ผู้ใหญ่จะเข้าใจและช่วยวัยรุ่นได้อย่างไร

ผู้ใหญ่จะเข้าใจและช่วยวัยรุ่นได้อย่างไร

วัยรุ่นมีพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจที่มีลักษณะเฉพาะ ผู้ใหญ่ควรทำความเข้าใจเรื่องจิตวิทยา/พฤติกรรมวัยรุ่น

 เพื่อจะให้ช่วยพวกเขาพัฒนาไปในทางที่สร้างสรรค์มากกว่าสร้างปัญหาให้ตัวเองและสังคม

วัยรุ่นมีธรรมชาติที่จะปลีกตัวออกมาเพื่อสร้างความเป็นอิสระให้ตัวเอง ชอบใช้เวลาอยู่กับเพื่อนฝูงรุ่นเดียวกันมากขึ้น ติดต่อสื่อสารกับผู้ใหญ่น้อยลง ทะเลาะเบาะแว้งกับผู้ปกครองเพิ่มขึ้น เมื่อเข้าวัย 14 ปี วัยรุ่นมีโอกาสจะมีพฤติกรรมแบบต่อต้านสังคมสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้ารวมกลุ่มกับเพื่อนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ วัยรุ่นมักจะยอมคล้อยตามพฤติกรรมของเพื่อนกลุ่มเดียวกัน การคบเพื่อนที่มีปัญหาจะนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงภัยและอาชญากรรมประเภทต่างๆ

วัยรุ่นมักจะใจร้อนบุ่มบ่าม ชอบเสี่ยง ซึ่งอาจนำไปสู่การชอบเพลงสมัยใหม่ กีฬา ชอบเรื่องตื่นเต้น หรือกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานอื่นๆ บางคนอาจเสี่ยงภัยไปสู่เสพยา อุบัติเหตุทางรถ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และอาชญากรรมเยาวชนได้ง่าย นี่เป็นเรื่องของชีววิทยา เพราะส่วนของสมองวัยรุ่นที่ควบคุมการทำงานเกี่ยวกับการสังคมและอารมณ์ความรู้สึก พัฒนาเร็วกว่าส่วนของสมองที่ควบคุมเรื่องเหตุผลการนึกคิดและการควบคุมตัวเอง วัยรุ่นมักจะคิดว่าตนสามารถจะทำอะไรก็ได้โดยไม่ได้รับอันตราย

สมองโดยรวมของวัยรุ่นยังพัฒนาไม่เต็มที่ การรับรู้ความคิดตัดสินใจต่างๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่เท่าสมองของผู้ใหญ่ ร่างกายของวัยรุ่นต้องการการนอนมากกว่าผู้ใหญ่ แต่เนื่องจากร่างกายของพวกเขาจะโตเท่าๆ กับผู้ใหญ่แล้ว พ่อแม่จึงมักคาดหมายสูงว่าพวกเขาควรจะทำอะไรอย่างมีเหตุผลแบบผู้ใหญ่ และชอบดุว่า ว่าพวกเขายังทำตัวเป็นเด็กๆ ซึ่งเป็นการคาดหมายและการวิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรมนัก

โดยรวมแล้ววัยรุ่นจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การสร้างสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่จะดีขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายสื่อสารกันได้และมีพฤติกรรมไกล่เกลี่ยกัน

วัยรุ่นส่วนใหญ่มีสภาวะจิตใจที่มีสุขภาพดี แต่บางคนอาจมีปัญหาทางจิตใจได้ วัยรุ่นอาจจะเกิดความเครียดทางอารมณ์โดยการแสดงออกด้วยการกินหรือนอนมากเกินไป วิตกกังวลเรื่องรูปร่างหน้าตามากไป บางคนอยู่ๆ ก็รู้สึกซึมเศร้า อยากปลีกตัวออกห่างจากคนอื่น บางคนสับสนว่าชีวิตมีค่าควรแก่การอยู่ต่อไปหรือไม่ ความเครียดของวัยรุ่นบางครั้งไม่อาจจะเห็นได้ชัดเจน หากพ่อแม่ไม่ช่างสังเกต ไม่ใจใส่ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดก็จะไม่ค่อยรู้ว่าลูกวัยรุ่นต้องผ่านความยุ่งยากใจอะไรบ้าง

จิตใจของวัยรุ่นจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์แบบแปรปรวน ความคิด อารมณ์ ทัศนคติมักจะเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหา แต่บางคนก็จะเริ่มพัฒนาบุคคลิกเป็นผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น

