จัดระเบียบแรงงาน ปมมาตรฐานกับความจริง

จัดระเบียบแรงงาน ปมมาตรฐานกับความจริง

รัฐบาลเตรียมใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44

 แก้ปัญหาผลกระทบจากการประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ต้องการจัดระเบียบและดูแลสภาพการจ้างงานของคนต่างด้าวในไทย โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานหลากหลายประเภทกว่าสองล้านคน ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่กระทำผิดกฎหมายในเรื่องการจ้างงาน รวมทั้งขั้นตอนต่างๆ ของการจ้างคนต่างด้าวที่ส่งผลต่อต้นทุนด้านการจ้างแรงงานสูงขึ้น

สังคมไทยเริ่มมีปัญหาด้านแรงงานมานานนับสิบปี จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นจากการขยายตัวของภาคบริการมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานมากขึ้น ในบางกรณีการขยายตัวของภาคบริการนี้เองกลับไปดึงแรงงานไทย ที่เคยทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการใช้แรงงานสูง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในวงกว้าง จนกระทั่งจำเป็นต้องใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ เราสามารถพบเห็นแรงงานจากเพื่อนบ้านอยู่ทั่วไป

การเข้ามาของแรงงานต่างด้าวได้เพิ่มภาระให้กับสังคมไทยมหาศาล เช่นเดียวกับผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่ประเทศไทยได้รับ แต่การปรับปรุงกฎกติกาครั้งใหญ่ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดสำคัญของสังคมไทย ที่จำเป็นต้องมีการสร้างมาตรฐานที่ดี ด้านการจ้างงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ตามนโยบายการเติบโตไปด้วยกันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจด้อยกว่าไทย 

ดังนั้น การใช้มาตรา 44 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการจ้างแรงงานต่างด้าว ชี้ให้เห็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยที่พยายามออกกฎกติกาให้ได้ตามมาตรฐานสากลในเรื่องการจ้างแรงงาน รวมถึงกฎกติกาที่ต้องการแก้ปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายหรือการค้ามนุษย์ที่ยังเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย กล่าวคือ ภาครัฐหรือแม้แต่คนทั่วๆ ไปก็อาจรู้วิธีการแก้ปัญหาเช่นเดียวกันนี้ แต่ในภาคปฏิบัติจริงกลับเผชิญแรงต่อต้านไม่ว่าจะอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือเหตุผลความจำเป็นอื่นใดก็ตาม  ทำให้การมีกติกาที่เป็นมาตรฐานสากลไม่ง่ายนัก

การใช้มาตรา 44 เพื่อลดผลกระทบจากการจ้างงานจึงเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก สำหรับรัฐบาลไทยว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดความสมดุล ระหว่างมาตรฐานสากลในการกำกับดูแลการจ้างงานกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เพราะมาตรฐานการจ้างงานมีความเกี่ยวพันกับภาพรวมของประเทศในการยกระดับประเทศเป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะนโยบายการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง  ซึ่งต้องติดตามว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันนโยบายเรื่องการดูแลด้านแรงงานออกมาอย่างไร หรือ กลับไปสู่จุดเดิม

ปัญหาสำคัญในขณะนี้คือรัฐบาลจะเลือกทางออกอย่างไรเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งอาจชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไปเพื่อให้มีการปรับตัวของผู้ประกอบการที่มีการใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในอัตราสูง เพราะถึงอย่างไร ไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลต่อๆ ไปก็เผชิญกับแรงกดดันเรื่องแรงงานอยู่แล้วในการจัดระเบียบและสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้น และไม่ว่าจะมีการบรรเทาผลกระทบอย่างไร เราหวังว่าถึงเวลาที่สังคมไทยต้องจัดระเบียบด้านแรงงานให้ได้จริงๆ เสียที หลังจากเรื่องนี้ได้สร้างปัญหามาช้านาน