เหลียวมองมาเลเซียผ่านแคมเปญ Malaysia Loves You

เหลียวมองมาเลเซียผ่านแคมเปญ Malaysia Loves You

ไทยมีแนวคิดที่จะเป็นผู้นำศูนย์กลางทางการแพทย์ (medical hub) ตั้งแต่ปี 2547

 โดยกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดในนโยบาย Thailand 4.0 การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ถูกจัดให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการนำพาประเทศสู่ความมั่งคั่ง ชาวต่างชาติส่วนใหญ่นิยมใช้บริการทางการแพทย์ในไทยโดยเฉพาะศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม และการรักษาโรคเฉพาะทาง เพราะมีคุณภาพที่คุ้มค่าเกินกว่าราคาที่จ่ายไป ประกอบกับไทยมีโรงพยาบาลกว่า 50 แห่ง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก JCI (Joint Commission International Accreditation) 

จากการคาดการณ์ของสถาบันวิจัยชั้นนำอย่าง Allied Market Research (AMR) ชี้ว่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะยังเติบโตโดยเฉลี่ย 15.7% ต่อปี และหนึ่งในสามของมูลค่าตลาดจะยังคงอยู่ในเอเชีย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประมาณรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยในปี 2558 ไว้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ด้วยมูลค่าและแนวโน้มการเติบโตของตลาดจึงไม่ได้มีแค่ไทยที่ต้องการเป็นผู้นำในภูมิภาค แต่ยังมีมาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยทั้งสามประเทศต่างใช้ราคาและคุณภาพการบริการเป็นจุดขายหลัก และที่สำคัญการขยายตัวของตลาดก็ไม่ได้ดึงดูดเฉพาะภาคเอกชนให้เข้าลงทุนแต่รวมถึงภาครัฐด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาเลเซียที่รัฐกระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นหลักในตลาด

ในมาเลเซีย รัฐบาลทั้งในระดับรัฐบาลกลางและระดับรัฐต่างรุกเข้าลงทุนในโรงพยาบาลเอกชนผ่าน Government- Linked Companies – GLCs หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เช่น Johor Corporation (JCorp) ที่รัฐบาลยะโฮร์เป็นเจ้าของ JCrop มีบริษัทในเครือกว่า 280 แห่ง ธุรกิจหลักอยู่ในด้านอสังหาริมทรัพย์ ปาล์มน้ำมัน และธุรกิจสุขภาพ JCrop เข้าลงทุนใน KPJ Healthcare ซึ่งเป็นเครือโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในมาเลเซียมีโรงพยาบาลในเครือถึง 25 แห่ง เพื่อขยายตลาดและฐานลูกค้า KPJ จึงขยายการลงทุนออกไปในอินโดนีเซีย ไทย และบังกลาเทศ นอกจากนี้ยังมี Sime Darby ซึ่งเป็นหนึ่งใน 20 GLCs ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ประกอบธุรกิจหลักอยู่ในอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ด้านปาล์มน้ำมัน และต่อมาขยายการลงทุนออกไปในหลายธุรกิจรวมถึงธุรกิจสุขภาพด้วย

 ในมาเลเซีย Sime Darby เป็นเจ้าของกิจการโรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง คือ Subang Jaya Medical Center Ara Damansara Medical Center และ Park City Medical Center และเมื่อไม่นานมานี้ Sime Darby ได้เข้าร่วมทุนกับ Ramsay Healthcare ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนสัญชาติออสเตรเลียขนาดใหญ่ติดอันดับ Top 10 ของโลก การร่วมทุนนี้เป็นประโยชน์ต่อการขยายตลาดออกไปในอินโดนีเซียและจีน รวมถึงผลักดันให้ Sime Darby Healthcare ก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการในระดับภูมิภาค หรือแม้แต่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ในประเทศอย่าง Petronas ได้ทุ่มทุนในการก่อสร้างและปรับปรุงโรงพยาบาล Prince Court Medical Center รวมแล้วกว่า 1 พันล้านริงกิต เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลระดับ luxury ของประเทศ และในปี 2017 โรงพยาบาลแห่งนี้ได้รับเลือกจาก Medical Travel Quality Alliance (MTQUA) ให้เป็น world’s best hospital ด้วย

