จาก New Normal สู่โลกยุค 4.0 (4) : Revisit

จาก New Normal สู่โลกยุค 4.0 (4) : Revisit

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้นำเสนอทางออกให้กับผู้บริหารธุรกิจ รวมถึงนักลงทุนในโลกยุค 4.0 ที่ความผันผวนสูง และอึมครึมไม่แน่นอน

 โดยใช้หลักการบริหารจัดการ VUCA Management หรือการบริหารจัดการกับความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ

หนึ่งในกลยุทธที่จะใช้ในการบริหารจัดการดังกล่าว คือ การระดมสมอง และคาดการณ์ถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและธุรกิจในอนาคต รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มความเป็นไปได้ของกรณีต่าง ๆ (Scenario) เพื่อวางแผนเตรียมการรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น

ณ วันนี้ สถานการณ์ผ่านมากว่าครึ่งปี ผู้เขียนขอกลับมาวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านั้นอีกครั้ง โดยมี 6 ปัจจัยที่มีพัฒนาการชัดเจนขึ้น ดังนี้

1. นโยบายเศรษฐกิจทรัมป์ (Trumponomics) โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ Good Trump หรือการที่รัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ลดภาษี และสร้างโครงสร้างพื้นฐานได้ แต่ไม่ทำสงครามการค้า ขณะที่ Bad Trump คือ เน้นแต่สงครามการค้า และสร้างความขัดแย้ง แต่ไม่สามารถลดภาษีหรือสร้างโครงสร้างพื้นฐานได้

ภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันรวมถึงแนวโน้มในอนาคตคือ Mixed Trump หรือการที่รัฐบาลประกาศเริ่มดำเนินนโยบายบางอย่าง เช่น การยกเลิกนโยบายประกันสุขภาพของโอบามา (Obamacare) การประกาศมาตรการลดทอนภาษี รวมถึงร่างงบประมาณ อย่างไรก็ตาม หนทางที่นโยบายเหล่านี้จะสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรมยังคงอีกยาวไกล นอกจากนั้น การที่ทรัมพ์ต้องตกอยู่ในวังวนของเกมการเมือง โดยเฉพาะประเด็นการขับไล่อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) ทำให้ทรัมพ์ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจได้ยากขึ้น

2. Brexit (มติอังกฤษขอออกจากสหภาพยุโรป) หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษล่าสุด ที่พรรคอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรีเทเรซ่า เมย์ หาเสียงโดยชูประเด็น Hard Brexit ได้คะแนนเสียงน้อยลงไปมาก และอาจต้องจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าการเจรจา Brexit จะกลับกลายเป็น Soft Brexit หรือการที่อังกฤษยินยอมเปิดเสรีผู้อพยพ และยอมจ่ายเงินสมทบให้สหภาพยุโรป แลกกับการที่ยังคงเป็นสมาชิกในตลาดร่วมยุโรป เป็นต้น

3. การเลือกตั้งในยุโรป โดยนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องจนถึงปีนี้ กระแสการต่อต้านโลกาภิวัฒน์ในยุโรปลดทอนลง สะท้อนจากผลการเลือกตั้งหลายประเทศ เช่น ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส รวมถึงในอังกฤษเอง ที่พรรคที่เน้นนโยบายสายกลางจะชนะเลือกตั้ง โดยเฉพาะในฝรั่งเศสที่พรรคของนายเอ็มมานูแอล มาครง ได้ชัยชนะทั้งในระดับประธานาธิบดีและในสภาผู้แทนราษฎร บ่งชี้ว่าประชาชนเริ่มกังกลกับการเมืองของพรรคสุดโต่งที่เสี่ยงต่อความไม่แน่นอนต่าง ๆ

4. ฟองสบู่จีน เป็นที่ทราบกันดีว่า จีนมีความเสี่ยงเศรษฐกิจสำคัญ 3 ประการ คือ หนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นมหาศาล กระแสเงินทุนที่ไหลออกต่อเนื่อง และฟองสบู่ภาคอสังหาฯ โดยในช่วงที่ผ่านมา หลังจากสัญญาณเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว ขณะที่กระแสเงินทุนไหลออกเริ่มลดลง จีนจึงหันไปคุมเข้มด้านการขยายตัวของหนี้ โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยตลาดเงินหลายครั้ง รวมทั้งคุมเข้มสถาบันการเงินที่ทำธุรกิจสุ่มเสี่ยง จนทำให้เศรษฐกิจเริ่มชะลอลง จีนจึงต้องหันกลับมาอัดฉีดสภาพคล่องอีกครั้งหนึ่ง ภาพเหล่านี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนยังคงเปราะบาง และยังต้องการการเข้าดูแลจากภาครัฐ

