สมาคมนักวิชาชีพ : ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

สมาคมนักวิชาชีพ : ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

ประจักษ์ชัดอีกครั้งหนึ่งว่า สังคมไทยเราทั้งในสภาวะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

มีรัฐสภาตามกระบวนการประชาธิปไตย และทั้งในสภาวะที่รัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไร้กลไกทางรัฐสภาตามกระบวนการประชาธิปไตย การตรวจสอบต่อรองถ่วงดุลอำนาจอย่างเปิดเผยโปร่งใส โดยกลุ่มนักวิชาชีพมีจิตสำนึกต้องการรักษาความถูกต้องมาตรฐานวิชาชีพ และเพื่อประโยชน์ของสังคมประเทศชาติ ด้วยการแสดงเหตุผลข้อมูลข้อเท็จจริงในช่องทางถูกกฎหมาย สามารถกระทำได้ไม่ถูกปิดกั้นขัดขวาง

ดังเช่นเมื่อ 21 มิ.ย.นักวิชาชีพสถาปนิกและวิศวกรรมในนามสภาสถาปนิกและสภาวิศวกร ได้ออกแถลงการณ์ร่วม กรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพ การดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา

 แถลงการณ์ให้ความกระจ่างชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงแก่สาธารณชน ในการที่รัฐบาลโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศใช้ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในโครงการดังกล่าว ที่จะส่งผลให้วิศวกรและนิติบุคคลของจีนได้รับการยกเว้นใบอนุญาต ซึ่งสภาวิชาชีพทั้งสองสภาเห็นว่าเพื่อเป็นการรักษามาตรฐาน ความถูกต้องในวิชาชีพที่ต้องเคารพชีวิตคน และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติจึงได้แสดงต่อสาธารณชน ข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเกี่ยวกับข้อตกลงที่รัฐบาลได้ทำกับจีน ไว้แล้วนั้นมีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้

- การเปิดช่องให้วิศวกรจีนทำงานในไทยได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตนั้น ให้ครอบคลุมเฉพาะการออกแบบและที่ปรึกษา ควบคุมการก่อสร้างแต่ไม่ได้รวมถึงการก่อสร้าง

- วิศวกรที่จะเข้ามาทำงานในไทยตามโครงการนี้ จะต้องผ่านการอบรมและเข้ารับการทดสอบทั้งเชิงเทคนิคการก่อสร้าง และจรรยาบรรณของวิชาชีพหากเกิดความผิดพลาด ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายไทย

- วิศวกรจีนที่ได้รับการยกเว้นใบอนุญาต จะไม่สามารถออกไปทำงานในโครงการอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ได้เนื่องในใบคำสั่งระบุชัดเจนแล้วว่า เฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราชเท่านั้น หากฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมายคือจำคุก 3 ปี

- สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะร่วมผลักดันให้เกิดความร่วมมือในโครงการดังกล่าว เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุด

 นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สมาคมวิชาชีพได้ทำงานเพื่อรักษาความถูกต้องของวิชาชีพ และรักษาผลประโยชน์ของสังคมและของประเทศชาติ ดังเช่นสมาคมวิชาชีพด้านอื่นๆได้ทำมาแล้ว เช่นสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนมูลนิธิสืบ นาคะเสถียรสมาคมโรงสีข้าวไทยสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย เครือข่ายทางด้านพลังงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นอาทิ

