ซื้อ LTF/RMF ไม่ใช่เพื่อลดหย่อนภาษี กำไรกว่า?

ซื้อ LTF/RMF ไม่ใช่เพื่อลดหย่อนภาษี กำไรกว่า?

ซื้อ LTF/RMF ไม่ใช่เพื่อลดหย่อนภาษี กำไรกว่า?

พูดถึงกองทุน LTF/RMF ทีไร ก็มักมีคำว่า ลดหย่อนภาษีหรือประหยัดภาษี ติดคู่มาด้วยตลอด แล้วทำไมอยู่ๆ มาบอกว่า ถ้าซื้อไม่ใช่เพื่อลดหย่อนภาษีจะกำไรกว่า? ผมมีคำตอบครับ

หลักของกองทุนรวมคือ ผู้ต้องการลงทุนรวมเงินกันเพื่อจ้างผู้จัดการกองทุนและทีมงานผู้เชี่ยวชาญมาทำงานแทนเราในการวิเคราะห์และดูแลการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้ ข้อดีของการลงทุนในกองทุนที่ผมมองว่าสำคัญที่สุดก็คือการใช้ต้นทุนด้านเวลาให้คุ้มค่านั่นเอง ด้วยระยะเวลาที่เท่ากันหากดำเนินโดยผู้ที่เชี่ยวชาญมากกว่าก็มักได้ผลที่ดีกว่า และทำให้มีเวลาเหลือไปลงให้กับการทำงานในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญจริงๆ ได้อีก

แต่เพราะกฎหมายอนุญาตให้ค่าซื้อ LTF/RMF ใช้หักภาษีได้ จึงถูกเข้าใจผิดบ่อยๆ ว่า LTF/RMF มีเป้าหมายหลักเพื่อลดหย่อนภาษี ทั้งที่จริงแล้วเป้าหมายหลักคือเพื่อลงทุนและสะสมความมั่งคั่งในระยะยาว บางคนจึงกลายเป็นลงทุนมากเกินความจำเป็นหรืออาจขาดทุน เพราะไม่ได้คำนึงถึงปริมาณการซื้อที่เหมาะสม ผลประกอบการของกองทุน และการเลือกจังหวะเข้าลงทุน

ซื้อในจำนวนที่เหมาะสม ไม่มากไป ไม่น้อยไป

ข้อมูลเรื่องจำนวนสิทธิที่ซื้อแล้วหักภาษีได้เป็นข้อมูลที่ค้นหาได้ทั่วไป (ปัจจุบันคือ LTF/RMF อย่างละไม่เกิน 15% ของเงินได้และไม่เกิน 500,000 บาท) แต่ข้อมูลว่าควรจะซื้อเต็มสิทธิเลยหรือไม่? หรือซื้อจำนวนเท่าไรที่ไม่มากไปและไม่น้อยไป? สำคัญยิ่งกว่า เมื่อมอง LTF/RMF เป็นการลงทุนระยะยาวหรือเก็บเงินเพื่อเกษียณ จึงต้องเอาสถานภาพและเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคนเป็นตัวตั้ง เช่น เมื่อคำนวณแล้วพบว่าต้องมีสินทรัพย์ยามเกษียณสัก 10 ล้านบาทจึงจะเพียงพอสำหรับเรา เราจะมีสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ อยู่เท่าไร และควรวางแผนเติม LTF/RMF ไปอีกเท่าไรในแต่ละปีเพื่อรวมกันแล้วให้ถึงเป้า ซึ่งแผนเหล่านี้ควรอัพเดททุกปีเพราะปัจจัยต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อได้ปริมาณเหมาะสมที่ควรซื้อในปีนี้แล้ว จึงดูต่อว่าเกินสิทธิที่นำมาหักภาษีได้หรือไม่ เพราะจำนวนเงินที่เกินสิทธิหากเอาไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นอาจคุ้มค่ากว่า

เมื่อคิดว่าจำนวนภาษีที่ประหยัดไปคือกำไรที่ได้ เช่น ฐานภาษีหลังหักลดหย่อนประเภทอื่นๆ ไปแล้วอยู่ที่ 15% โดยซื้อและถือกองทุนนี้ไว้ 7 ปีเต็ม ก็จะได้กำไรจากการประหยัดภาษี (แบบคำนวณประมาณง่ายๆ) 15%/7 = 2% ต่อปี และหากกองทุนนี้ได้ผลตอบแทนที่ 4% ต่อปี รวมกันแล้วจะได้ผลตอบแทน 2%+4% = 6% ต่อปี ถ้าการลงทุนในสินทรัพย์อื่นได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี (ที่ระดับความเสี่ยงเท่ากัน) การลงทุนในกองทุนนี้ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

และสมมุติเราซื้อกองทุนเดียวกันนี้เพิ่มอีก จนทำให้ภาษีถูกหักมากขึ้นและเหลือฐานภาษีเพียง 5% ผลตอบแทนรวมจึงลดเหลือ 5%/7 + 4% = 4.7% สินทรัพย์อื่นกลับเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการซื้อกองทุนนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นปริมาณการซื้อที่เหมาะสม จึงควรพิจารณาจากสถานภาพการเงิน เป้าหมายการเงิน การกระจายความเสี่ยง และฐานภาษีประกอบกัน

เลือกกองทุนที่ผลประกอบการดี เทียบกับความเสี่ยงที่รับได้

การเลือกกองควรดูผลตอบแทนย้อนหลัง 3-5 ปีเป็นหลัก และเลือกกองที่ผลตอบแทนมีความสม่ำเสมอ ไม่ใช่สูงโดดขึ้นมาปีเดียว ปีที่เหลือลงไปขาดทุน (เทียบกับกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกันกองอื่นๆ) ถึงแม้ผลตอบแทนย้อนหลังนี้จะไม่ได้ยืนยันอนาคต แต่ก็ใช้คาดเดาแนวโน้มได้ โดย LTF จะมีความผันผวนมากพอสมควร เนื่องจากเป็นการลงทุนในหุ้น ในขณะที่ RMF จะมีให้เลือกหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ทอง อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถ้าใครรับความเสี่ยงได้ต่ำ จะลงในกองตราสารหนี้ หรือกองผสมก็จะเหมาะกว่า

จังหวะการลงทุนเหมาะสม ซื้อตอนถูก ไม่ซื้อตอนแพง

หลายคนเอาความคิดของ LTF/RMF ไปผูกกับภาษี ทำให้นึกถึงและหาซื้อเอาตอนใกล้ๆ สิ้นปีในเวลาที่รอบภาษีกำลังจะสิ้นสุด ทั้งที่ราคาช่วงนั้นมักจะสูงกว่าราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปีเสียอีก ถ้ามอง LTF/RMF เป็นการลงทุน นักลงทุนจะกะจังหวะซื้อสินทรัพย์ช่วงที่ราคาลง (หรือก่อนจะขึ้นสูง) เช่น กองทุนหุ้น ก็ซื้อตอนหุ้นตกเป็นต้น แต่ถ้าใครไม่มีเวลาติดตามข่าวสาร การแบ่งก้อนและซื้อเฉลี่ยไปทุกๆ เดือน ก็ทำให้มีโอกาสได้ราคาที่ดีกว่าซื้อตอนปลายปีอยู่มาก

การวางแผนภาษีไม่เพียงแต่อาศัยความรู้ด้านกฎหมายภาษีอย่างเดียว ความรู้ด้านการเงินการลงทุนและด้านสถิติก็มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะการซื้อ LTF/RMF นี้ หากวางหลักคิดถูกต้องตามหลักการลงทุน ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดครับ