เศรษฐกิจไม่ใช่ไม่โต มันแค่โตอีกที่ต่างหาก

เศรษฐกิจไม่ใช่ไม่โต มันแค่โตอีกที่ต่างหาก

เศรษฐกิจไม่ใช่ไม่โต มันแค่โตอีกที่ต่างหาก

ถ้าพูดถึงดอกเบี้ยขาขึ้น เมื่อ 2-3 ปีก่อน นักลงทุนในตลาดน่าจะจินตนาการกันไม่ออกว่า นอกจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด แล้ว จะมีธนาคารกลางไหนที่สามารถขยับขึ้นดอกเบี้ยตามไปได้อีก

สาเหตุหลักๆ ก็มาจากการที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ในระดับที่ต่ำมาต่อเนื่อง หลังจากวิกฤซับไพรม์ปี 2551 การแข่งกันทำให้ค่าเงินประเทศตัวเองอ่อนค่า เพื่อกระตุ้นการส่งออก โครงการประชากรโลกที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผู้ใช้แรงงานลดลง รวมถึงการเกิดขึ้นของ Disruptive Technology ที่มาค่อยแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค

โดยมุมมองส่วนตัวของผมแล้ว เจ้า Disruptive Technology นี่ น่าสนใจครับ เพราะ ผมเชื่อว่า มันเป็นเทคโนโลยี ที่เกิดจากบริษัทขนาดกลางขนาดเล็ก หรือคนที่มีไอเดียอะไร ก็สามารถกระโดดลงมาช่วยแก้ปัญหาให้กับสังคมได้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ Uber แก้ปัญหาการเรียกแท็กซี่ของคนเมือง ทั้งนี้ Disruptive Technology ที่แก้ปัญหาได้จริง และมีผู้ใช้ในวงกว้าง จะทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่คนอีกกลุ่มหนึ่งของสังคมมากขึ้น

ลองนึกภาพ การผูกขาดของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งในอดีต จะด้วยเพราะกฎหมาย หรือเพราะมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่มาวันหนึ่ง กฎหมายเปลี่ยนแปลง ผ่อนปรนมากขึ้น หรือ ใครก็เข้าถึงเทคโนโลยีนี้ หรือ เกิดเทคโนโลยีใหม่ที่ตอบโจทย์มากกว่าเดิม แน่นอนว่า จากบริษัทที่เคยกำไร รายได้เคยเติบโต อย่างน้อยๆ ก็ต้องสูญเสีย Market Share รายได้ลดลงบ้างไม่มากก็น้อยละครับ

แต่ถ้ามองในภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะ Disruptive Technology มันมาแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคจำนวนไม่ได้เพิ่มขึ้น และเพื่อให้แข่งขันกับเจ้าเก่าๆได้ด้วย ... เราจึงเห็นเทคโนโลยีเหล่านี้ มีต้นทุนที่ต่ำกว่าธุรกิจเดิม และเรียกเก็บค่าบริการ ให้อัตราที่ถูกลงจากเดิม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมย้ายมาใช้บริการของเหล่า Tech Startup เหล่านี้มากตามไปด้วยนั่นเอง ดังนั้น ในแง่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกในภาพใหญ่ จริงๆ แล้วยังคึกคักครับ ผู้คนยังเลือกหาบริการและใช้สินค้ากันอยู่ไม่ต่างไปจากเดิม เพียงแต่ย้ายที่ควักเงินออกจากกระเป๋าเท่านั้นเองครับ

เพราะเหตุนี้เอง ตัวเลขเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจึงอยู่ในระดับต่ำ อย่างที่เราเรียกกันว่า “New Normal”

อย่างที่บอกครับ ผมมองว่า Disruptive Technology ทำให้เกิดการกระจายรายได้ในวงกว้างขึ้น จากเดิมโครงสร้างประชากร มีใครคนหนึ่งเคยนิยามว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” และการก้าวข้ามความจน ไปหาความรวย มันมีกำแพงสูงหลายเมตรที่ต้องใช้ความพยายามสูง แต่วันนี้มันต่างไปจากเดิมพอสมควร ดังนั้น Disruptive Technology จึงทำให้เกิดชนชั้นกลางใหม่ ซึ่งจะเป้นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 10-20 ปีข้างหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย (ในแง่ของนวัตกรรม)

สัญญาที่ชี้ชัดว่า โลกเราไม่น่าจะเผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจในเร็ววันก็คือ ทุกคนยังกังวลว่าจะเกิดวิฤต ในขณะที่ ความผันผวนของตลาดทุน ณ ปัจจุบัน อยู่ในระดับต่ำ สาเหตุที่ความผันผวนอยู่ในระดับต่ำ ก็เพราะ Surprise ในแง่ของตัวเลขเศรษฐกิจโลกลดลงเป็นอย่างมาก และหลังวิกฤตซับไพรม์เป็นต้นมา หลายประเทศมีวินัยในการเงินการคลัง ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง

เมื่อเป็นแบบนี้ เราก็น่าจะเริ่มเห็นแนวโมอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ที่ไม่ได้เกิดแค่กับสหรัฐฯ แต่เกิดกับหลายๆประเทศในโลกนะครับ

วันที่ 19-20 ก.ค. นี้ จะมีการประชุม BOJ และ ECB นักวิเคราะห์เริ่มคาดการณ์กันว่า ECB น่าจะส่งสัญญาณลดขนาดวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ พร้อมอาจพิจารณาปรับขึ้น Deposit Rate ภายในปีนี้ หลังนายมาริโอ ดรากิ แสดงความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของยูโรโซนเพิ่มขึ้น

ดังนั้น อย่าไปคิดนะครับว่า เศรษฐกิจไม่ดี ดอกเบี้ยขึ้นไม่ได้ ดูในภาพรวมๆแล้วเศรษฐกิจอาจไม่ได้แย่ มันแค่ไปโตในที่ๆใหม่ต่างหาก ดังนั้น โอกาสในการลงทุนยังเปิดกว้างครับ