วิกฤตการผลิตซ้ำทางสังคมของระบบทุนนิยม

วิกฤตการผลิตซ้ำทางสังคมของระบบทุนนิยม

โดยทั่วไปนักเศรษฐศาสตร์มักให้ความสำคัญ กับพิจารณาถึงการผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจ ของระบบทุนนิยม

 ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับนักสตรีนิยมแล้วการผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจ ไม่อาจแยกขาดจากการผลิตซ้ำทางสังคม อันหมายรวมถึงการสร้างและธำรงไว้ซึ่งความผูกพันทางสังคมระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ ครัวเรือน ชุมชน สังคม และระหว่างคนรุ่นต่าง ๆตั้งแต่ ปู่ยาตายาย ลุงป้าน้าอา พ่อแม่ และลูกหลาน ซึ่งกล่าวอย่างแคบก็คือ การผลิตซ้ำแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจที่ราบรื่นต้องอาศัยการผลิตซ้ำทางสังคมซึ่งต้องพึ่งพิงกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิง และการผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจแนวขยายของระบบทุนนิยมก็มักจะมีผลกระทบในทางลบต่อการผลิตซ้ำทางสังคมที่เป็นรากฐานสำคัญของการผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจเอง ปรากฎการณ์ที่น่าสนใจในปัจจุบันโดยเฉพาะโลกตะวันตก คือ การเผชิญกับวิกฤตการผลิตซ้ำทางสังคม ที่เรียกว่า Crisis of care ซึ่งเกิดจากการเสียสมดุลของการจัดสรรแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานหญิงในพื้นที่ตลาด ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจ และพื้นที่ในครัวเรือนอันเป็นการผลิตซ้ำทางสังคม

ในขณะที่การพิจารณารูปแบบของทุนนิยมแสดงให้เห็นถึง รูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับตลาด แต่มักจะละเลยความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจและการผลิตซ้ำทางสังคม Nancy Fraser นักวิชาการสตรีนิยมจาก New School for Social Research กลับวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า การเปลี่ยนแปลงไปของรูปแบบของการผลิตซ้ำทางสังคม มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบของทุนนิยม

กล่าวคือ Liberal Capitalism ซึ่งเป็นรูปแบบของทุนนิยมในยุคต้นช่วงศตวรรษที่ 19 ได้แยกพื้นที่ในบ้านและสถานที่ทำงานออกจากกัน โดยพื้นที่ในบ้านก็คือพื้นที่ของการผลิตซ้ำทางสังคม ซึ่งมีผู้รับผิดชอบเป็นผู้หญิงและดำเนินไปด้วยกฎของความรักและความอาทร ส่วนพื้นที่ในโรงงานและสถานที่ทำงานก็คือพื้นที่ของการผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีแรงงานส่วนใหญ่เป็นชายและดำเนินไปด้วยกฎของการแข่งขันแบบตลาดซึ่งผูกพันกับเงินตรา การแบ่งแยกพื้นที่ดังกล่าวยังให้ความสำคัญกับพื้นที่ในการผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งผูกพันกับเงินตรามากว่าพื้นที่การผลิตซ้ำทางสังคม

ผลกระทบที่สำคัญก็คือ พื้นที่ของการผลิตซ้ำทางสังคมถูกกระทบหรือได้รับผลกระทบภายนอกในทางลบจากการผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจในรูปของการแบกภาระในเชิงต้นทุน นอกจากนี้ ภาพอุดมคติของการแบ่งแยกระหว่างพื้นที่ของการผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวดังกล่าวเป็นมายาคติที่ไม่ครอบคลุมถึงผู้หญิงและเด็กของชนชั้นแรงงานที่ไม่อาจแยกขาดกับพื้นที่ของการผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจเนื่องจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ข้อจำกัดดังกล่าวเป็นแรงกดทับศักยภาพในการผลิตซ้ำทางสังคม

