ทำความรู้จัก SIB พันธบัตรน้องใหม่ ช่วยพัฒนา SMEs ไทย

ทำความรู้จัก SIB พันธบัตรน้องใหม่ ช่วยพัฒนา SMEs ไทย

SIB (Social Impact Bond) คือ การลงทุนของภาคเอกชนในพันธบัตร เพื่อนำรายได้ไปใช้ในกิจกรรมพัฒนาสังคม แทนกิจการเชิงพาณิชย์ที่เราคุ้นเคย

 โดยรัฐบาลผูกพันที่จะจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ลงทุน เมื่อกิจกรรมหรือโครงการถูกประเมินว่าสำเร็จตามเป้าหมาย

แนวคิด SIB เป็นเรื่องใหม่เกิดขึ้นมาได้ประมาณ 6-7 ปี เป็นที่รู้จักในหลายชื่อ เช่น “Social Benefit Bond” “Social Bond” “Pay for Success Bond” เป็นต้น SIB เกิดขึ้นครั้งแรก ในปี 2553 ที่สหราชอาณาจักร ภายใต้โครงการ the Peterborough ของเอกชน เป็นโครงการฟื้นฟูความประพฤติผู้พ้นโทษ เช่น การฝึกอาชีพ การจัดหางาน และการรักษาพยายาล เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนก็ต่อเมื่ออัตราการกลับเข้าเรือนจำหรือการทำผิดซ้ำของนักโทษลดลงได้ตามเป้า

แนวคิดนี้ถูกนำไปพัฒนาและปรับใช้ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เยอรมนี และสหรัฐ ในหลายรูปแบบ ทั้งการพัฒนาเยาวชน การศึกษา การดูแลคนไร้บ้าน และการฟื้นฟูสุขภาพ ปัจจุบันมี SIB เกิดขึ้นทั่วโลกแล้วประมาณ 60 โครงการ ใน 15 ประเทศ

เสน่ห์ของ SIB อยู่ที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนในการจัดหาบริการเพื่อสังคมแทนภาครัฐ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นสถานการณ์ “วิน-วิน” หรือที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ รัฐได้ประโยชน์อย่างชัดเจนจากการที่ไม่ต้องลงทุนในการจัดหาบริการสังคมดังกล่าว ไม่ต้องรับผิดชอบหากการดำเนินการล้มเหลวหรือไม่เป็นไปตามเป้า สำหรับภาคเอกชน อาจต้องรับภาระทั้งต้นทุนและความเสี่ยง หากแต่ว่าโครงการ SIB เป็นแนวคิดในการพัฒนาสังคมที่แปลกใหม่ ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี มีผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีจิตอาสาที่มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้บรรลุความสำเร็จแล้ว โครงการ SIB จะเป็นประโยชน์มากกว่าการใช้เงินในการทำ CSR หรือในการบริจาคการกุศลที่ไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน

โดยทั่วไปแล้ว นอกจากผู้ลงทุนจะพร้อมซื้อพันธบัตรและรัฐพร้อมจะให้ค่าตอบแทนตามผลงานแล้ว โครงการ SIB จำเป็นต้องมีองค์กรตัวกลาง (Intermediary) ทำหน้าที่บริหารจัดการเงินกองทุน และมีผู้ให้บริการทางสังคม (Social service provider) รับผิดชอบจัดกิจกรรมเพื่อสังคม ที่เมื่อดำเนินการจัดกิจกรรมและได้รับการประเมินว่าประสบความสำเร็จตามที่ตกลงกันไว้ ภาครัฐก็จะจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินต้นพร้อมผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ศึกษากรณีการลงทุนในพันธบัตรเพื่อพัฒนาผลิตภาพ SMEs เนื่องจาก SMEs ถือเป็นฐานรากสำคัญของระบบเศรษฐกิจ มีสัดส่วนมากกว่า 90% ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด และยังเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญอีกด้วย จากการศึกษาพบว่า ในปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดดำเนินการ SIB ในกิจกรรมส่งเสริม SMEs อย่างเป็นรูปธรรมเช่นเดียวกับในสาขาอื่นๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา

