เมกะโปรเจคล้านล้าน ต้องวางแผน 'ระบบไฟฟ้า'

เมกะโปรเจคล้านล้าน  ต้องวางแผน 'ระบบไฟฟ้า'

การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ของรัฐที่กำลังรุดหน้าต่อเนื่อง

 โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการลงนามสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง” มูลค่ารวม 92,440 ล้านบาท นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมยังรายงานความคืบหน้า “โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน” เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 179,412 ล้านบาท ว่าจะเสนอให้ครม.เห็นชอบภายในเดือนนี้ หรืออย่างช้าในต้นเดือนก.ค.

ไม่นับรวมเมกะโปรเจคอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต “มูลค่าการลงทุนรวมราว 2.4 ล้านล้านบาท” ซึ่งเป็นการผูกพันงบประมาณในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า เช่น โครงการลงทุนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี), การผลักดันโครงการรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน (บางขุนนนท์)-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศ ,การผลักดันการลงทุนรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง รวมถึงโครงการลงทุนสาธารณูปโภคเชื่อมเส้นทางอีอีซี ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และโครงการรถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรือในภาคตะวันออกฯลฯ 

ล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (ไฮบริด) และขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 สะท้อนถึงการสนับสนุนของรัฐในโครงการลงทุนรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

แน่นอนว่า ข่าวดีเรื่องการเร่งรัดการลงทุนเมกะโปรเจค ย่อมทำให้นักลงทุนไทยและต่างประเทศ เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แง่มุมที่จะเป็น “ผลกระทบ”ตามมา คือ การเตรียมความพร้อมในการผลิตกระแสไฟฟ้า ให้เพียงพอกับความต้องการกับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ โดยที่ผ่านมา รัฐยังไม่ชี้แจงชัดๆกับนักลงทุนว่า ต้องใช้ “กระแสไฟฟ้า” เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ใช้เงินลงทุนเท่าใด ที่สำคัญจะนำไฟฟ้ามาจากแหล่งไหน ในภาวะที่ไทยเข้าใกล้วิกฤติพลังงาน จากหลายปัจจัย เช่น ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า มีระดับการผลิตลดลงต่อเนื่อง ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่ แรงต้านในการสร้างโรงไฟฟ้า เป็นต้น 

มีเพียงความชัดเจนในการหันเห การผลิตไฟฟ้าของประเทศ สู่ “พลังงานหมุนเวียน” มากขึ้น โดยตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) ปี 2558-2579 กำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอยู่ 30% ในปี 2579 จากปัจจุบันไทยผลิตได้แล้วกว่า 10% นอกจากนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังเตรียมศึกษาที่จะผันตัวเองไปสู่ “ผู้ดูแลระบบ” และศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ เดินหน้าสู่การเป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี สะท้อนถึงความยากลำบากในการสร้างโรงไฟฟ้า 

ประเด็นเหล่านี้อาจ“สั่นคลอน”ความเชื่อมั่นในการลงทุน หากรัฐไม่แจกแจงถึง “แผนการจัดหาไฟฟ้า” จากนี้ เอกชนที่คาดว่าจะเข้ามาลงทุน อาจต้องคิดหนัก เพราะหากระบบไฟฟ้าขาดเสถียรภาพ ย่อมกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิต และความสามารถในการแข่งขัน ในที่สุด