เฟดยังไม่น่ารีบขึ้นดอกเบี้ย?

เฟดยังไม่น่ารีบขึ้นดอกเบี้ย?

หากจะถามผมว่านักเศรษฐศาสตร์แนวคณิตศาสตร์จ๋าๆ คนไหนที่เนิร์ดและอาจจะถือว่าคมเชิงวิชาการที่สุดในความเห็นของผม

 ผมตอบโดยไม่ลังเลเลยว่าคือ ดร. นารายานา โคเชอลาโคต้า อดีตสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด และปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ เขาได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจว่า เฟดน่าจะใช้โอกาสที่การจ้างงานของสหรัฐยังสามารถไปต่อได้ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่สูง คงการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ให้เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งกว่านี้ ถึงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ผมรวบรวมความเห็นของนายโคเชอลาโคต้า เพื่อเปรียบเทียบกับมุมมองของเฟดปัจจุบัน

1. อัตราการว่างงานไม่ใช่ตัววัดว่าเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับการจ้างงานแบบเต็มที่ (Full Employment)

นายโคเชอลาโคต้ามองว่ามีอยู่ 3 ดัชนี ที่ควรจะใช้วัด ได้แก่ 1. อัตราส่วนคนที่ทำงานต่อประชาชนที่มีอายุระหว่าง 25-54 ปี หรือวัยทำงาน ซึ่งตอนนี้อยู่ในระดับที่ขึ้นมาเรื่อยๆ ทว่าก็ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 

2. อัตราเงินเฟ้อในส่วนของค่าจ้าง ซึ่งในตอนนี้ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และ 3. อัตราเงินเฟ้อ ที่แม้แต่อัตราเงินเฟ้อแบบ Core Inflation ยังต่ำกว่า 2% มาเกือบจะตลอด

ทั้งนี้ นายโคเชอลาโคต้า มองว่าทั้งหมดทั้ง 3 ดัชนีที่ยังไม่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจปกติ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐมี Slack หรือมีปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่ไม่ได้ทำงานในระบบหรือ idle อยู่ สังเกตได้จากแรงงานสหรัฐในตอนนี้พร้อมจะทำงานแม้จะได้รับค่าจ้างที่ต่ำก็ตาม ส่วนที่นายจ้างต่างๆบ่นกันว่าหาแรงงานมาช่วยงานไม่ได้ ไม่ใช่เป็นเพราะอะไร มาจากการกดค่าแรงลูกจ้างนั่นเอง 

นั่นคือ เฟดควรจะฉวยโอกาสในตอนนี้ที่อัตราเงินเฟ้อยังต่ำอยู่กระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักมากกว่านี้

2. อย่าเชื่อมโยงฟองสบู่ในตลาดหุ้นกับนโยบายการเงินของเฟดให้มากเกินจริง โดยนายโคเชอลาโคต้า มองว่านโยบายการเงินไม่สามารถทำให้ราคาหุ้นลงมาได้แบบที่หลายคนคิดกัน โดยในความจริงแล้ว ตลาดหุ้นถ้าร่วงลงอย่างรุนแรง ในที่สุดแล้วก็จะหาทางปรับตัวกลับมาด้วยตัวของมันเอง เหมือนกับช่วงฟองสบู่อินเทอร์เน็ตในช่วงต้นทศวรรษของปี 2000 สิ่งที่น่าห่วงคือหนี้หรือสินเชื่อมากกว่า ที่กลไกการกำกับสถาบันการเงินต้องเข้มไว้ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสียมากเกินไป

3. การลดขนาดของงบดุลเฟดหรือ Normalization ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน นายโคเชอลาโคต้ามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังเปราะบางเกินไป ลองคิดดูว่าหากอัตราดอกเบี้ยต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินอีกครั้ง เฟดมีอัตราดอกเบี้ยไม่ถึง 1% หากไม่มีงบดุลเฟดเพื่อช่วยเป็นเครื่องมืออีกหนึ่งอย่างน่าจะถือว่าเฟดเสี่ยงเกินไป เขายังมองว่างบดุลขนาด 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ถือว่าไม่เยอะเกินไปสำหรับการเติบโตของสหรัฐในตอนนี้

4. การคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของเฟดเป็นระยะเวลานาน มีส่วนทำให้ไปกดอุปสงค์ของเศรษฐกิจจนกระทั่งทำให้ผลิตภาพหรือ Productivity ของสหรัฐต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยการเน้นนโยบายการคลังจะช่วยในส่วนนี้ได้

ท้ายสุด เฟด ไม่ควรจะ ‘Talk Hawkish, Act Dovish’ เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้ทำให้เกิดบรรยากาศการกระตุ้นให้กิจกรรมเศรษฐกิจคึกคัก นายโคเชอลาโคต้าแนะนำให้เฟดควรจะ ‘Talk Dovish, Act Dovish’ เนื่องจากจะทำให้เอกชนกล้าลงทุนและเพิ่มค่าแรงให้กับลูกจ้างเร็วขึ้น

ผมเชื่อว่าความเห็นของนายโคเชอลาโคต้านั้น มาจากผลของแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ที่มีการใช้ความคาดหวังของตลาดเข้ามาประกอบในการวิเคราะห์ ซึ่งค่อนข้างให้ความสำคัญกับบทบาทของการสื่อสารกับสาธารณชนของธนาคารกลาง ว่ามีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างมาก ส่วนในประเด็นขนาดของงบดุลเฟดผมมองว่ามีความคล้ายคลึงกับความเห็นของนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟด ว่าอย่ารีบลดและมีเยอะมากกว่าน้อยสำหรับงบดุลเฟด

นี่คือมุมมองของนายโคเชอลาโคต้าต่อเฟดในตอนนี้ ที่ถือว่าสวนทางกับแนวคิดกระแสหลักในตอนนี้อย่างจังครับ