เศรษฐกิจไทยก่อน–หลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 (1997)

เศรษฐกิจไทยก่อน–หลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 (1997)

ผมเห็นว่าควรเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทย ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 (1997)

 กับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในยุคหลังวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว มากกว่าจะพยายามรำลึกถึงสภาวะวิกฤติและการฟื้นตัว ที่ เกิดขึ้นในช่วง 1996-2000 และเนื่องจากช่วงหลังจากนั้น เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนโดยฟองสบู่ภาคการเงินของสหรัฐ (ที่เรียกกันว่า Subprime Bubble) ซึ่งนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโลก ในปี 2006-2009 ดังนั้นผมจึงขอเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยในปี 1991 ถึง 95 กับ 2010-2017 ดังเห็นได้จากตาราง

ปี 1991-1995 เป็นช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือการทุบกำแพงเบอร์ลิน และต่อมาคือการล่มสลายของระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในยุโรปและสหภาพโซเวียต จีนก็เริ่มเปิดประเทศ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเซียก็เปิดเสรีรับระบบทุนนิยมอย่างออกนอกหน้า เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับ “new normal” คือการแข่งขันจากประเทศตลาดเกิดใหม่มากมาย ทำให้ทางการไทยตัดสินใจเปิดเสรีทางการเงิน (ให้นำเงินทุนจากต่างประเทศ) เพื่อเร่งระดมทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวกระโดดไป ก่อนที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่หนักหน่วงจากประเทศตลาดเกิดใหม่ดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขข้างต้นว่าการเปิดเสรีทางการเงินดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก สมัยนั้นไม่มีใครบ่นว่าภาคเอกชนไม่ยอมลงทุนเพราะตรงกันข้ามมีการเร่งลงทุนเป็นอันมากจนทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นไปสูงกว่า 13% ต่อปี

ที่สำคัญคือจีดีพีขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 8.5% ต่อปี ในช่วง 1991-1995 (แม้จะมีการปฏิวัติ โดยทหารในปี 1991 และความสูญเสียตอนพฤษภาทมิฬ) การแย่งกันบริโภคและแย่งกันลงทุนทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยสูงถึง 4.8% ต่อปี ที่สำคัญคือการแย่งกันซื้อแย่งกันใช้ทำให้สินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ ทำให้ต้องไปกู้เงินมาซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศเพิ่ม (ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด) สูงถึง 6.3% ของจีดีพีต่อปี กล่าวคือคนไทยผลิตสินค้าและบริการ 100 บาทแต่ใช้จ่าย 106.3 บาทต่อปีนั่นเอง ซึ่งในที่สุดก็ทำให้มีหนี้สินเป็นเงินตราต่างประเทศมากเกินตัวและต้องลดค่าเงินบาทตลอดจนประสบวิกฤติเศรษฐกิจจึงสามารถฟื้นเศรษฐกิจกลับคืนมาได้ ในช่วงนั้นจีดีพีขยายตัว (รวมเงินเฟ้อ) เท่ากับ 13.3% ต่อปี แปลว่าธุรกิจโดยรวมมียอดขายเพิ่มขึ้น 13.3% ต่อปี จึงมองได้ว่าทำมาหาคล่องจริงๆ

มาถึงยุคปัจจุบันซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “new normal” อีกมิติหนึ่งคือ การก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการแก่ตัวของประชากร ซึ่งในปี 2010-2017 นั้นประเทศไทยกลับกลายเป็นคนละคน กล่าวคือไม่มีใคร (ยกเว้นรัฐบาล) กล้าทำอะไร เห็นได้จากการที่ประเทศไทยผลิตสินค้า 100 บาทแต่ขายในประเทศได้เพียง 96 บาท จึงต้องเอาส่วนที่เหลือไปขายในต่างประเทศ 4 บาท (เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 4% ต่อปี) โดยเฉลี่ย อันที่จริง ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 10% ต่อปี ใน 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากและปีนี้เองก็น่าจะเกินบัญชีเดินสะพัดเดือนละ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ต้องขายของส่วนเกินให้ต่างชาติเดือนละกว่า 100 ล้านบาท) จึงไม่แปลกอะไร ที่เงินเฟ้อจะลดต่ำลงมาเหลือเฉลี่ยเพียง 1.9% ต่อปี 

แต่ในระยะหลังนี้เงินเฟ้อยิ่งลดลงอย่างรวดเร็วและแม้จะพูดว่า เป็นเพราะการลดลงของราคาน้ำมันแต่เงินเฟ้อพื้นฐานก็ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 1.72% ในเดือนมิ.ย. 2015 มาเหลือเพียง 0.45% ในเดือนมิ.ย. 2017 กล่าวคือในยุคนี้ หากบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นปีละ 5% ก็ถือว่าทำได้ดีพอควร ทั้งนี้ผมได้คำนวณความสัมพันธ์ของสถิติ (correlation) ระวังเงินเฟ้อกลับดุลบัญชีเดินสะพัดในทั้งสองช่วงเวลาโดยพบว่าใกล้เคียงกันที่ -0.67 และ -0.65 แปลว่ามีความสัมพันธ์กันในระดับหนึ่ง และสะท้อนว่ายิ่งเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากเงินเฟ้อจะยิ่งลดลง ดังนั้นการ เกินดุลบัญชีเดินสะพัดจึงไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป กล่าวคือหากเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องเป็นจำนวนมากก็ แปลว่ากำลังซื้อในประเทศอ่อนแอมาก

การลดลงของเงินเฟ้อคือการที่เงินเสื่อมสภาพช้าลง (รักษามูลค่าได้ดียิ่งขึ้น) เช่นในเดือนพ.ค.และมิ.ย. เงินเฟ้อติดลบเล็กน้อยทั้ง 2 เดือน (-0.04% และ -0.05%) แปลว่าเงินที่เก็บไว้เฉย ๆ มีกำลังซื้อมากขึ้น นอกจากนั้น เงินบาทก็ยังแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ และหากนำเงินไปฝากก็จะได้ดอกเบี้ยเพียง 1-2% ทำให้คนรู้สึกว่าเก็บเงินเอาไว้เฉยก็ไม่เสียหายอะไร ซึ่งเป็นเหตุให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอีกก็เป็นได้ หากพิจารณาตัวเลขการหมุนเวียนของเงิน (money velocity หรือ money multiplier) ก็จะเห็นว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ แม้จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมบ้างครับ