ถอดบทเรียนนโยบายรับมือสังคมสูงวัยจากต่างประเทศ

ถอดบทเรียนนโยบายรับมือสังคมสูงวัยจากต่างประเทศ

ปัจจุบันนานาประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7%

 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และประชากรโลกจะกลายเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในอีก 35 ปีข้างหน้า โดยจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรทั้งหมดซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ทุกประเทศต้องเผชิญเพียงแต่ผลที่จะเกิดขึ้นอาจมีความเร็วและความแรงแตกต่างกัน ประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนา ประเทศในแถบยุโรปส่วนใหญ่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว ตามมาด้วยประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รวมถึงไทยด้วย

หลายประเทศในเอเชียต่างเผชิญกับภาวะสังคมสูงวัย (1)สิงคโปร์มีสัดส่วนของผู้สูงอายุใกล้เคียงกับไทยและเป็น Aging Societyแม้สิงคโปร์จะเตรียมแผนรับมือกับความท้าทายดังกล่าวตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ยังคงเผชิญกับปัญหาการมีบุตรน้อยลงและผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังมากขึ้น (2)เกาหลีใต้เข้าสู่ Aged Society แล้ว แต่ยังไม่มีแผนรองรับที่เป็นรูปธรรมและผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีฐานะยากจนและ (3)ญี่ปุ่นมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกและเข้าสู่ Hyper-Aged Societyหรือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดและผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

สำหรับไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากAging Society เป็น Aged Society ในเวลาที่สั้นกว่าประเทศอื่นๆแต่ที่น่ากังวลกว่า คือ ประเทศไทย “แก่ก่อนรวย” จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรที่รวดเร็วและรุนแรงอีกทั้งมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่ ‘เรียนสูง’ น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้เกิดคำถามว่าไทยพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ สามารถสรุปนโยบายหลักๆ ที่ต่างประเทศนิยมนำมาใช้เพื่อเป็นแนวทางเตรียมรับมือกับสังคมสูงวัยซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทยด้วยดังนี้

(1) การขยายอายุเกษียณเป็นนโยบายที่สามารถทำได้ในระยะสั้น แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ถาวรจากงานศึกษาของ Ariyasajjakorn and Manprasert (2014) พบว่าสามารถ ‘เลื่อน’ ผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยออกไปได้ประมาณ 10 ปี ทั้งนี้ หลายประเทศใช้นโยบายนี้เพื่อเพิ่มจำนวนคนวัยทำงานซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยสิงคโปร์เพิ่มอายุเกษียณจาก 65 เป็น 67 ปีและเกาหลีใต้จะขยายอายุเกษียณจาก 55 เป็น 60 ปีภายในปีนี้ญี่ปุ่นจะให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานได้จนถึงอายุ 65 ปีจากเดิมเพียง 62 ปีภายในปี 2025ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ขยายอายุเกษียณของแรงงานในสถานประกอบการจาก 55 เป็น 60 ปี

(2) การสนับสนุนให้บริษัทจ้างงานผู้สูงอายุเป็นนโยบายที่ช่วยสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้ผู้สูงอายุได้รัฐบาลสิงคโปร์ให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุให้ทำงานต่อ (Special Employment Credit)โดยมีเงื่อนไขว่าลูกจ้างต้องเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(Central Provident Fund)เท่านั้น โครงการนี้จึงไม่ครอบคลุมกลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ นอกจากนี้ทางการให้เงินสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เอื้อต่อผู้สูงอายุด้วย(Workpro Program)เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่สนับสนุนให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุโดยจัดตั้งองค์กร “Silver Human Resources Center”เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุได้ทำงานช่วงสั้นลงหรือทำงานที่เบาและง่าย

