นวัตกรรมและอุตสาหกรรม 4.0

นวัตกรรมและอุตสาหกรรม 4.0

อุตสาหกรรม 4.0 จะสร้างคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้า โดยเชื่อมโยงปลาย 2 ด้านของห่วงโซ่อุปทานเข้าด้วยกัน สิ่งที่เข้ามาเชื่อมต่อก็คือ IoT

ด้วยความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ และการเชื่อมต่อแบบไร้สายผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นับวันยิ่งทำให้เห็นเด่นชัดว่าธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ที่ทันสมัยและไฮเทค แต่ที่น่าเสียดายคือการปรับตัวทางด้านบริโภคของคนไทยแรงเร็วไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่การปรับโครงสร้างทางการผลิตยังไม่ไปไหน และดูเหมือนว่าจะไปได้ไม่ไกลมาก เพราะติดขัดในหลายเรื่องและดูเหมือนจะขาดความพร้อมไปเสียทุกอย่าง

 

องค์กรธุรกิจของไทยที่เริ่มขยับปรับตัวไปแล้วมีแน่นอน ส่วนใหญ่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม และผู้บริหารมีวิสัยทัศน์กล้าที่จะลงทุนกับโอกาสใหม่ๆที่กำลังเข้ามา แต่ที่เหลือส่วนใหญ่ยังไม่ไปไหน ยิ่งองค์กรที่เฝ้าแต่รอคอยความช่วยเหลือจากรัฐ หรือนั่งบ่นแต่ปัญหาซ้ำซากดังเดิม โดยไม่พยายามอย่างเต็มที่ที่จะช่วยเหลือตัวเองก่อน เป็นอะไรที่น่าห่วงยิ่งนัก เพราะความจริงแล้วภาคเอกชนในวันนี้มีศักยภาพที่จะไปไกลกว่าทั้งความคิดและการปฏิบัติของภาครัฐมาก ดังนั้นถ้าแขนขายังแข็งแรง สมองยังทำงานได้ดี วิ่งออกไปให้ไกลที่สุดด้วยตัวเองกันเถอะ

 

ที่พูดอย่างนั้นเพราะเพิ่งกลับจากการประชุมวิชาการร่วมกับอีก 20 ประเทศ(เขตเศรษฐกิจ) ของสมาชิกองค์การผลิตภาพแห่งเอเชีย (Asian Productivity Organization) ที่เมืองไทเป ไต้หวัน มีผู้เชี่ยวชาญมามาบรรยายให้ความรู้ทั้งภาพใหญ่ (Macro) และภาพย่อย (Micro) จากหลากหลายประเทศชั้นนำ อาทิ เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ทั้งที่ทำงานด้านวางระบบโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรม 4.0 ทำงานเป็นที่ปรึกษา ทำงานในบริษัทซอฟท์แวร์ชั้นนำของโลก และที่เป็นสตาร์ทอัพ

แต่ที่ทุกคนพูดเชื่อมโยงตรงกันมี 4 คำสำคัญคือ (1) ผลิตภาพใหม่ในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป (Productivity in the Future) เราจะอธิบายคำว่าผลิตภาพอย่างไรใน Smart factory หรือ Smart farm ที่ไม่มีคนทำงาน มีแต่หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (2) การผลิตในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่เครื่องจักรสามารถคุยกับเครื่องจักร โรงงานเชื่อมต่อกับโรงงาน คำสั่งซื้อลูกค้าส่งต่อโดยตรงถึงกระบวนการผลิตและการสั่งวัตถุดิบตรงไปถึงซัพพลายเออร์ (3) การจัดการความรู้ภายในองค์กร ที่แรงงานไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่พนักงาน (knowledge worker) ที่มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และสร้างสรรค์ เป็นที่ต้องการมากขึ้น (4) นวัตกรรมจากบริษัทขนาดเล็กแต่เชื่อมโยงกับการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้ทุกความต้องการได้รับการเติมเต็มอย่างทั่วถึง

Mr. Soichiro Murata ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นจากบริษัทผู้ให้บริการซอฟท์แวร์ชื่อดัง SAP  และยังเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีส่วนผลักดันแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 ในเยอรมนี กล่าวว่านโยบายใหม่ของบริษัทไม่ได้ดำเนินการเฉพาะในเยอรมนีเท่านั้น หากแต่ยังมีส่วนผลักดันในภูมิภาคอื่นทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐ จีน และหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักไม่ได้มาจากการขายระบบ ERP แบบเดิม แต่มาจากระบบใหม่ที่ตอบสนองและรองรับกับอุตสาหกรรม 4.0 ที่เรียกว่า The New SAP (ประกอบด้วย ระบบวิเคราะห์ข้อมูล Analytics ชิพหน่วยความจำ HANA การให้บริการคราวด์ และระบบ Mobile) เมื่อปี 2010 มีสัดส่วนน้อยมาก แต่ในปี 2016 มีสัดส่วนมากกว่ารายได้จากผลิตภัณฑ์หลักอย่าง ERP

 

ซึ่งคุณมุราตะได้ชี้ให้เห็นว่าคนทั่วไปมักคิดว่าด้านตรงข้ามของดิจิทัล (Digital) คือ อนาล็อก (Analog) แต่ที่ SAP ด้านตรงข้ามของดิจิทัลคือ กายภาพ (Physical) หรือโลกจริงที่จับต้องได้ และ IoT หรือ Internet of Thing เป็นตัวเชื่อมสองสิ่งเข้าด้วยกัน เป็นการผสมผสานระหว่างโลกจริงและโลกเสมือน (IoT=Digital + Physical)

 

และด้วยIoT นี่เอง เราสามารถตรวจจับสถานะของสิ่งต่างๆได้ในระยะไกลและคาดการณ์อนาคตได้(Track and Predict) ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก(Zero marginal cost) ทันทีด้วยเวลาที่เกือบเป็นศูนย์(Zero time lag) ในขอบเขตที่กว้างขวางอย่างไม่น่าเชื่อ(Unlimited scale) และเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของสิ่งๆนั้น(Personalization) ซึ่งรวมเรียกว่า5 แรงขับเคลื่อนสู่ดิจิตัล (The Five Forces of Digital)

 

คุณมุราตะ ยังชี้ให้เห็นว่าการเป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) เท่านั้นไม่เพียงพอ โรงงานผู้ผลิตมากมายในญี่ปุ่นที่ทำไคเซ็นและยกระดับปรับเข้าสู่โรงงานอัตโนมัติมานานนับทศวรรษ แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างผลกำไรได้ดีขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรม 4.0 จะสร้างคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้า โดยเชื่อมโยงปลาย 2 ด้านของห่วงโซ่อุปทานเข้าด้วยกัน (end-to-end processes) และสิ่งที่เข้ามามีส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อนี้คือ IoT และ IoP (Internet of Process) เขาได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของบริษัท Harley Davidson ที่สามารถทำการผลิตแบบยืดหยุ่นและตอบสนองกับความต้องการเฉพาะที่หลากหลายของลูกค้าได้ ทำให้การปรับระบบการผลิตจาก Mass Production ที่มี Lead time21 วัน เป็น Mass Customization ตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายได้มากขึ้น และมี Lead time ลดเหลือ 6 วัน อีกทั้งยังมีต้นทุนลดลง 7%

 

ยังมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ และตัวอย่างที่หลากหลายจากหัวข้อและกรณีศึกษาในประเทศต่างๆของการประชุมวิชาการดังกล่าว ซึ่งจะนำมาแบ่งปันให้ได้อ่านกันในครั้งถัดไป