สัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมต่อสังคม

สัญญาที่ไม่เป็นธรรม  ไม่เป็นธรรมต่อสังคม

ในการทำธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจ

จะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ที่มีส่วนได้เสียและต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการดำเนินธุรกิจตามปกติธรรมดาของบริษัท ทั้งที่โดยตั้งใจ และโดยไม่ตั้งใจ

ผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งของธุรกิจโดยทั่วไปก็คือ คู่ค้า ลูกค้า และผู้บริโภค

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการทำธุรกิจปัจจุบันที่ในหลายๆ กรณี จะต้องมีการทำสัญญา หรือลงนามข้อตกลงในสัญญาระหว่างกันและกัน

ซึ่งอาจเป็นที่มาของการเกิดสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ที่ถือได้ว่าเป็นการเอาเปรียบ หรือเบียดเบียนสังคมอีกวิธีหนึ่งของธุรกิจที่ถือได้ว่า ไม่ได้ดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล

ตัวอย่างง่ายๆ ของสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดจากฝ่ายธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองสูงกว่า เช่น

ข้อสัญญาที่กำหนดว่า จะไม่มีการรับผิด หรือมีการจำกัดความรับผิด ที่เกิดจากผลของการผิดสัญญา

ข้อสัญญาที่กำหนดว่า คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด

ข้อสัญญาที่กำหนดว่า ให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ

ข้อสัญญาที่กำหนดว่า ให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง หรือกำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา

ข้อสัญญาที่กำหนดว่า ในสัญญาขายฝาก หรือรับฝาก ที่กำหนดราคาไถ่สูงกว่าราคาขายฝาก บวกอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปี

ข้อสัญญาที่กำหนดให้ราคาเช่าซื้อสูงกว่าที่ควร หรือให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระที่สูงกว่าที่ควร

ข้อสัญญาที่กำหนดว่า ในกรณีที่ผิดนัดชำระหนี้ หรือกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการผิดนัดชำระหนี้ ลูกหนี้ต้องชำระดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าใช้จ่าย หรือประโยชน์อื่นใด สูงเกินกว่าที่ควร

ข้อสัญญาที่กำหนดวิธีคิดอัตราดอกเบี้ยทบต้น ที่ทำให้ลูกหนี้หรือผู้บริโภคต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร

การพิจารณาว่า สัญญามีความเป็นธรรม และพอสมควรแก่กรณี จะดูจาก เจตนา ความสุจริต อำนาจต่อรอง ฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ความเข้าใจ ความสันทัดจัดเจน ความคาดหมาย แนวทางที่เคยปฏิบัติ ทางเลือกอื่น และข้อได้เสียอื่นๆ ของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริง

และยังอาจพิจารณาจากสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น เวลาและสถานที่ในการทำสัญญา หรือในการปฏิบัติตามสัญญา และข้อเท็จจริงที่แสดงได้จากการรับภาระที่หนักกว่ามากของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นต้น

ความไม่เป็นธรรมของสัญญา มักจะเกิดขึ้นจากการมีอำนาจต่อรองที่สูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นอำนาจต่อรองในด้านธุรกิจ หรือสถานทางสังคมที่เหนือกว่า นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ หรือความเสียเปรียบที่อาจนำไปสู่สภาวะที่ไม่เป็นธรรมจนทำให้เกิดความไม่สงบสุขในสังคมขึ้นได้

ในหลายๆ กรณี มักจะมีการใช้กลยุทธ์ธุรกิจในการทำสัญญา ที่อาจถือได้ว่าเป็นการ “ร่างแฝง” ของสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ได้แก่ การใช้ “สัญญามาตรฐาน” หรือ “สัญญาสำเร็จรูป”

โดยฝ่ายที่มีอำนาจต่อรองสูงกว่า มักจะใช้ข้ออ้างว่า จำเป็นที่จะต้องตกลงตามข้อสัญญาสำเร็จรูปที่กำหนดไว้ โดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และไม่มีทางเลือกอื่นให้กับคู่สัญญาที่มีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

ซึ่งอาจรวมไปถึงสัญญาขององค์กรภาครัฐที่ทำต่อภาคเอกชน ที่ภาคเอกชนไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องลงนามในสัญญา เนื่องจากเป็น “สัญญามาตรฐาน” ที่ไม่สามารถแก้ไขได้

ประเทศไทยเรา มีกฏหมายคุ้มครองแก่คู่สัญญาที่ต้องเสียเปรียบโดยไม่มีทางเลือก เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540”

โดยในกฏหมายฉบับนี้ กำหนดว่า ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความ “สัญญาสำเร็จรูป” ไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น

ดังนั้น องค์กรธุรกิจ หรือองค์กรภาครัฐ ที่ยังยึดถือข้อความใน “สัญญามาตรฐาน” ของตนเอง และอาจมีเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของกฏหมาย ควรต้องพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้เกิด “สัญญาที่เป็นธรรม” เพื่อแสดงความมีจรรยาบรรณธุรกิจ และยังเป็นการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย

ซึ่งถือได้ว่า เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเด่นชัดขององค์กร ได้อีกทางหนึ่ง !!