ฤา ไทยพีบีเอสจะเป็นแดนสนธยาอีกแห่งหนึ่ง (2)

ฤา ไทยพีบีเอสจะเป็นแดนสนธยาอีกแห่งหนึ่ง (2)

เรื่องการซื้อตราสารหนี้เอกชนของไทยพีบีเอส

สถานการณ์ของไทยพีบีเอสเลวร้ายลงอีกครั้งเมื่ออดีต ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. คนล่าสุดได้ใช้อำนาจบริหารเข้าซื้อหุ้นกู้จากบริษัทเอกชน ที่สังคมมองว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง และไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ตาม พ.ร.บ.ส.ส.ท. ปี 2551

ผลก็คือ ผู้อำนวยการ ส... คนสุดท้ายก็ขอลาออก ทั้งๆที่เพิ่งทำงานได้ไม่นาน และคณะกรรมการนโยบายก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง ทั้งตาม พ.ร.บ.ส.ส.ท. และระเบียบองค์การ ส.ส.ท. ว่าด้วยการเงิน บัญชี และการงบประมาณ

อ่านรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีซื้อตราสารหนี้บริษัทเจริญโภคภัณฑ์จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ของไทยพีบีเอส แล้วก็คิดว่าทั้งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. และคณะกรรมการนโยบาย น่าจะต้องร่วมรับผิดด้วยกัน

ทั้งนี้เพราะ ตามระเบียบ ส.ส.ท. ว่าด้วยการเงิน บัญชีฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุด มีผลบังคับเมื่อ 1 เม.ย. 2558 นั้นกำหนดชัดเจนในข้อ 9 (2) ว่าให้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ ตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงินสถาบันการเงินรัฐ หรือสถาบันการเงินเอกชนโดยที่ธนาคารอาวัล และ (4) กำหนดว่า การลงทุนอื่นตามความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบาย

แต่การเข้าซื้อหุ้นกู้ของไทยพีบีเอส ไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว และตามรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบาย ผู้บริหาร ส.ส.ท.จึงต้องรับผิดชอบในการเข้าซื้อหุ้นกู้เอกชนดังกล่าว

คณะกรรมการตรวจสอบ ได้สรุปรายงานกว่ายี่สิบหน้าค่อนข้างชัดเจน ว่าการดำเนินการซื้อตราสารหนี้นี้ ต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบาย เพราะไม่เป็นการฝากเงินหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามที่ พ...... กำหนดไว้ อีกทั้งจำนวนเงินในการเข้าซื้อหุ้นกู้เป็นเงิน 193.615 ล้านบาท ก็เกินอำนาจอนุมัติที่กำหนดไว้ที่ 50 ล้านบาทด้วย

ที่น่าสนใจก็คือ คณะกรรมการนโยบายในการประชุมครั้งที่ 38/2559 วันที่ 10 พ.ย. 2559 มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงการบริหารเงินของ ส.ส.ท. ให้สามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่บริษัทเอกชนเป็นผู้ออกให้ตามเงื่อนไขที่สถาบันจัดอันดับ A ขึ้นไป และให้มีระยะเวลาลงทุนไม่เกิน 5 ปี

หลังการประชุมนี้ไม่นาน ส.ส.ท. ก็เข้าซื้อหุ้นกู้ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายจะไม่รู้เห็นในการซื้อหุ้นกู้เอกชนครั้งนี้

การอ้างเชิงเปรียบเทียบว่า พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถให้อำนาจผู้บริหารซื้อหุ้นกู้เอกชนได้นั้น ไม่สามารถกล่าวอ้างได้ เพราะกฎหมายคนละฉบับมีความแตกต่างกัน

ถึงแม้เรื่องของการลงทุนอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ พ.ร.บ.ส.ส.ท.กำหนดอาจทำได้ แต่ต้องให้คณะกรรมการนโยบายอนุมัติเป็นกรณีๆไป แต่การที่ผู้บริหารไทยพีบีเอสดำเนินการครั้งนี้ ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนที่มีการตรวจสอบจากหลายฝ่าย

