ผึ้งน้อยเบเกอรี่:สร้างสุขในองค์กร เอาจริงเรื่องวินัยการเงิน

ผึ้งน้อยเบเกอรี่:สร้างสุขในองค์กร เอาจริงเรื่องวินัยการเงิน

ชวนติดตามกันต่อ ถึงแนวทางในการดูแลพนักงานให้มีความสุข ของบริษัทผึ้งน้อย เบเกอรี่ บริษัทผู้ผลิตและส่งมอบขนม เบเกอรี่

ทั่วภาคเหนือก 42 สาขา ซึ่งในคราวนี้ผู้เขียนมีโอกาสได้คุยกับ คุณรัตนา ปาละพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ และเป็น ทายาทรุ่นที่ 2 ทำให้ทราบว่าจุดเริ่มต้นของการสร้างสุขในพนักงาน นั้นมาพร้อมกับการก่อตั้งเบเกอรี่ผึ้งน้อย นั่นคือ จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาของคุณแม่ผ่องพรรณ ปาละพงศ์ ผู้ก่อตั้ง และเป็นกรรมการผู้จัดการและคุณพ่อรัตน์ ปาละพงศ์ ประธานบริษัท และรองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแม้วันนี้ไม่ได้ลงมือทำขนมด้วยตนเองแล้ว แต่ก็ทำหน้าที่บริหารงาน และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพนักงานทุกคน ตลอดจนถ่ายทอดแนวปฏิบัติ การสืบสานวัฒนธรรม การสอนวิธีทำงาน อย่างมีวินัย ตรงเวลา ทำงานเป็นทีม และมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

คุณแม่เคยเป็นผู้ควบคุมลูกเสือชาวบ้าน ท่านก็จะใช้แนวทางของลูกเสือชาวบ้านมาใช้ในการปลูกฝังวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันและการทำงาน เช่นเพลงประจำบริษัท ก็จะเป็นเพลงลูกเสือชาวบ้านที่สื่อถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันที่ทุกคนจะต้องรู้จักหน้าที่ และมีความตรงต่อเวลา นั่นคือในหมู่ผึ้งน้อยที่มาร่วมอยู่ ต่างคนต่างรู้หน้าที่กันดีทุกอย่างเมื่อมีการประชุมพนักงานกัน ทุกคนก็จะร้องเพลง ตรงต่อเวลา พวกเราต้องมาให้ตรงเวลาท่านยังเป็นแบบอย่างของความเรียบง่าย โดยท่านจะทักทายทุกคน และทุกคนก็สามารถเข้าถึงท่านได้ โดยสรรพนามที่พนักงานใช้ทักทายท่านก็เหมือนพูดคุยทั่วๆไป ว่า คุณป้า

ที่ผึ้งน้อย เบเกอรี่ ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานกว่า 700 คน คุณรัตนาเล่าว่า บริษัทฯจะให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพนักงาน ซึ่งเมื่อเจ็บป่วยจะต้องให้การดูแลอย่างรวดเร็วทันท่วงที 

อย่างพนักงานบางคนเจ็บป่วยขึ้นมาหรือไม่สบาย เราก็จะนำเขาส่งโรงพยาบาลก่อนเลย โดยมอบหมายให้หัวหน้างานตามไปดูแลด้วย หลังจากนั้นฝ่ายบุคคลจึงค่อยมาทำเรื่องเอกสาร ข้อมูลประกันสังคม เราใส่ใจว่าชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร มากกว่า จะตามหาในเบื้องแรกว่า เขาอยู่ในระบบประกันสังคมหรือยัง เพราะ เรื่องชีวิต มันรอแบบนั้นไม่ได้

ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ความต้องการวัตถุ สิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งคุณรัตนา ยอมรับน่าห่วง เพราะความต้องการวัตถุเหล่านี้จะทำให้พนักงานมีปัญหาทางการเงินตามมา บริษัทจึงเอาจริงเอาจัง เรื่องการสร้างวินัยทางการเงินให้พนักงาน ซึ่งหลายปีมานี้พบว่าได้ผล 

เรากำหนดไว้เลยว่า พนักงานที่ผ่านทดลองงานแล้ว จะต้องมีการสะสมเงิน แต่ก่อนเราไม่ได้บังคับแต่เดี๋ยวนี้เราเห็นถึงความสำคัญมาก โดยเริ่มจากเดือนละ100บาท คนที่มีปัญหา มีวินัยดี อยากกู้เงิน ก็จะใช้เงินจากตรงนี้ไปได้เลย อย่างไรก็ตามการทำเรื่องนี้ ต้องมีการทำงานเป็นระบบเป็นทีม และต่อเนื่อง โดยเราต้องให้หัวหน้างานเข้าไปใกล้ชิดกับพนักงาน เพราะบางคนมีปัญหาอะไรจะไม่กล้าบอก ในบางรายเราก็เข้าไปคุยกับพ่อแม่ และครอบครัวของเขาเลย ร่วมกันแก้ไปปัญหาไปด้วยกัน

ในการสร้างสุขพนักงานนั้น คุณรัตนา เล่าว่า บริษัทยังให้ความสำคัญในเรื่องสวัสดิการ ซึ่งนอกเหนือจากการดูแลในส่วนของงานบุคคลแล้ว ก็มีการสร้างรายได้มาเป็นสวัสดิการ ด้วยการสอนการคัดแยกขยะ การช่วยกันประหยัดพลังงาน โดยนำเรื่องนี้มาบรรจุในโปรแกรมการปฐมนิเทศเลย ซึ่งในแต่ละเดือนขยะที่คัดแยกแล้วขายได้ ก็จะเป็นรายได้ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนสวัดิการอื่นๆ เช่นเช่นมุงหลังคาที่จอดรถให้พนักงานเพิ่ม 

สำหรับร้านเบเกอรี่ ซึ่งต้องอาศัย คนเป็นหลักในการผลิต คุณรัตนา ได้ฝากข้อคิดและความสำคัญในการสร้างสุขให้พนักงาน ไว้ว่า “ถ้าเขามีชีวิตที่ดี มี ครอบครัวของเขามีความสุขมันก็จะมีผลต่อเนื่องไปยังต่อการทำงาน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้พนักงานมีชีวิตที่ดี นี่คือเป้าหมาย ที่เราจะต้องทำต่อเนื่อง แม้ได้ได้ 100% ก็ต้องเชื่อมั่นว่าจะดีขึ้นโดยเฉพาะเรื่อง Happy Money ที่แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัว บริษัทก็ต้องหาทางแก้ไข เพราะผลกระทบนั้นกว้างทีเดียว”

ผู้อ่านที่สนใจเรื่องราวของผึ้งน้อยเบเกอรี่ สามารถเข้าไปรู้จักพวกเขาได้ที่ www.phungnoibakery.com