180 วันบทพิสูจน์ 'ต่างด้าว'ถูกก.ม.

180 วันบทพิสูจน์ 'ต่างด้าว'ถูกก.ม.

หลังจากประกาศใช้พระราชกำหนด การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560

 ไปเมื่อ 23 มิ.ย.2560 เพื่อแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายทั้งระบบ หวังสร้างความมั่นคงด้านแรงงาน การทำสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมายเชื่อเถอะคนทั้งโลกก็เห็นด้วย

แต่พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกมา ดูเหมือนนายจ้าง ลูกจ้างร้องจ๊าก..กรี๊ดสลบ ก็เพราะบทลงโทษและอัตราค่าปรับที่สูงปรี๊ดนั่นเอง มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท แถมมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี 

ฉะนั้นบทลงโทษกับค่าปรับที่ปรากฏย่อมเป็นกระแสต้านที่ง่ายดาย  เพราะได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่เฉพาะแต่นายจ้างที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวยุคนี้สมัยนี้ แม้กระทั่งแม่บ้าน คนสวน ยังต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว สิ่งที่ต้องนายจ้างทุกประเภทต้องเผชิญไม่เฉพาะแต่โทษปรับ 

ยังต้องรับภาระค่าใช้จ่าย ขอใบอนุญาตเข้ามาทำงานต่อหัวของแรงงานต่างด้าวอยู่ที่ 15,000-20,000 บาท ตรงนี้แน่นอนเป็นภาระที่นายจ้างต้องรับผิดชอบไปก่อน 

      ภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคืองอย่างนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นมันคงไม่ง่ายอย่างที่คิด หากเอสเอ็มอีรายไหนต้องจ้างแรงงานต่างด้าวสัก10 คน ถามว่าเข้าต้องรับภาระส่วนนี้เท่าไหร่ ถ้าทำไม่ถูกต้องมีสิทธิ์ติดคุก อันที่จริงการที่ภาครัฐจะทำอะไรออกมา ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ได้พุ่งกระฉูดอย่างที่พูดๆกัน มันน่าจะมีช่วงเวลาเตือนสติพอที่จะให้ผู้ใช้แรงงานต่างด้าวได้ปรับตัวก่อน

 กระทรวงแรงงานบ้านเราก็รู้เรื่องพวกนี้ดี ทำไมไม่จัดการให้เป็นระบบมากกว่า ยิ่งได้ยินว่าแก้ปัญหามาแล้วถึง 3 ปีแล้ว ทำไมยังปล่อยให้มีแรงงานเทาๆกว่าล้านคนปะปนอยู่แสดงว่าการจัดการกำลังมีปัญหาหรือไม่

ถ้ากระทรวงแรงงานจัดการเรื่องนี้ลงตัวแต่แรก เชื่อเถอะ..งานนี้อาจไม่ต้องชักเข้า..ชักออก จนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต้องกลับหลังหันมาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้กฎหมาย 4 มาตราในพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560  ออกไปอีก 180 วันหรือ 31 ธ.ค.2560 ถามว่าเมื่อถึงตอนนั้นยังจะใช้พ.ร.กนี้ได้อีกหรือไม่? 

     แต่ที่แน่ๆช่วงนี้เราจะเห็นสิ่งแปลกใหม่เกิดขึ้นระหว่างทาง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวมากๆ บางพื้นที่ดูเหมือนเงียบหงอยไปทันที