เกษียณเปี่ยมสุข

เกษียณเปี่ยมสุข

เกษียณเปี่ยมสุข

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่าน เรื่องที่ผมอยากจะนำมาพูดคุยในวันนี้ แม้ว่าจะมุ่งเป้าไปที่ท่านผู้อ่านที่อายุใกล้เกษียณหรือเกษียณแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแบบตามอายุหรือตามสมัครใจแต่ก็คิดว่าน่าจะพอเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านที่อยู่ในวัยที่เตรียมเกษียณเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนเกษียณได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนะครับ

ประเด็นแรก ก็คือ เกษียณอย่างไรให้มีสุข ถ้านี่คือเป้าหมายที่นี้เราลองมาแตกประเด็นให้สามารถจับต้องได้มากยิ่งขึ้นกันดีกว่า อย่างแรกที่ผมนึกออก คือ เราสามารถที่จะใช้ชีวิตได้ในสิ่งที่เราอยากทำ ไม่ว่าจะเป็นได้ใช้ชีวิตสังสรรค์กับเพี่อนฝูง หรือท่องเที่ยวกับครอบครัว จับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่อยากได้ เป็นต้น แค่นี้ก็จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องใช้เงินทั้งสิ้น ประการที่สองคือมีสุขภาพกายที่ดี และมีสุขภาพจิตที่ดี ผมคิดว่าแค่นี้ก็น่าจะตอบโจทย์ของคำว่าเปี่ยมสุขได้พอสมควรแล้ว

ทีนี้ถ้าจะทำให้เราสามารถตอบโจทย์ที่กล่าวมาได้นั้นปัจจัยที่สำคัญ คือ เรามีการเตรียมความพร้อมที่ดีแล้วหรือไม่หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ เรามีปัจจัยพื้นฐานที่พร้อมแล้วหรือไม่ สิ่งที่ผู้เกษียณมีมากกว่าคนวัยทำงาน ก็คือ เวลา และเงินเก็บ นั่นหมายความว่า เราควรที่จะใช้สินทรัพย์ที่สำคัญทั้งสองอย่างนี้ให้เกิดประโยชน์หรือมีผลตอบแทนที่ดีที่สุด แต่สิ่งที่คนวัยเกษียณขาด (ในกรณีของคนทั่วๆไปนะครับ) ก็คือ รายได้ประจำ (ทั้งในปัจจุบันและอนาคต) ดังนั้นเราจึงควรต้องปิดจุดอ่อนข้อนี้ให้ดีเช่นกัน

ประเด็นแรกเมื่อต้องการใช้เงินเราก็ต้องมีเงินเก็บ ซึ่งเงินก้อนนี้อาจมาจากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินจากการเก็บออมลงทุนในช่วงวัยทำงาน ประเด็นสำคัญที่ต้องคิดหรือตอบคำถาม คือ เราต้องการใช้เงินก้อนนี้ไปทั้งหมดหรือจะมีเหลือไว้เป็นมรดกไว้ให้รุ่นลูกหรือหลานของเรา ซึ่งข้อนี้เป็นคำถามที่สำคัญสำหรับคนที่จะเตรียมตัวเกษียณเช่นกันเพราะคำตอบของการมีเงินก้อนที่เพียงพอให้ใช้สำหรับชีวิตหลังเกษียณจะต่างกันทันที เพราะโมเด็ลเกษียณบางโมเด็ลจะมีการนำเงินต้นมาใช้จนหมด ซึ่งจะทำให้ไม่มีเงินเหลือสำหรับรุ่นถัดไป

ประเด็นที่สอง คือ ต้องทำการประเมินค่าใช้จ่ายต่อเดือนหรือต่อปี โดยอย่าคิดแต่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพียงอย่างเดียว โดยเราต้องรวมถึงค่าใช้จ่ายที่คิดว่ามันสามารถสร้างสุขให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการสังสรรค์ ท่องเที่ยว ซื้อของ หรือค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพ ออกกำลังกาย เมี่อได้ค่าใช้จ่ายแล้ว ต่อมาก็ต้องประเมินรายได้ ซึ่งโดยหลักการก็คือ รายได้ต้องมากกว่าค่าใช้จ่าย ถ้าไม่ใช่ก็ต้องนำส่วนของเงินต้นมาใช้

ครับนั่นก็คงเป็นหลักการเบื้องต้นที่สุดของการมีชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข จากนี้ผมก็อยากฝากข้อคิดบางอย่างไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น

ประเด็นแรก คือ เราควรกำจัดภาระหนี้สินให้หมดไปหรือให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระและกลายเป็นประเด็นที่เราต้องมาคอยกังวล ไม่ว่าจะเป็นหนี้จากการผ่อนบ้าน หรือรถ และไม่ควรก่อหนี้เพิ่มหลังเกษียณถ้าไม่จำเป็นจริงๆ

ประเด็นที่สอง คือ ให้เงินก้อนของเราทำงานให้หนักด้วยการวางแผนและนำเงินที่มีไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายในการสร้างความสุขให้กับเรา ไม่ว่าผลตอบแทนนั้นจะมาในรูปแบบของเงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าเช่า หรือการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ที่เราลงทุน โดยพยายามให้อยู่บนเงื่อนไขในข้อข้างต้นที่ว่ารายได้ต้องมากกว่ารายจ่าย หรือต้องเป็นภาระต่อเงินต้นให้น้อยที่สุด

ประเด็นที่สาม คือ การเกษียณไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถทำงานได้ อย่าลืมนะครับที่เราเคยพูดไว้ในตอนต้นว่าคนเกษียณมีสินทรัพย์ประการหนึ่งที่มากว่าคนวัยทำงานก็คือ เวลา นอกจากนั้นคนเกษียณยังมีสินทรัพย์อีกสิ่งหนึ่งติดตัวมาทุกคนก็คือ ประสบการณ์ บทเรียน คอนเน็คชั่น ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำธุรกิจ ดังนั้น เราสามารถที่จะตัดสินใจในการที่จะใช้สินทรัพย์ที่เรามีนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (ไม่ใช่ให้เกิดเงินทองหรือผลกำไรสูงสุด) ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาเพื่อ เป็นที่ปรึกษา การก่อสร้างกิจการธุรกิจ (อาจเป็นธุรกิจประเภทสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จก็ได้) หรือการก่อตั้งหรือบริหารองค์กรที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ก็ได้ แต่ก็มีข้อคิดที่อยากฝากไว้คืออย่าโหมงาน หรือทุ่มเทจนมากเกินไปหรือโหมทำจนมากเกินไป ขอให้ยึดหลักให้ทำในสิ่งที่เรารักและมีความสุขกับมัน

ประเด็นสุดท้ายที่อยากฝากไว้ในวันนี้ ก็คือ งานประจำของชีวิตหลังเกษียณของเรา ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบความคิดจากงานประจำแบบดั้งเดิมที่เราเคยทำมาตลอด 30 กว่าปี แต่สิ่งที่ยังคงเหมือนเดิมคือภาระที่เรา “ต้อง” ทำทุก ๆ วันเหมือนเป็นภาคบังคับ ซึ่งงานประจำแนวใหม่ของช่วงหลังเกษียณ ได้แก่ การออกกำลังกาย (1 ชม. ต่อวัน) สวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิ (1ชม.) อ่านหนังสือ จัดสวนหรืองานอดิเรกอื่น ๆ (อีก 1 ชม) และอื่น ๆที่เราคิดว่านั่นคืองานประจำของเรา

ครับท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมีความสุขและโชคดีกับการลงทุนนะครับ