ทั้งนี้อาจเพราะเห็นว่า การส่งเสริม SMEs เป็นภารกิจของภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าประเด็นทางสังคม อย่างไรก็ดี การศึกษาพบว่า ภาคเอกชนมีโครงการส่งเสริม SMEs ที่อาจนำมาต่อยอดเป็น SIB ได้

เช่น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีโครงการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน ซึ่งช่วยให้คำปรึกษาและฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับช่องทางและวิธีการเพิ่มรายได้จากการทำนา และมีเป้าชัดเจนว่าจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อไร่ หรือโครงการหนึ่งบริษัท ดูแล 1 ชุมชน และโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์

ส่วนองค์กรเอกชนอื่นๆ ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีกิจกรรมฝึกอบรมและพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ และการรับรองสถานภาพของ SMEs ในการพิจารณาสินเชื่อหรือได้รับสิทธิส่งเสริม (Certification) โครงการเหล่านี้สะท้อนว่า ภาคเอกชนมีศักยภาพในการเป็น Social service provider

 อย่างไรก็ตาม การดำเนินกิจกรรมส่งเสริม SMEs ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ผ่านมายังขาดการติดตามประเมินผลความสำเร็จโครงการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งหากสามารถพัฒนาระบบการประเมินผลที่ดี ก็มีโอกาสที่จะต่อยอดไปเป็น SIB ได้

ในขั้นต้น ภาครัฐอาจสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในกิจกรรมส่งเสริม SME โดยผูกพันที่จะให้การชดเชยค่าดำเนินการขั้นต่ำก่อน เพื่อจำกัดความเสี่ยงของเอกชน และหากโครงการสำเร็จตามเป้าที่กำหนดร่วมกันไว้จึงจะจ่ายเงินเพิ่ม (Incentive pay)

รูปแบบดังกล่าวเป็นการ “จ้างเอกชน” บริหารจัดการกิจกรรมส่งเสริม SMEs ภายใต้ระบบการจ่ายตามผลงาน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ เนื่องจากภาคเอกชน เช่น หอการค้าจังหวัดหรือสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมีจุดแข็งที่สำคัญ คือ มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจ “รู้จัก” “คุ้นเคย” และ “รู้ความต้องการของ SMEs” ในพื้นที่มากกว่าหน่วยงานส่วนกลางของภาครัฐ หากแต่ยังขาดงบประมาณในการดำเนินการ

ในระยะกลางเมื่อมีตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จชัดเจน ภาคเอกชนสามารถประเมินความเสี่ยงได้แม่นยำ เช่น หากหอการค้าไทยมีการจัดเก็บสถิติที่บ่งบอกได้ว่าเกษตรกรสามารถทำรายได้ไร่ละไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท หลังจากที่ได้รับการฝึกอบรมมีจำนวนและสัดส่วนเท่าไรของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด เป็นไปตามเป้าหรือไม่ จะสามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะลงทุนในโครงการดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขการให้ค่าตอบแทนตามที่รัฐเสนอให้หรือไม่ 

ต่อมาในระยะยาวสามารถพัฒนาเป็น SIB ได้ โดยมีการระดมทุนในรูปแบบของพันธบัตรเพื่อนำเงินมาขยายโครงการดังกล่าว โดยมีหน่วยงานทำหน้าที่เป็นองค์กรตัวกลางเข้ามาบริหารจัดการเงินกองทุนที่ระดมมาได้

SIB เพื่อพัฒนาผลิตภาพ SMEs นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ และเหมาะนำมาปรับใช้ในสังคมไทย เพราะภาครัฐจะได้ประโยชน์จากการประหยัดงบประมาณ กำลังคน ในการจัดทำโครงการต่างๆ ด้านผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทน ผู้ให้บริการทางสังคมก็มีแหล่งเงินทุน และผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพ

หากทุกฝ่ายร่วมกันทำอย่างมุ่งมั่นย่อมประสบความสำเร็จซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