ยิ่งกว่านี้ คณะกรรมการนโยบายน่าจะทราบดี โดยเฉพาะก็เพิ่งเกิดกับ ผอ....คนก่อนหน้านี้ ที่กำลังเป็นคดีความกันที่ศาลปกครอง

คณะกรรมการนโยบายจึงมีหน้าที่ที่จะต้องสอบถามให้ผู้บริหารชี้แจง เมื่อไม่ได้ทำหน้าที่นั้นก็น่าจะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการซื้อตราสารหนี้ครั้งนี้ ไม่ได้ซื้อจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์จำกัด (มหาชน) หรือ CPF โดยตรง แต่ซื้อจากตลาดรอง ราคาจึงต่างกับราคาจอง แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าตราสารหนี้นั้นมีความผันผวน ต่างจากพันธบัตรรัฐบาลที่ราคาจะไม่เปลี่ยน และก็มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อมีการขาย อาจได้ราคาที่ต่ำกว่าราคาซื้อ ถือเป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรเสี่ยง

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือสมัย ผอ.ส.ส.ท. คนก่อนหน้านั้น คณะกรรมการนโยบายได้ให้ฝ่ายบริหารทำเรื่องขอความเห็นจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เรื่องซื้อตราสารหนี้เอกชน แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ แสดงให้เห็นว่า กระทรวงการคลังไม่ได้เห็นชอบเรื่องนี้เลย

ยังมีอีกมากมายหลายประเด็นที่น่าสนใจในรายงานฉบับนี้

แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้เพราะประธานคณะกรรมการตรวจสอบ ก็เป็นกรรมการตรวจสอบภายในของไทยพีบีเอสมานานหลายปีแล้ว ทำไมเรื่องนี้ไม่ผ่านหูผ่านตาบ้างเลยหรือไร

ทราบว่าคณะกรรมการป้องกันและปรายปรามการทุจริตภาครัฐ หรือ ปปท. ได้ให้ไทยพีบีเอส ส่งเอกสารทั้งหมด พร้อมรายงานการตรวจสอบไปให้ ปปท. ภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้ คงต้องรอดูอีกที เพราะจะเป็นการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก ที่ต่างจากการตรวจสอบภายในองค์กร มุมมองอาจเปลี่ยนไป

อีกเรื่องที่น่าสนใจคืองบประมาณของไทยพีบีเอส 2,000 ล้านบาทต่อปี ที่ได้รับจากภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบรู้สึกว่าใช้ไม่หมด ทำให้ไทยพีบีเอสมีเงินสดเหลือประมาณ 6,700 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามาก และไม่ต้องส่งคืนคลัง นี่อาจเป็นอีกเหตุผลที่ไทยพีบีเอส ต้องการนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากธนาคาร

เงินที่ใช้ไม่หมดแบบนี้มีในหลายองค์กรนอกจากไทยพีบีเอส เช่น สำนักงานประกันสังคม หรือแม้กระทั่ง สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. แล้วก็ไม่ต้องส่งคืนคลัง ทั้งๆที่รัฐบาลก็อยู่ในสภาวะขาดดุลงบประมาณอย่างมาก หลายหน่วยงานได้รับงบประมาณไม่พอเพียงกับค่าใช้จ่ายจริง รัฐบาลน่าจะเอาเงินนี้คืนคลังเมื่อใช้ไม่หมด หรือมิฉะนั้นก็ให้งบประมาณปีถัดไปเพียงเท่าที่ไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ จะได้มีเงินไว้ใช้สำหรับหน่วยงานอื่นที่ขาดงบประมาณ ไม่เช่นนั้นองค์การประเภทนี้ก็จะพยายามใช้เงินและทำให้เกิดการใช้เงินนอกระเบียบหรือใช้จ่ายที่ไม่สมเหตุสมผล

และนี่ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้จ่ายที่นอกเหนือจากการใช้จ่ายประจำโดยปกติ ที่ทำให้เกิดปัญหา