อันเนื่องมาจากเรื่อง 'เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ' (3)

อันเนื่องมาจากเรื่อง 'เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ' (3)

ตอนที่ 2 อ้างสภาวการณ์ที่มองได้ว่า เมืองไทยได้ตกขบวนการพัฒนาสู่ความเป็น “เสือแห่งเอเซีย” 2 ครั้ง

คือ หลังการเริ่มเร่งรัดพัฒนาจากวันเปิดประเทศรับฝรั่งพร้อม ๆ กับญี่ปุ่นในสมัย ร. 4 และหลังสงครามเกาหลียุติ ซึ่งเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกงและสิงคโปร์อยู่ในขบวนด้วย ไม่นานหลังเกิดวิกฤตการณ์ 2540 ร. 9 ตรัสว่า “การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพอมีพอกินและมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง”

คนไทยส่วนใหญ่ได้ยินเรื่อง “พอเพียง” เป็นครั้งแรกในโอกาสนั้น แม้พระองค์จะได้ตรัสเรื่องนี้กับผู้ที่ถวายงานมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม หลังจากนั้น ทุกรัฐบาลประกาศว่าจะบริหารประเทศตามแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทางด้านสังคม ต่างประกาศว่าจะปราบความฉ้อฉล แต่ผลได้แก่ ฝรั่งเพิ่งจัดอันดับไทยเป็นหนึ่งใน 3 ประเทศที่มีความฉ้อฉลสูงสุดในเอเซีย ไม่จำเป็นต้องบูชาฝรั่ง แต่หากไม่ฟังเขาบ้างและปราบความฉ้อฉลอย่างจริงจังขึ้น การพัฒนาจะประสบปัญหาสาหัสต่อไป

ทางด้านเศรษฐกิจ นโยบายส่วนใหญ่ยังเดินไปตามแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักโดยหวังพึ่งทุน ตลาดและแรงงานต่างชาติเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราสูงสุด หรือในอีกนัยหนึ่ง ยังหวังพึ่งจมูกคนอื่นหายใจเพื่อตะเกียกตะกายไปเป็น “เสือ” เช่นเดิมแม้จะโหมประชาสัมพันธ์กันอย่างเข้มข้นว่าจะพัฒนาเมืองไทยไปสู่ยุค 4.0 ก็ตาม ในบรรดานโยบายที่จะพัฒนาเมืองไทยไปสู่ยุค 4.0 ซึ่งไม่ประจักษ์ว่าเป็นอะไรนี้มีแนวคิดใหม่และน่าสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับ “ประชารัฐ” และ “เกษตรแปลงใหญ่”

อันที่จริง “ประชารัฐ” มิใช่คำใหม่เนื่องจากมีอยู่ในเพลงชาติและการเปลี่ยนระบบการปกครองเมื่อปี 2475 ก็มีฐานอยู่บนกระบวนการนำไปสู่ภาวะประชารัฐ นอกจากนั้น การจัดการศึกษาตามอุดมการณ์ก็เน้นกระบวนการประชารัฐ กล่าวคือ การร่วมมือกันระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียน (บวร) อย่างไรก็ดี ในการจะยุค 4.0 มีการขยายแนวคิดไปสู่การเชิญเจ้าของและผู้บริหารชั้นอาวุโสของบริษัทขนาดใหญ่ หรือนายทุนเข้ามาร่วมร่างและขับเคลื่อนนโยบายและโครงการของรัฐ เรื่องนี้อาจมีทั้งผลดีและผลร้าย

ผลดีจะเกิดขึ้นได้เฉพาะในกรณีที่นายทุนเหล่านั้น ต้องการจะใช้ความรู้ความสามารถและทรัพยากรของตน เพื่อผลประโยชน์ของสังคม โดยปราศจากวาระแอบแฝงเกี่ยวกับการแสวงหากำไร ในกรณีนี้ สังคมไทยจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “วงจรมงคล” ซึ่งจะแข็งแกร่งต่อไปจนส่งให้เมืองไทยมีโอกาสพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ส่วนผลร้ายจะเกิดขึ้นในกรณีอื่น ๆ และจะยิ่งเสียหายมากขึ้นหากบริษัทขนาดใหญ่สามารถใช้กลไกของตนประกอบกับของรัฐผลักดันให้เกิดตัวบทกฎหมายที่เอื้อให้พวกตนทำกำไรได้ง่ายขึ้น หรือก่อให้เกิดสภาวะผู้ขาดอันเป็น “วงจรอุบาทว์” ที่จะนำไปสู่ความหายนะ ในกรณีเกี่ยวกับเกษตรแปลงใหญ่ ความเสียหายจะไม่เกิดในสังคมโดยทั่วไปมากนัก หากจะเกิดในเฉพาะพื้นที่เมื่อนายทุนมีแรงจูงใจจำพวกเข้าไปสร้างภาวะผูกขาด และจับเกษตรกรเป็นเสมือนทาสในเรือนเบี้ยจากวิธีทำเกษตรกรรมตามแนวพันธสัญญาแบบเข้มข้น

ณ วันนี้ พอจะเป็นที่ประจักษ์หรือยังว่าภาคเอกชน ที่เข้ามาร่วมกับรัฐบาลตามโครงการประชารัฐนั้นมีอะไรเป็นแรงจูงใจเบื้องต้น ?

อนึ่ง แนวคิดพื้นฐานของการรวมพื้นที่ของเกษตรกรรายย่อย เพื่อทำเกษตรแปลงใหญ่น่าจะส่งให้เกิดผลดีมาก หากไม่มีวาระแสวงหากำไรของใครแฝงอยู่ ในกรอบของแนวคิดนี้ “เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ” มีข้อเสนอแนะให้เข้าไปทำนำร่อง ในพื้นที่ซึ่งไม่มีแหล่งน้ำและระบบชลประทานสำหรับทำเกษตรกรรมในฤดูแล้ง องค์ประกอบสำคัญในคำเสนอแนะได้แก่การทำระบบ “สระพวง” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาโบราณที่ใช้ได้ผลดีแม้ในพื้นที่กึ่งทะเลทรายของอินเดียและกำลังขยายไปยังภาคอื่นของโลก จริงอยู่สังคมไทยโดยทั่วไปมักรวมตัวกันเพื่อทำโครงการแนวนี้ได้ยาก 

แต่หากโครงการประชารัฐสร้างแรงจูงใจ พร้อมกับให้บริการทางด้านเทคนิคอย่างเข้มข้น โครงการน่าจะได้ผลดี หากยังไม่รู้ว่าจะไปทำนำร่องที่ไหน ขอเสนอให้พิจารณาหมู่ 10 ตำบลพิกุลออก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก พื้นที่ตรงนั้นอยู่ไม่ห่างจากโครงการปรับเปลี่ยนดินเปรี้ยวให้อยู่ในสภาพที่ใช้เพาะปลูกได้เป็นอย่างดีที่ ร. 9 ทรงอ้างถึงเมื่อ 4 ธ.ค. 2540