5. ข้อตกลงการลดกำลังการผลิตน้ำมันระหว่างสมาชิกในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มที่แม้ว่าจะตกลงกันได้ที่จะลดกำลังการผลิตรวมถึง 1.8 ล้านบาร์เรลออกไปจนถึงเดือนมีนาคม 2561 แต่ตลาดน้ำมันยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจาก (1) เศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ทำให้ความต้องการน้ำมันไม่ฟื้นตัวมากนัก (2) การผลิต Shale Oil ของสหรัฐที่กลับมาผลิตมากขึ้น และ (3) ความเสี่ยงที่สมาชิกบางประเทศ เช่น อิหร่าน เวเนซูเอล่า และลิเบีย จะแอบเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ราคาน้ำมันดิบไม่สามารถเพิ่มขึ้นเกิน 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้

และ 6. ความแตกต่างของนโยบายการเงิน (Policy Divergence) เห็นได้ชัดว่าในปีนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีความมุ่งมั่นที่จะลดทอนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยขึ้นดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งและส่งสัญญาณจะขึ้นอีกครั้งในปีนี้และอีก 3 ครั้งในปีหน้า 

ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศหลักอื่น ๆ เช่น ยุโรปและญี่ปุ่นยังส่งสัญญาณอัดฉีดต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้เป็นดังที่ตลาดคาดไว้ เพราะนโยบายการเงินที่ตึงตัวในสหรัฐ มาพร้อมกับสัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอลง โดยเฉพาะประเด็นด้านเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นอย่างยั่งยืน และพร้อมรับมือกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นได้ ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (10 ปี) ของสหรัฐจึงลดต่ำลงต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันอยู่ที่ 2.15% ซึ่งต่ำกว่าก่อนการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของสหรัฐในปี 2558 แล้ว

จาก 6 ปัจจัยดังกล่าว สามารถสรุปปัจจัยต่าง ๆ ออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งได้แก่ยุโรป จากกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ที่ลดทอนลง และทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้น

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่ให้ภาพไม่ชัดเจน ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมพ์ และความเสี่ยงฟองสบู่จีน โดยในส่วนของรัฐบาลทรัมพ์อาจไม่สามารถผลักดันนโยบายเศรษฐกิจได้มากนัก เพราะจมปลักกับความเสี่ยงการเมือง ขณะที่การเข้าช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของทางการจีนบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงอยู่มาก แม้ทางการจะมีกระสุนพอที่จะเข้าช่วยเหลือได้ก็ตาม

กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ได้แก่ประเด็นเรื่องน้ำมันและนโยบายการเงินโลก โดยในส่วนของราคาน้ำมันรวมถึงโภคภัณฑ์นั้น ผู้เขียนเห็นว่าเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางส่งผลให้ความต้องการบริโภครวมถึงราคาน้ำมันไม่สามารถปรับขึ้นได้มากนัก ขณะที่นโยบายการเงินโลกโดยเฉพาะสหรัฐที่ตึงตัวขึ้นก็เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐรวมถึงเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ด้วยเช่นกัน

เมื่อภาพเป็นเช่นนั้น ในระยะต่อไป เศรษฐกิจที่ดูจะสดใสที่สุดน่าจะได้แก่ยุโรป ทำให้ตลาดหุ้นยุโรปยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพ รวมถึงเงินยูโรอาจมีแนวโน้มแข็งค่า แต่ในอีกมุมหนึ่ง เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจรวมถึงตลาดเงินตลาดทุนสหรัฐอาจไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า ผลตอบแทนพันธบัตรอาจไม่สามารถปรับขึ้นได้มาก ขณะที่ราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์ไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งอาจกดดันทิศทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ในช่วงต่อไป

เวลาผ่านไปพร้อมกับภาพปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ยังคงเดิมคือกรอบการวิเคราะห์ หากนักลงทุนรวมถึงผู้ประกอบการแม่นยำในหลักการแล้ว ไม่ว่าปัจจัยจะเปลี่ยนไปเช่นไรก็จะสามารถพลิกความท้าทายให้กลายเป็นความสำเร็จได้ ไม่ยากเลย