จำเป็นต้องใช้ม.44 แต่ยาเสพติด

จำเป็นต้องใช้ม.44 แต่ยาเสพติด

กรณีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมออกคำสั่งตามมาตรา 44

 แก้ปัญหาและอุปสรรคโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง “ไทย-จีน” ซึ่งเป็นโครงการที่มีการเจรจากันมายาวนานนับปี และแก้ปัญหากรณีคำสั่งศาลปกครองห้าม 7 บริษัทผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร(ส.ป.ก.) ซึ่งถือว่าเป็น 2 โครงการสำคัญที่มีการใช้อำนาจพิเศษเพื่อแก้อุปสรรคสำคัญ โดยคาดว่าจะมีการประกาศใช้คำสั่งดังกล่าวในสัปดาห์หน้า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวไว้

ที่ผ่านมาคสช.และรัฐบาลมีการใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องทางการเมืองและการแก้อุปสรรคสำคัญ ในโครงการพัฒนาตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งก็ปรากฏว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ผ่านมา ไม่มีปัญหามากนัก ด้านหนึ่งอาจไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ แต่อีกด้านหนึ่งอาจเห็นด้วยกับการใช้อำนาจดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและทำให้เกิดความรวดเร็วในการทำงานของรัฐบาล ดังนั้นจึงมักจะมีการเสนอให้ใช้อำนาจพิเศษเสมอเมื่อเผชิญกับอุปสรรคสำคัญ

ผลดีของการใช้อำนาจพิเศษดังกล่าว แน่นอนว่าทำให้เกิดความรวดเร็วและเด็ดขาดในการแก้ปัญหา แต่ผลที่เกิดขึ้นอีกด้านหนึ่ง คือ ทำให้คนที่แก้ปัญหา หรือ บางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการใช้อำนาจพิเศษ เกิดการเสพติดการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเข้าแก้ปัญหา ดังนั้นทำให้ที่ผ่านมา เมื่อเผชิญกับความยุ่งยากหรือความล่าช้าในขั้นตอนก็มักจะมีเสียงเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 จนประหนึ่งว่าการแก้ปัญหาไม่อาจใช้ได้ตามกลไกปกติ จึงทำให้ต้องพึ่งพาอำนาจพิเศษเข้าแก้ปัญหาเพื่อความรวดเร็ว

ประเด็นที่ต้องพิจารณาถึงการใช้อำนาจพิเศษดังกล่าว คือ อาจมีการใช้มากเกินไปหรือไม่ แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะเคยระบุว่าจะมีการใช้อำนาจนี้อย่างระมัดระวังและไม่ใช่ฟุ่มเฟือย โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาประเทศเท่านั้น ดังนั้นเหตุผลและความจำเป็นของการใช้อำนาจตามมาตรานี้จึงสามารถอธิบายได้ แต่คำชี้แจงของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เสนอไปนั้นจะรับฟังได้แค่ไหน ยังเป็นเรื่องที่ต้องประเมินกันอย่างรอบคอบ ซึ่งรัฐบาลต้องตระหนักว่าขณะนี้การคัดค้านไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก

แน่นอนว่าการใช้อำนาจนี้เพื่อแก้ปัญหาในบางเรื่องอาจเป็นผลดีต่อส่วนรวม แต่ในบางเรื่องอาจจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในประเด็นที่มีผลกระทบต่อประชาชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐ ยิ่งรัฐบาลมีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่เท่าไร ผลกระทบต่อประชาชนยิ่งมีมากและมีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การประเมินผลกระทบต่อการใช้อำนาจพิเศษจึงต้องพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน หาไม่แล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีค่อนข้างมากเพราะด้วยขนาดของโครงการต่างๆของรัฐบาล

รัฐบาลต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมที่ค่อนข้างเปิด และเกิดกระบวนการประชาธิปไตยมานานแล้ว ซึ่งการแสดงออกความคิดเห็นหรือการตระหนักถึงสิทธิของตัวเองได้เกิดขึ้นมานานในสังคม และดูเหมือนว่ารัฐบาลก็ตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างดีจึงได้พยายามชี้แจงหรือสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น โดยอาจกล่าวได้ว่าเป็นรัฐบาลที่ไวต่อข้อมูลข่าวสารค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม เราหวังว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้นส่วนหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบหรือยินยอมจากคนในสังคมพอสมควร 

หากคนในสังคมไม่เห็นด้วย ก็เป็นเรื่องยากที่โครงการต่างๆ จะดำรงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งเราเชื่อว่ากระบวนการรับฟังความเห็นยังเป็นสิ่งจำเป็น แม้รัฐบาลและคสช.มีอำนาจพิเศษก็ตาม แน่นอนว่ารัฐบาลต้องการความรวดเร็วตามแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญ แต่เรายังเชื่อในกระบวนการเปิดรับฟังความเห็น จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกันในสังคม และเป็นรากฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยไทยในระยะต่อไป ซึ่งก็เป็นผลดีต่อสังคมไทยในระยะยาว