สำหรับประเทศไทยภาครัฐได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงวัย (Smart Job Center) เพื่อส่งเสริมให้มีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่จ้างผู้สูงวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งต้องมีรายได้ไม่เกิน 15,000บาท อย่างไรก็ตาม แรงงานสูงอายุกลุ่มนี้มีเพียง 3 แสนคน หรือ 2.9% ของผู้สูงอายุทั้งประเทศ นโยบายนี้จึงเป็นเพียงแค่การช่วยเหลือแรงงานเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยไม่ได้สนับสนุนให้มีการนำทักษะและประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างที่หลายประเทศทำกันเท่าใดนัก

(3) การเพิ่มทักษะและจัดหางานให้เหมาะสมกับแรงงาน จะช่วยเพิ่มความสามารถในการหารายได้และยกระดับผลิตภาพของแรงงานในระยะยาว ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบตลอดช่วงอายุ โดยมากมักได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ “Senior Work Program”ในญี่ปุ่น “SkillsFuture Program”ในสิงคโปร์ ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์พัฒนาทักษะเพิ่มเติมควบคู่กับการจัดหางานที่เหมาะสมให้แก่แรงงาน สำหรับประเทศไทยขณะนี้ภาครัฐมีโครงการฝึกอบรมแรงงานสูงอายุเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพที่หลากหลายมากขึ้นและมีการคุ้มครองทางสังคมให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้

(4) การยกระดับคุณภาพชีวิตมีความจำเป็นต้องวางแผนแต่เนิ่นๆ โดยภาครัฐมีส่วนสำคัญในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุรวมถึงการจัดสรรรายได้และรายจ่ายอย่างสมดุลโดยเฉพาะรายได้หลังวัยเกษียณผ่านการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ภาคเอกชนก็มีส่วนช่วยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับสังคมสูงวัย อาทิ ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่คิดค้นหุ่นยนต์สำหรับดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ดูแลที่เป็นผู้หญิงหรืออยู่ในวัยทำงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างหมดห่วงรวมทั้งมีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้ทุกวัยสามารถใช้ร่วมกันได้(Universal Design)

สำหรับประเทศไทย ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ค่อนข้างจำกัด ส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการทางการแพทย์ที่อยู่ไกลจากบ้าน หรือยังไม่มีรถโดยสารในการเดินทางไปต่างสถานที่ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากมีความยากลำบากในการเข้าถึงสวัสดิการจากส่วนกลาง

(5) การมีส่วนร่วมและประสานงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความสำคัญมาก เห็นจากสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่มีแผนนโยบายแห่งชาติเพื่อรองรับสังคมสูงวัย โดยเริ่มวางแผนเตรียมตัวมานานกว่า 50 ปี และมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบายที่มีทิศทางสอดคล้องกันระหว่างกระทรวงต่างๆ ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญอย่างมากที่ประเทศไทยต้องพัฒนาต่อไปทั้งระบบบำนาญจะต้องยืดหยุ่นและสอดคล้องกับแนวโน้มนโยบายด้านแรงงาน ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปยังภาระการคลังในการดูแลสวัสดิการและรักษาพยาบาลอีกด้วย

  ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นจริงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรและเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างยั่งยืนแม้ว่าที่ผ่านมาไทยจะมีการวางนโยบายรองรับไปบ้างแล้ว แต่การวางแผนและการดำเนินนโยบายต่างๆ ยังค่อนข้างกระจัดกระจาย ซึ่งถ้ามีการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบหลักและได้รับความร่วมมือที่ดีจากทุกภาคส่วนจะช่วยให้เกิดแนวทางการรับมือกับความท้าทายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น สุดท้ายนี้ เมื่อประเทศไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกที่กำลังแก่ขึ้นและมีแนวโน้มแก่ก่อนรวยบทความในตอนต่อไปจะวิเคราะห์ว่าไทยจะประยุกต์ใช้นโยบายเหล่านี้อย่างไร เพื่อตอบโจทย์ของประเทศได้เหมาะสมและตรงจุดมากที่สุด

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานศึกษาด้าน Aging ในโครงการ Thematic Studies ปี 2560 จัดทำโดยสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

.......................

ธนภรณ์ จิตตินันทน์

ณัคนางค์ กุลนาถศิริ