ก้าวให้พ้นเรื่องคดี

ก้าวให้พ้นเรื่องคดี

กรณีการจับกุมนายวัฒนา ภุมเรศ อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

 ก่อเหตุระเบิดในพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายครั้ง นับตั้งแต่ปี 2550  จนกระทั่งสามารถจับกุมได้จากการวางระเบิดครั้งหลังสุดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าจากการสอบสวนนายวัฒนาได้ให้การสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุเพียงคนเดียว โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยทางการเมือง ที่ไม่พอใจรัฐบาลทหารและการปราบปรามกลุ่มคนเสื้อแดง ในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อหลายปีก่อน

จากเหตุผลของการรับสารภาพ โดยอ้างจากคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ ระบุว่ามาจากความคับแค้นใจและไม่พอใจทางการเมืองนั้น ซึ่งมีความผิดจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายอยู่แล้วและเป็นความผิดอย่างไม่ต้องสงสัย แต่กรณีนี้อาจจำเป็นต้องมองข้ามในเรื่องของการลงโทษตามกฎหมาย หากเราต้องการเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งของคนในสังคมและพยายามหาทางแก้ปัญหากันอยู่ขณะนี้ ซึ่งเหตุวางระเบิดหลายครั้งหลายหนจากคนคนเดียวเป็นสิ่งที่เราไม่อาจมองข้ามไปได้ว่าจะไม่เกิดเหตุแบบเดียวกันในอนาคต

จากเหตุผลที่อ้างจากคำสารภาพการก่อเหตุ ชี้ให้เห็นความจริงที่สำคัญประการหนึ่ง คือบาดแผลจากความขัดแย้งที่สร้างความเจ็บปวดของผู้คนนั้น ไม่อาจจะเยียวยาได้โดยง่าย ซึ่งไม่เพียงแต่กลุ่มคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนกลุ่มอื่นที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันด้วย เราเชื่อว่าคนกลุ่มอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกไม่แตกต่างกัน ดังนั้น สาเหตุของการก่อเหตุครั้งนี้จำเป็นอย่างมากที่รัฐบาลซึ่งพยายามสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศต้องกลับมาพิจารณาถี่ถ้วนอีกครั้ง

แน่นอนว่าที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลพยายามสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก ซึ่งการสร้างความปรองดองหรืออย่างน้อยให้คนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองกลับมายอมรับกฎกติกาตามปกตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และจากเหตุผลของการวางระเบิดก็ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการสร้างความปรองดองของคสช.และรัฐบาลแทบไม่มีความหมายหรืออยู่ในการรับรู้ของผู้คนในสังคมมากนัก ซึ่งอาจต้องการกลับมาทบทวนในหลายประเด็นในการแก้ปัญหา

ในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่คสช.เข้าบริหารประเทศนับว่าเหตุความรุนแรงทางการเมืองหายไปจากสังคม ซึ่งหากเปรียบเทียบกับก่อนหน้านั้นนับว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีการแสดงความไม่พอใจเกิดขึ้นเป็นระยะ และจากเหตุระเบิดได้ชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วในช่วงที่คสช.และรัฐบาลบริหารประเทศนั้น ความรุนแรงไม่ได้หายไปไหนและพร้อมที่จะปะทุขึ้นได้ทุกเวลา เพียงแต่ความไม่พอใจแสดงออกด้วยวิธีการอื่น อาทิ การปล่อยข่าวลือ การสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเซียลมีเดีย เป็นต้น

ดังนั้น ปัญหาความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงนั้น ยังเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย ซึ่งจากช่วงเวลาที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าบาดแผลจากความขัดแย้งยังไม่อาจเยียวยาให้หายไปได้ แต่เราก็ยังสนับสนุนวิธีการต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นสังคมต่อไป และหวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนจะยังคงมุ่งมั่นเพื่อลดความขัดแย้งเหล่านี้ลงไป แม้จะต้องใช้เวลายาวนาน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือให้ความคิดเห็นต่างทางการเมืองสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ โดยไม่เกิดสถานการณ์รุนแรง

จากกรณีของนายวัฒนากำลังเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนไทยทุกคน ว่าการแก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงในอดีตนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลายาวนานมาก และอาจเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่าความรุนแรงไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา ซึ่งไม่ว่าจะก่อเหตุจากฝ่ายใดก็ตาม บทเรียนครั้งน่าจะสอนคนไทยให้เรียนรู้อีกครั้งว่าการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดจากอำนาจในระบบหรือนอกระบบ ไม่ได้เป็นทางออกที่ดีของสังคมไทย