อีกหนึ่ง GLCs ที่ก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็วจนเป็นผู้นำด้านธุรกิจโรงพยาบาล คือ IHH Healthcare ปัจจุบันมีโรงพยาบาลทั่วโลกรวม 50 แห่ง มี Parkway Pantai Ltd. (PPL) เป็นเครือโรงพยาบาลหลักและมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยโรงพยาบาลในเครืออยู่ในมาเลเซีย (เครือ Pantai และ Gleneagles) และสิงคโปร์ (ในชื่อ Mount Elizabeth และ Parkway) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระดมทุน IHH จึงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซีย (Bursa Securities) และสิงคโปร์ (SGX-ST) ซึ่งทำให้ IHH กลายเป็นผู้ประกอบการด้าน healthcare ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จากที่รัฐบาลของนาย Najib Razak ต้องการผลักดันให้มาเลเซียเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสร้าง IHH ให้เป็น regional champion IHH จึงเข้าลงทุนใน Acibadem ซึ่งเป็นเครือโรงพยาบาลยักษ์ใหญ่ในตุรกีเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับการเจาะตลาดในตะวันออกกลาง เอเชียกลางและยุโรปตะวันออก ร่วมกับการส่งเสริมการลงทุนในตุรกีจากภาครัฐผ่านข้อตกลง FTAs นอกจากนี้ IHH ยังเข้าลงทุนในอินเดียผ่าน Apollo ซึ่งเป็นเครือโรงพยาบาลอันดับต้นของประเทศ และเร่งขยายการลงทุนใน emerging markets เช่น จีน ฮ่องกง และเวียดนาม 

จะเห็นได้ว่าข้อได้เปรียบสำคัญของโรงพยาบาลภายใต้ GLCs คือ เม็ดเงิน ที่สามารถนำไปใช้สร้างและขยายเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้ทันสมัยเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการชาวต่างชาติได้อย่างครอบคลุม นอกจากนี้ชาวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ารับการรักษาในมาเลเซียเพิ่มมากขึ้นเพราะราคาค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าไทยและสิงคโปร์ บวกกับโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากได้รับมาตรฐานการรับรองจาก JCI และมาตรฐานการรับรองในประเทศ จากความได้เปรียบในหลายด้านทำให้มาเลเซียติดอันดับ Top destinations ด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จากการสำรวจของนิตยสารชั้นนำอย่าง Patients Beyond Borders และยังเป็น Medical Travel Destination of the Year ในปี 2559 จาก International Medical Travel Journal อีกด้วย

ด้วยศักยภาพที่มีทำให้มาเลเซียประกาศถึงความพร้อมด้านการแพทย์และโรงพยาบาลผ่านแคมเปญสำคัญ ‘Malaysia loves you’ ในการรุกสู่ตลาดต่างชาติ ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาดนี้ดุเดือดมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในมาเลเซียมักจะกล่าวกันว่า ‘แข่งกับใครก็แข่งได้แต่อาจจะไม่ใช่กับ GLCs’ เพราะการจะเป็นคู่แข่งกับ GLCs จะต้องมีความพร้อมทั้งศักยภาพและองค์ประกอบอื่นที่เกื้อหนุนต่อการแข่งขัน เมื่อย้อนกลับมามองผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนไทยก็น่าคิดว่าเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดในภูมิภาคไว้หรือไม่ และองค์ประกอบอื่นที่จะสนับสนุนโดยเฉพาะการผลักดันจากภาครัฐมีความพร้อมมากเพียงใด

......................................................

ดร.จุฬณี ตันติกุลานันท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นักวิจัยฝ่าย 1 สกว