รูปแบบของทุนนิยมในศตวรรษที่ 20 เป็นรูปแบบซึ่งรัฐเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบภายนอก ในทางลบของทุนนิยมแบบเสรีในรูปของ State- Managed Capitalismโดยรัฐเข้ามาแบกรับภาระบางส่วนของการผลิตซ้ำทางสังคม ผ่านการให้ความสำคัญกับค่าแรงที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัวของหัวหน้าครัวเรือน เรียกว่า family wage ของแรงงานชาย ภายใต้เงื่อนไขของการผลิตและการบริโภคขนาดใหญ่ของมวลชน รูปแบบดังกล่าวทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเพศสภาพ เพราะผู้หญิงต้องพึ่งพิงกับผู้ชายที่เป็นแรงงานหลักผู้หาเลี้ยงครอบครัว และทำให้กลุ่มอื่น ๆของสังคม เช่นแรงงานนอกระบบและผู้คนในภาคเกษตรกรรม ไม่ได้รับผลประโยชน์จากอุดมคติของค่าแรง ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัวอันเป็นเงื่อนไขเฉพาะของแรงงานชายในระบบ

ส่วนทุนนิยมหลังทศวรรษ 1970 จวบจนปัจจุบัน อยู่ในบริบทของยุคเสรีนิยมใหม่และมีรูปแบบที่เรียกว่า Financialized Capitalism ซึ่งให้ความสำคัญกับกลไกราคาโดยลดบทบาทของรัฐลง ภาระของการผลิตซ้ำทางสังคมส่วนใหญ่จึงถูกผลักจากรัฐไปสู่ครัวเรือน ในขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานลดน้อยลง จึงเกิดภาวะที่หญิงและชายในครัวเรือนจำเป็นต้องออกมาทำงานนอกบ้านทั้งคู่ เนื่องจากรายได้ของแรงงานชายซึ่งเป็นหัวหน้าครัวเรือนไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัวเช่นในอดีต เมื่อผู้หญิงต้องออกมาทำงานนอกบ้านและมีชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้น จึงกระทบต่อการผลิตซ้ำทางสังคมในครัวเรือน ซึ่งสะท้อนผ่านการเสียสมดุลระหว่างการจัดสรรเวลา การทำงานในบ้านและนอกบ้านของผู้หญิง นอกจากภาวะการทำงาน 2 กะแล้ว ยังเกิดการเลื่อนอายุการแต่งงานและมีบุตรออกไป มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆในการเจริญพันธุ์ เช่น การแช่แข็งไข่ ซึ่งลดทอนศักยภาพของภาคการผลิตซ้ำในครัวเรือน ให้ถดถอยลงจนก่อให้เกิดวิกฤตการผลิตซ้ำทางสังคม

การที่ผู้หญิงต้องออกมาช่วยหัวหน้าครัวเรือนชายทำงานนอกบ้าน จากเงื่อนไขของความไม่เพียงพอของรายได้ของครัวเรือน ยังสร้างมายาคติให้กับขบวนการสตรีนิยมว่า ผู้หญิงมีความเป็นอิสระมากขึ้นเพราะสามารถปลดปล่อยตนเอง จากพื้นที่ของบ้านออกมามีบทบาทภายนอกบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะเทียบเท่ากับผู้ชาย สะท้อนให้เห็นจากอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้หญิง รวมถึงสัดส่วนของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้นในวิชาชีพต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่ได้รับประโยชน์จากการปลดปล่อยตัวเอง จากพื้นที่ของการผลิตซ้ำทางสังคมเป็นผู้หญิงกลุ่มเล็ก ๆซึ่งมีศักยภาพในการเข้าสู่แรงงานวิชาชีพที่มีรายได้สูง สามารถผลักภาระและปัญหาการผลิตซ้ำทางสังคมในครัวเรือน ไปให้กับแรงงานหญิงรับจ้างที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่าโดยเฉพาะแรงงานหญิงที่มีค่าแรงราคาถูก แรงงานหญิงที่อพยพมาจากประเทศโลกที่สามหรือประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีมาตรฐานการครองชีพและฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า

ข้อถกเถียงสำคัญในปัจจุบันจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้หญิงควรจะออกมาทำงานนอกบ้านหรือไม่ งานที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตซ้ำทางสังคมที่ทำโดยผู้หญิงเช่นการทำงานบ้าน การดูแลเด็ก คนเจ็บ และคนชรา ควรหรือไม่ที่จะถถูกทำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า การมีมูลค่าทางเศรษฐกิจของกิจกรรมต่าง ๆดังกล่าวควรถูกจัดการอย่างไร โดยใคร และภายใต้เงื่อนไขเช่นไร

ด้วยเหตุนี้ วิกฤตการผลิตซ้ำทางสังคมจึงไม่อาจแยกขาดจากการพิจารณารูปแบบการผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจและเป็นใจกลางสำคัญไม่น้อยไปกว่าการผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจ

.......................................................................

กุลลินี มุทธากลิน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย