คุมสินเชื่อบัตรเครดิต สกัดจุดอ่อนใช้จ่ายเกินตัว

คุมสินเชื่อบัตรเครดิต สกัดจุดอ่อนใช้จ่ายเกินตัว

การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังดำเนินการวางแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน

 ด้วยการเตรียมออกประกาศเกณฑ์ การปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลใหม่ โดยจะจำกัดวงเงินสินเชื่อ จากเดิมที่เคยปล่อยสูงถึง 5 เท่าของฐานเงินเดือน เปลี่ยนเป็นขั้นบันไดตั้งแต่ 1.5-5 เท่า ตามฐานเงินเดือนของผู้ขอสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้เสียในระบบเกิดขึ้น ตามเกณฑ์ใหม่ได้จำกัดให้ผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 -30,000 บาท จะได้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1.5 เท่าของฐานเงินเดือน ส่วนผู้ที่มีเงินเดือน 30,000-50,000 บาท จะได้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 3 เท่า ส่วนผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป จะได้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 เท่า เชื่อว่าการปรับเกณฑ์ใหม่แบบนี้ จะช่วยให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนชะลอตัวลงได้ สามารถป้องกันไม่ให้คนที่มีรายได้น้อยใช้จ่ายเกินตัว

ประกาศเกณฑ์ใหม่เพื่อควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล  โดยเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อรายได้ลดลง ถือเป็นแนวทางที่ดีและเป็นประโยชน์กับสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ อย่างน้อยก็จะช่วยสร้างวินัยทางการเงินของผู้เริ่มต้นประกอบอาชีพที่จะดำเนินชีวิตในอนาคต เพื่อไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้นอีก ไม่ใช่มีวงเงินสินเชื่อจ่ายไป แล้วไม่มีความสามารถในการชำระคืน หากเป็นอย่างนี้เท่ากับว่า เป็นการสร้างปัญหาชีวิตที่แก้ไม่ตกในวันข้างหน้าได้

เราเชื่อว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อใหม่ คงจะมีระยะเวลาให้ปรับตัวได้ น่าจะมีการแนะนำประชาชนถึงการก่อหนี้ต้องสัมพันธ์กับรายได้ ฉะนั้นหนี้ต้องมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 40 ของรายได้ หากมีสัดส่วนหนี้มากกว่านี้ ผลที่ตามมา จะทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย แม้ตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตจะยังมีขนาดไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับตลาดสินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมก็ตาม แต่จำนวนการเป็นหนี้ นับวันจะเพิ่มขึ้น

การปรับเปลี่ยนเกณฑ์เพดานการปล่อยเงินกู้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เชื่อว่าเป็นแนวทางที่หลายๆ หน่วยงานให้การสนับสนุนเต็มที่กับมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะจะเป็นการสร้างวินัยทางการเงิน ไม่ให้เกิดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มีการใช้จ่ายเกินตัวของผู้คนในสังคมนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญน่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาว เรายังเชื่อว่า จะไม่มีผลกระทบต่อสถาบันการเงิน ประชาชนจะมีการวิเคราะห์การใช้จ่ายไปในทางที่ดีมากขึ้น

เราขอสนับสนุนการออกประกาศเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลให้ได้ผลในทางปฎิบัติอย่างจริงจัง  หากเป็นไปได้ก็ควรที่จะจำกัดการถือบัตรเครดิตด้วย เพราะการถือบัตรเครดิตหลายๆ ใบ สาเหตุของการก่อหนี้แทบทั้งสิ้น ฉะนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรจะจำกัดจำนวนการถือบัตรเครดิต แต่ละคนควรจะถือบัตรเครดิตได้กี่ใบ ปัจจุบันเราจะเห็นว่าปัญหานี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตด้วย ยิ่งคนรุ่นใหม่สมัยนี้น้อยคนที่จะไม่มีบัตรเครดิตติดตัว อยู่ที่ว่าจะมีคนละกี่ใบมากกว่า เมื่อมีบัตรเครดิตติดตัวส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายเกินตัว ใช้เงินเกินกว่าที่เงินเดือนตัวเองมีอยู่ ประเภทก่อหนี้ล่วงหน้าทั้งสิ้น

 ส่วนข้อกังวลหากมีการควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล จะเป็นตัวเร่งทำให้ประชาชนหันไปกู้เงินนอกระบบมากขึ้น สิ่งเหล่านี้คงเป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องหันมาดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย และเครื่องมือของรัฐบาลที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และนาโนไฟแนนซ์มากขึ้น หากภาครัฐมีการจัดการตรงนี้ได้ดี การที่ประชาชนหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบน่าจะลดลงได้