทำความเข้าใจ และเอาให้อยู่

2. ใครคิดหนีภาษี ถ้าไม่รักชาติก็ขอให้รักตัวเอง เพราะถ้าโดนจับจะต้องจ่ายภาษีย้อนหลังพร้อมเบี้ยปรับ รวมๆ กันแล้วอาจเป็นจำนวนหลายเท่าของภาษีเดิมที่ต้องเสีย

3. การวางแผนภาษีมีเทคนิคมากมาย เสียน้อยลงเท่ากับทำให้มีเงินเพิ่มขึ้นในกระเป๋า ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ หลายประเภท

4. การวางแผนให้เสียภาษีน้อย (อย่างถูกกฎหมาย) ไม่ใช่เรื่องไม่ดี เพราะภาครัฐให้การสนับสนุนอยู่แล้ว ซึ่งกลับยิ่งเป็นการทำให้เม็ดเงินกระจายไปพัฒนาภาคส่วนต่างๆ ตามนโยบายของรัฐ

5. หากไม่มั่นใจว่าสามารถศึกษาได้เข้าใจ หรือไม่มีเวลามากพอ ใช้ที่ปรึกษาภาษีมืออาชีพช่วย อาจคุ้มค่ากับภาษีที่ลดลงได้มากกว่า

หลังจากพรีเซนต์เสร็จ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ iTAX มีผู้ชมในห้องส่งโหลดเกือบทุกคน มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่ไม่โหลด ทำสถิติมากที่สุดในรายการ จนทำให้วันนี้ (วันที่เขียนบทความนี้) iTAX ยังคงเป็นที่หนึ่งของตารางการแข่งขันที่ผ่านไปแล้วครึ่งซีซั่น และแอป iTAX ก็ขึ้นเป็นอันดับ 1 ที่ถูกค้นหามากที่สุดบน App Store ในวันออกอากาศ

จากที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่า เรื่องภาษีจะทำให้ “แมส" ได้มากขนาดนี้ โดยเฉพาะการที่ฝั่งวัยรุ่นโหลดกันเกือบทุกคน ทำให้ผมดีใจที่คนรุ่นใหม่กลับสนใจเรื่องภาษีและเห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับความเจริญของชาติ ตั้งแต่ยังไม่เริ่มชีวิตการทำงานเสียด้วยซ้ำ

ผมเชื่อว่าในวันนั้นพี่ๆ ฝั่งผู้ใหญ่ กรรมการ ทีมงาน และผู้ชมทางบ้านทุกคนน่าจะได้เห็นสิ่งเดียวกัน

เราทุกคนได้เห็น “อนาคตของชาติ”