Google Amazon และพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า (ฉบับใหม่)

Google Amazon และพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า (ฉบับใหม่)

ข่าวธุรกิจใหญ่โตระดับโลกเมื่อสัปดาห์ก่อน คงจะหนีไม่พ้นเรื่องที่สหภาพยุโรปตัดสินปรับ Google

 เป็นจำนวนถึง 2.4 พันล้านยูโร หรือเกือบหนึ่งแสนล้านบาท ใช่แล้วครับ เป็นค่าปรับที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาเลยทีเดียว โดยหลังจากที่ทางการใช้เวลาสืบสวนประมาณ 7 ปี ก็ได้ข้อสรุปว่า Google ใช้อำนาจที่ตัวเองมีอย่างมหาศาลในตลาด Search Engine (ระบบสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต) เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจ e-commerce ของตัวเองซึ่งก็คือ Google Shopping (ธุรกิจขายของออนไลน์) เรียกได้ว่าผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรปเขา 

แน่นอนว่า Google ไม่พอใจในผลการตัดสินและคงต้องอุทธรณ์กันต่อไป หลายคนมีความคิดเห็นเดียวกับทางการ ในขณะที่บางคนมองว่าคำตัดสินนี้คือการจำกัดนวัตกรรมของ Google และท้ายที่สุดแล้วประชาชนผู้บริโภคนั่นแหละที่จะเสียประโยชน์

กลับมาที่ประเทศไทย เรามีกฎหมายลักษณะเดียวกันคือ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่ทุกคนบอกว่าเป็นเสือกระดาษเพราะไม่เคยนำมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ข่าวดีคือ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วตั้งแต่เดือนเม.ย. คาดว่าจะได้ใช้จริงภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ 

หลายคนชื่นชมกับเนื้อหาใหม่ๆ ของกฎหมายฉบับนี้ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดคุณสมบัติให้ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีความเป็นอิสระมากขึ้น การจัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” ให้อยู่ในรูปของนิติบุคคลที่ไม่ต้องขึ้นตรงกับรัฐบาล การเพิ่มเติมเรื่องของการควบรวมกิจการ รวมทั้งการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น เป็นต้น

รายละเอียดสำคัญหลายประการยังไม่มีอยู่ในพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ เนื่องจากต้องรอให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าทั้ง 7 ท่านเป็นผู้กำหนด ดังนั้นจึงยังไม่มีนิยามอย่างเป็นทางการของ “ผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด” มีเพียงการระบุให้คณะกรรมการฯ พิจารณา “ส่วนแบ่งการตลาด” และ “ยอดขาย” เท่านั้น 

ผมคาดว่าคณะกรรมการฯ คงต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากเนื่องจากธุรกิจทุกวันนี้มีความซับซ้อน ทับซ้อน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังไร้พรมแดนด้วย ดูอย่าง Facebook หรือ Line ที่ไม่แน่ใจว่าอยู่ในธุรกิจอะไรกันแน่เพราะเป็นได้ทั้ง สังคมออนไลน์ โฆษณา ข่าว บันเทิง ฯลฯ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือธุรกิจค้าปลีกเนื่องจากนิยามของ “ตลาด” ที่แตกต่างกันสามารถเปลี่ยนส่วนแบ่งการตลาดจากหน้ามือกลายเป็นหลังมือได้เลยทีเดียวเช่น ตลาดร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ ตลาดร้านสะดวกซื้อ (รวมโชห่วย) ตลาดค้าปลีกออฟไลน์ ตลาดค้าปลีก (รวมออฟไลน์และออนไลน์) ตลาดค้าปลีกในประเทศไทย ตลาดค้าปลีกในเอเชีย ตลาดค้าปลีกในโลก เป็นต้น 

แม้ว่า 7-11 และเซ็นทรัลจะดูยิ่งใหญ่ในตลาดร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่และตลาดค้าปลีกออฟไลน์ในประเทศไทย แต่ถ้าเราคิดถึง Lazada ที่เป็นผู้นำตลาดค้าปลีกออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ที่ตอนนี้มีพี่ใหญ่จากจีนอย่าง Alibaba หนุนหลัง) รวมทั้งคู่แข่งระดับเอเชียและระดับโลกที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทยอย่างเต็มตัว อนาคตจะเป็นอย่างไรก็สุดจะคาดเดา ยิ่งผู้บริโภคยุคใหม่เอียงไปทางออนไลน์มากขึ้นทุกวัน (บางคนซื้อของผ่าน Facebook และ Line ด้วยซ้ำ) การกำหนดนิยาม “ตลาด” จะยิ่งท้าทายมากขึ้น

ที่ประเทศสหรัฐ Walmart เคยยิ่งใหญ่ในตลาดค้าปลีกออฟไลน์จนใครๆ บอกว่ามีอำนาจมาก (ในการต่อรองกับผู้ผลิต) จนวันหนึ่ง Amazon เข้ามาในตลาดออนไลน์และแย่งส่วนแบ่งการตลาดไป มาในปัจจุบัน Amazon มีมูลค่าหุ้นสูงกว่า Walmart แล้ว และในขณะที่ Walmart ยังวุ่นอยู่กับการปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดค้าปลีกออนไลน์ อยู่ดีๆ Amazon ก็ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจะซื้อกิจการของ Whole Foods ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตแบบออฟไลน์ที่มีชื่อเสียงด้านอาหารสำหรับคนรักสุขภาพและอาหารอินทรีย์ โดยAmazonจะใช้เงินถึงกว่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือเกือบห้าแสนล้านบาท) เพื่อที่จะได้ครองตลาดค้าปลีกแบบเบ็ดเสร็จ ยิ่งติดตามก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าธุรกิจในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่มีพรมแดนใดๆ ขวางกั้นอีกต่อไป

ขอฝากความหวังแก่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าชุดใหม่ที่นอกจากจะต้องเป็นอิสระแล้ว ยังต้องเข้าใจความเชื่อมโยงและสามารถคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจได้ด้วย เนื่องจากการออกกฎเกณฑ์โดยคำนึงถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่ประเมินอนาคตผิดพลาด อาจส่งผลลบต่อผู้บริโภคได้เช่นกัน อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องฝากคณะกรรมการฯ ไว้คือกรณีของบริษัทต่างประเทศที่มาทำผิดกฎหมายการแข่งขันในประเทศไทย อย่าลืมนะครับว่า Google นั้นเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน แต่กลับโดนสหภาพยุโรปตัดสินว่าทำผิด 

ในส่วนของผู้ประกอบการนั้น กฎหมายลักษณะนี้มีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ดังนั้น ผมเชื่อว่ากฏหมายฉบับนี้ไม่ต้องการจำกัดขนาดของธุรกิจของคนไทยจนไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากต่างประเทศได้ รวมทั้งไม่ต้องการจำกัดไม่ให้มีการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจอื่นๆ แต่พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้เน้นที่ “พฤติกรรม” ของตัวผู้ประกอบการมากกว่า 

ดังนั้น ขอให้ท่านดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม และใช้หลักการ Arm’s Length (ปฏิบัติกับผู้ประกอบการภายนอกเหมือนกับที่ปฏิบัติกับธุรกิจภายใน) เท่านี้ก็ไม่มีอะไรต้องกังวลแล้วครับ

.............................................................................

ผศ. ดร. ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ

ภาควิชาบริหารธุรกิจ

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล[email protected]