วัยรุ่นจะเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งทางด้านกายภาพและความคิดจิตใจ บรรยากาศบ้านและครอบครัวมีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาจิตใจของวัยรุ่น เช่นพ่อแม่ที่ทำร้ายลูก จะทำให้ลูกชอบแกล้งเพื่อนร่วมห้องได้ตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ และเมื่อเขาโตเป็นวัยรุ่น พฤติกรรมเขาอาจจะเลวร้ายขึ้น เช่น อาจจะเริ่มใช้ยาเสพติดหรือใช้ความรุนแรงกับเพื่อน ถ้าพ่อแม่ไม่สอนให้เด็กรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดตั้งแต่เล็กๆ วัยรุ่นจะขาดความรู้ที่จะแยกแยะอะไรถูกผิด และจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ทำให้เขาตัดสินใจผิดๆ ได้

วันรุ่นมักจะสับสนว่าอะไรถูกอะไรผิดขณะที่เขาพยายามหาลักษณะทางสังคมของตัวเขาเอง นักจิตวิทยามองว่าความสับสนในช่วงนี้เป็นเรื่องปกติของวัยรุ่น เพราะช่วงนี้วัยรุ่นสามารถคิดเป็นนามธรรมได้มากขึ้น และความคิดเกี่ยวกับตนเองในวัยเด็กเริ่มลดลง ฉะนั้นจึงเป็นวัยที่พวกเขาจะสามารถคิดแล้วให้เหตุผลในแง่มุมที่กว้างขึ้น

อีริค อีริคสัน นักจิตวิเคราะห์ชาวอเมริกัน มองว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่พยายามค้นหาความต้องการที่แท้จริงของตนเอง เรียนรู้บทบาทหน้าที่และพัฒนาความสามารถเฉพาะตน เพื่อที่จะวางแผนชีวิตต่อไปในอนาคต ถ้าเขาค้นหาเอกลักษณ์ (Identity) ของตัวเองพบ เขาก็จะเข้าใจในบทบาทหน้าที่และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักความสามารถของตน รวมทั้งมีการวางแผนชีวิตที่เหมาะสม แต่ถ้าหากวัยรุ่นคนไหนเกิดความล้มเหลวในการค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะตน เขาก็จะสับสนในบทบาทหน้าที่และมีผลกระทบต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

ในการค้นหาเอกลักษณ์ของตัวเอง วัยรุ่นยังปรารถนาที่จะเป็นเหมือนผู้ใดผู้หนึ่งในสังคม นั่นก็คือวัยรุ่นจะเลือกเอาลักษณะบางอย่างของผู้อื่นมาใช้เป็นลักษณะของตนเอง โดยต้นแบบมักจะได้แก่ พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง และครูอาจารย์ วัยรุ่นอาจรับเอาลักษณะก้าวร้าวหรือรุ่นแรงมาก็ได้หากวัยรุ่นนั้นประสบกับเหตุการณ์ที่โหดร้าย หรือรุนแรงในชีวิต หรืออาจจดจำพฤติกรรมที่ไม่ดีมาจากบุคคลที่ใกล้ชิด ภาพยนตร์ ละคร หรือเกมต่อสู้ต่างๆ ได้

ผู้ใหญ่ควรสนใจใช้ จิตวิทยาทางบวก ช่วยการสร้างแรงจูงใจแก่วัยรุ่นเพื่อให้พัฒนาตัวเองเป็นบุคคลที่สังคมยอมรับและมีลักษณะเฉพาะ วัยรุ่นหลายคนมักจะเบื่อ ลังเล และไม่มีแรงจูงใจอยากทำอะไร อารมณ์ที่แปรปรวนได้ง่ายเป็นเรื่องปกติสำหรับวัยรุ่น พ่อแม่ควรใช้ความยืดหยุ่นในการสัมพันธ์กับลูกในช่วงอารมณ์ต่างๆ 

วัยรุ่นมักจะเครียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้สึกอารมณ์ ลักษณะทางกายภาพ และความสัมพันธ์ต่อผู้อื่น และก็กลัวการเปลี่ยนแปลงนั้น ถ้าพ่อแม่เข้าใจจิตวิทยาวัยรุ่นและปฏิบัติต่อลูกวัยรุ่นอย่างเหมาะสม อาจรักษาความผูกพันในครอบครัวไว้ได้ดี ซึ่งความจริงแล้วครอบครัวแบบนี้ก็มีมาก แต่ไม่ได้เป็นข่าว 

การที่มีข่าววัยรุ่นในทางมีปัญหามากกว่าในทางสร้างสรรค์ทำให้คนทั่วไปมองวัยรุ่นในแง่ลบ และทำให้วัยรุ่นบางส่วนเกิดปฏิกิริยาไม่พอใจ อยากท้าทายหรือต่อต้านสังคมเพิ่มขึ้น ทั้งพ่อแม่และคนทั่วไปจึงควรทำความเข้าใจจิตวิทยาวัยรุ่นและปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างยืดหยุ่น สร้างสรรค์เพิ่มขึ้น