ทำอย่างไร? จะใช้ดิจิทัลทันกับยุคสมัย

ทำอย่างไร? จะใช้ดิจิทัลทันกับยุคสมัย

แม้ว่าดิจิทัลจะเกิดขึ้น และใช้งานกันอย่างแพร่หลายกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ผลกระทบและแรงผลักดันไปสู่ภาคธุรกิจเป็นจริงและรุนแรงในช่วง 10 ปีนี้เอง

จากเหตุการณ์ล่มสลายหายไปของธุรกิจแบรนด์ยักษ์ใหญ่มากมายที่เคยเป็นผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดอย่างหมดจดราบคาบ แต่ก็ไม่สามารถต้านทานหรือรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ได้

 หลังปี 2010 คำว่า Digital Transformation กลายเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรไม่รู้ไม่ได้ เมื่อรู้แล้วยิ่งต้องรีบปฏิบัติอย่างเป็นระบบให้เกิดผลเร็วที่สุด การแสวงหาความรู้เพื่อมาเติมเต็มรอยหยักในสมองของผู้บริหารที่จะต้องนำพาองค์กร์ฝ่ามรสุมคลื่นลูกใหญ่ไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ที่สามารถโลดแล่นได้ในโลกเสมือน (Virtual หรือ Cyberspace) ที่คู่ขนานกับโลกความเป็นจริง (Physical world) ได้อย่างแนบสนิทชนิดกระโดดข้ามไปมาได้อย่างเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ กลายเป็นวิถีปฎิบัติใหม่ไปแล้ว จนบางทีเราอาจแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่ากำลังอยู่ในโลกไหน

 มีหนังสือ 10 เล่มที่มีการกล่าวถึงและหยิบยกมาแนะนำโดย Alison DeNisco (อ้างอิง http://www.techrepublic.com/article/10-books-to-help-you-lead-digital-transformation/) เพื่อช่วยให้ผู้บริหารสามารถจะเรียนรู้ เพื่อวางแผนธุรกิจก้าวข้ามผ่านไปสู่ยุคดิจิตัล ได้แก่

  1. Leading Digital: Turning Technology into Business Transformation By George Westerman
  2. Digital to the Core: Remastering Leadership for Your Industry, Your Enterprise, and Yourself
  3. Disrupting Digital Business: Create an Authentic Experience in the Peer-to-Peer Economy
  4. The Digital Transformation Playbook: Rethink Your Business for the Digital Age
  5. Digital Transformation: A Model to Master Digital Disruption
  6. No Ordinary Disruption: The Four Global Forces Breaking All the Trends
  7. Digital Disruption: Unleashing the Next Wave of Innovation
  8. Digital Transformation
  9. Digital or Death: Digital Transformation—The Only Choice for Business to Survive, Smash, and Conquer
  10. Digital Strategy: A Guide to Digital Business Transformation

 Digital Transformation: A Model to Master Digital Disruption หนังสือที่ Harvard Business Review ได้เคยลงบทความแนะนำไว้ และผมเคยเขียนถึงประเด็นที่องค์กรต้องมีผู้บริหารในระดับ C level เรียกว่า CDO (Chief Digital Officer) ที่มีความสามารถในการผสมผสานและทำให้กลยุทธ์ธุรกิจขับเคลื่อนได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากการคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้น หนังสือเล่มนี้ยังแนะนำวิธีการที่ผู้บริหารจะใช้ดิจิทัล (ซึ่งใครหลายคนอาจจะมองว่าเป็นอุปสรรค) เพื่อแสวงโอกาสด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ในธุรกิจของเรา

 นอกจากนั้นยังอธิบายถึงคุณสมบัติหรือความสามารถของ CDO ประกอบด้วย (1) Leadership and charisma สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มในองค์กรและโน้มน้าวให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล (2)Breaking down the traditional silos สามารถสลายโครงสร้างเดิม ไปสู่โครงสร้างใหม่ที่มีการทำงานสอดประสานกันทั้งในแนวดิ่ง แนวนอน และแนวทแยง (3) Understanding and managing the internal politics เข้าใจการเมืองภายในองค์กรและสามารถสื่อสารสร้างสัมพันธ์ด้วยภาษาที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม (4)A challenger of everything พร้อมรับกับความท้าทายใหม่ๆในทุกงาน ทุกกระบวนการ และ (5) A thorough digital knowledge in รู้รอบเกี่ยวกับดิจิทัลที่มีผลต่อธุรกิจ การเงิน การค้า การตลาด การผลิต และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล

 ผู้บริโภคทุกคนรู้สึกได้ถึงการค้าการแข่งขันผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน การมีปฏิสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย และการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ตลอดจนกระแสการตลาดแบบบอกต่อที่มีอานุภาพสูง แต่ต้นทุนต่ำกว่าการใช้ช่องทางการตลาดแบบเดิมอย่างมาก นอกจากการสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่จะได้รับจากดิจิทัล (Digital mindset) ให้กับพนักงานทุกคนในองค์กรแล้ว การพัฒนาความรู้ความสามารถเกี่ยวกับดิจิทัล (digital competence) จึงเป็นส่วนสำคัญ ที่ต้องทำพร้อมกับการสร้างบรรยากาศ ปรับปรุงกระบวนการภายในให้เกิดการใช้ดิจิทัลอย่างแท้จริง (digital usage) ค่อยๆเสริมค่อยเติมเข้าไปทีละนิด ก็จะเกิดผล (digital transformation)

 ถ้าถามว่าในอดีตก่อนเราจะเริ่มทานอาหารจะทำอะไรก่อน ถ้าตอบแบบกวนๆก็บอกว่า “ต้องสั่งอาหารก่อน” แต่ถ้าถามคนที่เคร่งศาสนาก็อาจตอบว่า “สวดมนต์ ภาวนา แผ่เมตตาก่อน” ในยุคปัจจุบันอาจพบคำตอบว่า “ถ่ายรูปก่อน เพื่อแชร์ให้เพื่อนฝูงหรือแฟนคลับรับรู้”

การกระทำดังกล่าวเรียกว่า Digitization (หรือ Conversion) แม้แต่ในงานสัมมนาทั่วไป การหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูปสไลด์บนจอก็เช่นกัน แต่ละคนมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่าง บางคนนำไปทำรายงาน นำไปใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนในองค์กร นำไปใช้ในการทำงาน ขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่ลงทะเบียนสัมมนา จนถึงการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ผ่านเครื่องมือดิจิทัลรวมเรียกว่า Digitalization (the process) การดำเนินการผ่านกระบวนการและเครื่องมือที่เป็นดิจิตัลในทุกๆขั้นตอน กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ในการทำงาน จนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เรียกว่า the Digital transformation (the effect)

 องค์กรใดสามารถเปลี่ยนผ่านได้อย่างแนบเนียนแบบไร้รอยต่อ และบรรลุผลตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ได้ โดยทุกคนเข้าใจและปฏิบัติตามได้อย่างดี ก็จะเกิดวัฒนธรรมการทำงานใหม่ที่สอดรับกับยุคสมัยในที่สุด