อย่างไรก็ดีน่าเสียดายที่จนถึงขณะนี้ นับตั้งแต่เมื่อ 16 พ.ค.โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงข่าวที่รัฐบาลโดยหัวหน้าคสช. จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 อนุญาตให้ต่างชาติตั้งมหาวิทยาลัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ตลอดจนให้อำนาจหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ในการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา เช่น อาชีวะได้อีกด้วยซึ่งในการนี้ “ต่างชาติ”ถึงพร้อมด้วยศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มีหลายประเทศทั้งในตะวันตก เช่น สหรัฐ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศสและในเอเชียเช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี เราก็ยังไม่มีกลุ่มนักวิชาชีพใดเลยที่สามารถให้ความกระจ่างให้ข้อมูลข้อเท็จจริงชี้แจงชี้ถูกชี้ผิดต่อสาธารณชนได้ พร้อมด้วยข้อเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเราสาธารณชนรวมทั้งรัฐบาลและหัวหน้าคสช.จึงได้ฟังแต่ความเห็นของคนโน้นทีคนนี้ทีจากทางฝ่ายรัฐบาลบ้าง(ซึ่งก็มีแต่เชียร์)จากทางฝ่ายผู้จัดบริการทางการศึกษาบ้าง(ผู้มีทั้งเชียร์มีทั้งค้าน)สรุปคือไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ใครจะรู้ได้ว่า ‘ต่างชาติ’ ที่มาทำงานด้านการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ว่ามานั้นจะส่งผลคล้ายๆ กับที่เกิดในโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา

ในอดีตเคยเล่าขานในกรมวิเทศสหการ ที่ในโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ไทย แต่ปรากฏว่าถึงเวลามาจริงเป็นเพียงนักวิชาการ ‘ละอ่อน‘ มาเรียนรู้ฝึกงานก็มาก

 ปัจจุบันนี้ครูภาษาจีนที่ไทยได้รับมาในโครงการช่วยสอนภาษาจีนนั้นเป็น ‘ละอ่อน‘ เพิ่งเรียนจบก็มีหาตัวยังเจออยู่

 ยังไม่สายเกินไปที่จะมีสมาคมทางด้านการศึกษาการแนะแนวต่างๆ จะร่วมมือกันทำงานในเรื่องดังกล่าวนี้สาธารณชนรอรับฟังอยู่

ขืนรัฐบาลไหนไม่รับฟังหรือปิดกั้นกลุ่มนักวิชาชีพ ที่แสดงข้อคิดเห็นเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม นโยบายเศรษฐกิจ 4.0 จะเป็นจริงได้อย่างไรหากวิชาชีพไร้มาตรฐานหัวหน้ารัฐบาลก็มีแต่จะเสียความเชื่อมั่นในสายตาสาธารณชนเผลอๆ ก็จะโดนข้อหาที่ดังแว่วจากอีกมุมหนึ่งของสังคมไทยที่สื่อนอกประเทศรับเอาไป ”ปั่น” ประโคมต่อทันทีหนักหนาขนาดว่า ขายชาติ’ หรือ เสียอธิปไตยบนดินแดนของไทย‘ ให้จีนในกรณีรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา (ดูข่าว บีบีซี 7 ก.ค.Thai PM Prayuth faces growing internal backlashจาก NIKKEI ASIAN REVIEW)

การรวมตัวของกลุ่มวิชาชีพเพื่อรักษาประโยชน์รักษามาตรฐานวิชาชีพของตนในรูปแบบที่เรียกว่ากิลด์(Guild) มีมานานในสังคมตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 และมีบทบาททางสังคมมาด้วยตลอดตามยุคสมัยจนถึงทุกวันนี้ยุคหลังประชาธิปไตย

 ของไทยเราหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ก็ได้มีการก่อตั้งสมาคมวิชาชีพต่างๆไม่น้อยโดยเฉพาะของกลุ่มสตรี เช่น สมาคมสตรีอุดมศึกษา พ.ศ.2490 สมาคมแพทย์สตรีสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย เป็นต้น สมาคมนางพยาบาลแห่งกรุงสยามที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสมาคมสตรีแห่งแรก ที่ก่อตั้งในประเทศนั้นได้จดทะเบียนเป็นสมาคมตั้งแต่ 6 พ.ค. 2470 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยซ้ำไป

เรามาช่วยกันทำนุบำรุงสมาคมวิชาชีพต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาคให้มีบทบาทร่วมสมัยช่วงประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่านและต่อๆ ไปด้วยกันเถอะ