อนาคตยูโรและยุโรป (2)

อนาคตยูโรและยุโรป (2)

เนื่องจากวิกฤติยูโรโซน เริ่มจะรุนแรงที่กรีซประมาณต้นปี 2010 คนก็เลยนึกว่าปัญหาวิกฤติในยูโรโซนเกิดจาก

 หรือมีรากเหง้าของปัญหามาจาก sovereign debt หรือหนี้ภาครัฐ ซึ่งก็คงมาจากความไม่มีวินัยทางการคลังแนวประชานิยม ซึ่งรัฐบาลกรีซมีภาพลักษณ์ทางด้านนี้มายาวนาน

ในความเป็นจริงแม้ว่าปัญหา sovereign debt ในกลุ่มประเทศยูโรโซนจะมีความเกี่ยวพันแยกกันไม่ออกจากวิกฤติในระบบธนาคาร และหนี้ของภาคเอกชน และsovereign debt ก็มีที่มาทั้งจากการขาดดุลของรัฐบาลและ/หรือจากการช่วยเหลือระบบธนาคาร แต่รากของปัญหาในยูโรโซนเริ่มต้นก่อนที่จะเกิดวิกฤติในปลายปี 2009 ต่อกับต้นปี 2010 ที่สำคัญกว่าไม่ได้อยู่ที่วิกฤติหนี้จากภาครัฐของประเทศ

เราสามารถมองวิกฤติที่ผ่านมาของยูโรโซนได้เป็นอย่างน้อย 4-6 ปัญหาหรือวิกฤติ คือ 1. วิกฤติหนี้ภาครัฐ sovereign debt crisis 2. วิกฤติภาคธนาคาร 3. วิกฤติหนี้ภาคเอกชน 

4. ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจมหาภาค 5. ปัญหาความบกพร่องในระบบการกำกับดูแลหรือGovernance ของยูโรโซน 6. ปัญหาการเมืองในระดับประเทศกับการเมืองของยุโรปโดยเฉพาะระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้

ทำไม sovereign debt ก่อนวิกฤติปี 2009 หรือ 2010 ไม่ใช่รากของปัญหา โดยรวมหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของกลุ่มยูโรไม่ได้สูงจนเกินไป ในกลางทศวรรษ90 สหรัฐฯและกลุ่มยูโรโซนมีหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีใกล้เคียงกันประมาณ 60-70% กลุ่มประเทศยูโรโซนเพิ่มเป็น 90% ในปี 2013 แต่ความแตกต่างของประเทศในกลุ่มยูโรโซนมีค่อนข้างมาก เยอรมนีและฝรั่งเศสมีภาระหนี้รัฐไม่สูง สเปนและไอร์แลนด์ก็มีปัญหาหนี้สินและระบบธนาคารเหมือนกับกรีซ โปรตุเกส และอิตาลี

แต่ถ้าเราตามดูประวัติหนี้ภาครัฐของประเทศเหล่านี้ก่อนวิกฤติ เราจะพบความแตกต่างค่อนข้างมาก

กลุ่มแรกคืออิตาลีกับกรีซนั้นตั้งแต่กลางทศวรรษ90 สองประเทศนี้มีอัตราหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีเกิน 90% เพราะฉะนั้นกฎเกณฑ์สต็อกหนี้ภาครัฐไม่เกิน 60% บังคับใช้ไม่ได้สำหรับกรีซและอิตาลีหลังจากประเทศเข้าเป็นสมาชิกยูโร ในช่วงเวลาเดียวกันกลุ่มที่ตรงกันข้ามคือไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน มีอัตราส่วนหนี้ต่ำกว่า 60% แต่ในช่วงทศวรรษ 2000 เมื่อมียูโรโซน ตัวเลขของโปรตุเกสเริ่มสูงขึ้นมาก แต่ช่วงก่อนวิกฤติ ปี2009ไอร์แลนด์และสเปนเติบโตในอัตราที่สูง จีดีพีขยายตัวสูงกว่าหนี้ของรัฐซึ่งช่วยลดอัตราส่วนของหนี้ ไปได้มาก 

หนี้ภาครัฐของสเปนหลังวิกฤติเพิ่มขึ้นไม่มากซึ่งต่างกับของไอร์แลนด์ที่มีปัญหาวิกฤติการธนาคารค่อนข้างรุนแรง(เพิ่มจาก 45% ในปี 1999 เป็น 125% ในปี2013) แต่หลังวิกฤติ หนี้ภาครัฐของอิตาลีซึ่งก่อนวิกฤติค่อนข้างสูงเหมือนกรีซกลับเพิ่มขึ้นน้อยกว่ามาก

