ควรจะเป็น ผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้เรียนรู้?

ควรจะเป็น ผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้เรียนรู้?

ด้วยวิชาชีพของผมทำให้ได้พบคนเก่งในด้านต่างๆ อยู่เสมอทั้งนักวิชาการและผู้บริหาร

 และคนเก่งเหล่านี้ก็พอจะแบ่งออกได้อีกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นผู้ที่เก่ง (หรืออาจจะไม่เก่งจริงก็ได้) และไม่ชอบที่จะเก็บความเก่งไว้กับตัวเอง จึงมักจะชอบตั้งตนเอง รวมถึงบอกผู้อื่นว่า ตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้รู้ หรือ กูรู ในด้านนั้นๆ กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ที่เก่ง แต่ไม่เคยบอกผู้อื่นหรือถือตนเองว่าเป็นคนเก่ง หรือ ผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นคนเก่งที่นอบน้อมถ่อมตนและพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

Satya Nadella ซึ่งเป็น CEO ของ Microsoft ได้เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารหนึ่งไว้ว่า มีคนเก่งอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นพวก know-it-all หรือผู้ที่รู้ไปเสียทุกอย่าง และกลุ่มที่ 2 เป็นพวก learn-it-all หรือพวกที่มองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ และ Satya ก็ระบุด้วยว่าพวกสุดท้ายแล้วพวก learn-it-all นั้นสุดท้ายแล้วมักจะประสบความสำเร็จหรือเหนือกว่าพวก know-it-all ทั้งๆ ที่พวก know-it-all นั้นอาจจะเริ่มต้นด้วยความสามารถเดิมที่มีอยู่ที่เหนือกว่าก็ได้ Satya ระบุไว้เลยว่าหลักการของ learn-it-all นั้นสามารถใช้ได้กับทั้งเด็กนักเรียนในโรงเรียน กับ CEO อย่างเช่นตัวเขา หรือ กับองค์กรอย่างเช่น Microsoft

การที่จินตนาการ หรือ มโน ว่าตนเองเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ เป็นคนเก่งนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่อันตราย เนื่องจากการระบุว่าตนเองเป็นคนเก่ง หรือ ผู้เชี่ยวชาญนั้น สามารถแปลความหมายได้ว่าบุคคลผู้นั้นสามารถที่จะบรรลุศักยภาพหรือความสามารถสูงสุดแล้ว (เนื่องจากเป็นคนเก่งและเชี่ยวชาญ) ซึ่งก็คือพวก know-it-all นั้นเอง อีกทั้งยังทำให้ความกระตือรือร้น ความสนใจใคร่รู้ในเรื่องต่างๆ ที่คิดว่าตนเองเก่งและเชี่ยวชาญนั้น หยุดชะงักไป (เนื่องจากเก่งและเชี่ยวชาญอยู่แล้ว)

แต่ถ้าบุคคลหนึ่งมีแนวคิดว่าตนเองเป็นพวก learn-it-all แทนที่จะเป็น know-it-all แล้ว สิ่งที่บุคคลผู้นั้นจะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญอยู่ตลอดเวลาคือการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ แม้กระทั่งความผิดพลาดหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้น บุคคลผู้นั้นก็จะมองว่าไม่ได้เป็นความผิดพลาดหรือล้มเหลวที่เกิดขึ้น แต่เป็นโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งวิธีคิดแบบ learn-it-all นั้นจะทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ต่อทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงาน

ยิ่งในยุค 4.0 ที่หุ่นยนต์และเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในด้านต่างๆ มากขึ้น ทัศนคติและมุมมองแบบ learn-it-all ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ในอนาคต (อันใกล้) การที่คนทำงานจะมีความรู้ ความสามารถ หรือ ทักษะในด้านใดด้านหนึ่งจะไม่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลผู้นั้นก้าวหน้าและประสบความสำเร็จไปได้ มีรายงานของ WEF ที่คาดการณ์ไว้ว่า งานที่เป็นพวก single-skillset jobs นั้นอยู่ในช่วงขาลง ถ้าบุคคลใดสามารถที่จะมีความเชี่ยวชาญในทักษะที่มากกว่า 1 ด้าน และสามารถเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากทักษะที่มากกว่า 1 ด้านได้ โอกาสความสำเร็จและก้าวหน้าในอนาคตก็จะทวีมากขึ้น

นอกจากนี้แนวโน้มอื่นๆ ยังชี้ให้เห็นความจำเป็นของการมีทัศนคติแบบ learn-it-all ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุเฉลี่ยของคนที่จะนานยิ่งขึ้น อีกทั้งมีรายงานจาก Deloitte ด้วยว่าทักษะต่างๆ ที่มีนั้นภายในระยะเวลา 5 ปี ทักษะดังกล่าวจะลดความสำคัญหรือความจำเป็นลงครึ่งหนึ่ง ทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตกลายเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งขึ้นสำหรับคนในยุค 4.0 ที่อายุขัยจะนานขึ้น ขณะเดียวกันทักษะหรือความรู้ที่มีกลับจะล้าสมัยเร็วขึ้น

ดังนั้นเราต้องมีทัศนคติว่าอย่าคิดว่าตนเองเป็นผู้รู้ หรือ ผู้เชี่ยวชาญ แต่ควรจะคิดว่าตนเองเป็นผู้เรียนรู้ และพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะโลกรอบๆ ตัวเรากำลังเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ถ้าเราหยุดนิ่งที่จะเรียนรู้เพราะคิดว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญเสียแล้ว สุดท้ายเราก็อาจจะจมอยู่กับแค่ความสำเร็จหรือสิ่งที่มีในอดีตเท่านั้น