วิกฤติการเงินและการถดถอยทางเศรษฐกิจของโลกล่าสุดครั้งใหญ่ที่ผ่านมา จริงๆเริ่มส่อเค้าตั้งแต่เดือนส.ค. ปี 2007 เมื่อ ECB เริ่มปฏิบัติการเสริมสภาพคล่องให้กับธนาคารในยุโรปที่ลงทุนในตราสารการเงินในสหรัฐ รวมทั้งพึ่งพาแหล่งเงินระยะสั้นที่เป็นเงินสกุลดอลลาร์ เป็นที่ทราบกันดีว่าวิกฤติจริงที่เริ่มรุนแรงเริ่มจากการล้มของ Lehmans Brothers ในเดือนก.ย. ปี2008 จากนั้นเริ่มมากระทบยุโรปตั้งแต่ปี 2009 ก่อนต้นปี 2010 ผู้ลงทุนและภาคการเงินของยุโรปยังไม่วิตกหรือเห็นความเสี่ยงในหนี้ของภาครัฐ เท่ากับปัญหาที่เห็นในระบบการธนาคารและเงินทุนไหลเข้าออกระหว่างประเทศ 

ปัญหาหนี้ภาครัฐมาเริ่มเมื่อรายงานสถานภาพทางการคลังของรัฐบาล เช่น การขาดดุลการคลังของประเทศเช่นสเปนและไอร์แลนด์ เลวกว่าที่คาด แต่ระเบิดลูกใหญ่ของ Sovereign debt crisis ปะทุเมื่อรัฐบาลใหม่ของกรีซในช่วงต้นปี 2010 ปรับการขาดดุลของภาครัฐเพิ่มขึ้นเท่าตัว รวมทั้งการยอมรับในข้อมูลเท็จเกี่ยวกับฐานะการขาดดุลและหนี้สินของภาครัฐในอดีต ซึ่ง shock ตลาดเงิน spread ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระหว่างประเทศที่มีปัญหากับเยอรมนีพุ่งกระฉูด สาธารณะชนหรือตลาดเริ่มเอาปัญหาของกรีซเป็นตัวแทนของปัญหาวิกฤติในยูโรโซนโดยมองว่ามันเป็นวิกฤติการคลัง ความไร้ความรับผิดชอบ ไร้วินัยของภาครัฐ ซึ่งจริงๆเป็นเพียงภาพบางส่วน

รากของปัญหาอยู่ที่การเกิดของยูโรตั้งแต่ปี 2000 เป็นกลไกและแรงจูงใจสำคัญให้องค์กรหรือสถาบัน ทั้งทางการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง ไม่เว้นแม้แต่ภาครัฐ และโดยเฉพาะภาคเอกชนของหลายประเทศในกลุ่มยูโรโซน แรงจูงใจในการขยายตัวโดยคิดว่าไม่มีความเสี่ยงหรือประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป ทั้งๆที่กฎของยูโรโซนจะไม่คุ้มครองรัฐที่ไม่สามารถชำระหนี้คือปล่อยให้ล้มละลาย 

การใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันทำให้เอกชนประเมินความเสี่ยงต่ำ เมื่อกู้เงินจากต่างประเทศเพราะกู้เงินในสกุลของตัวเองในบริบทที่ดอกเบี้ยต่ำมาก (ปัญหาวิกฤตยูโรโซนมีส่วนทั้งคล้ายและต่างกับวิกฤตหนี้ของเอเชียหรือของไทยก่อนปี1998) รวมแล้วอาจจะคิดว่าเมื่อมีปัญหาก็คงได้รับการช่วยเหลือให้อยู่รอดได้คือเป็น free riders เมื่อวิกฤติเกิดขึ้นความไม่พร้อมและความบกพร่องของระบบทำให้วิกฤติรุนแรงและยืดเยื้อ

ไม่น่าแปลกใจที่เราได้เห็นการขยายตัวของสินเชื่ออย่างมโหฬาร เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่สูงของประเทศลูกหนี้ที่สูงกว่าประเทศเจ้าหนี้ สัมพันธ์ไปกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศกลุ่มลูกหนี้ (โดยนัยยะการเกินดุลที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกันของประเทศเจ้าหนี้ เช่น เยอรมนี เนเธอแลนด์)ที่เพิ่มขึ้นมโหฬารไม่นานหลังกำเนิดของยูโรโซน 

เห็นได้ชัดจากสินเชื่อภาคเอกชนต่อจีดีพีระหว่างปี 1998 (ก่อนยูโรโซน) และปี 2007(ก่อนวิกฤติ)ของกรีซจาก 31.8 เป็น 84.4 ไอร์แลนด์จาก 81.2 เป็น 184.3 สเปนจาก 80.8 เป็น 168.5 อิตาลีจาก 55.7 เป็น 96.5 โปรตุเกส 92.1 เป็น 159.8 ขณะที่เยอรมนีจีดีพีโตเร็วกว่าสินเชื่อลดลงจาก 112.2 มาเป็น 105.1 ในช่วงระหว่างปี 1993 - 1997 กับ ปี 2003 - 2007 ก่อนวิกฤติ ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีของกรีซเพิ่มขึ้นจาก -2.0 เป็น -9.1 สเปน -0.6 เป็น -7.0 โปรตุเกส -2.4 เป็น -9.2 เยอรมนี จาก -0.9 เป็น 5.1

ชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่ในยูโรโซนประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป และระบบไม่มีกลไกการปรับตัวให้เกิดความสมดุล ลดหรือป้องกันให้เกิดวิกฤติ