บทพิสูจน์ผู้นำ

บทพิสูจน์ผู้นำ

ความโปร่งใสในองค์กรจึงไม่ได้หมายถึงเรื่องของการปลอดทุจริตเท่านั้น แต่หมายถึงการสื่อสารกันอย่างเต็มที่เพื่อให้ทุกคนเข้าใจบทบาทของกันและกัน

ความคงเส้นคงวาเป็นคุณสมบัติประการแรกของผู้บริหารในทุกวันนี้ ที่จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนต่างๆ มากมาย เพราะในยามที่ธุรกิจเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วไม่อาจพิสูจน์ฝีมือของผู้บริหารได้ การที่อยู่รอดยืนยงจนผ่านช่วงวิกฤติเศรษฐกิจมาได้ จึงต้องอาศัยความสม่ำเสมอเป็นตัวช่วย เพื่อแสดงให้เห็นความสามารถที่แท้จริงของผู้บริหารที่ดี

คุณสมบัติประการที่ 2 คือ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพราะบ่อยครั้งที่ความผิดพลาดในการทำงานเกิดจากความไม่เข้าใจกันของผู้บริหาร หรือหัวหน้างานกับลูกน้อง เนื่องจากขาดการสื่อสารกันภายในที่ดีพอทำให้ลูกน้องทำงานไปตามคำสั่งโดยไม่ตระหนักว่าสิ่งที่ทำนั้นทำไปเพื่ออะไรและส่งผลอย่างไรกับองค์กร

ในขณะที่ลูกน้องบางคนอาจต่อต้านคำสั่งอยู่ในใจ เพราะไม่รู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริง เพราะบางครั้งผู้บริหารก็ให้ข้อมูลกับทีมงานน้อยมาก อาจเพราะกลัวความลับรั่วไหลไปถึงคู่แข่ง แทนที่พนักงานจะตั้งใจทำอย่างเต็มที่จึงกลายเป็นทำอย่างแกนๆ ซึ่งไม่มีทางประสบผลสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ แต่หากทั้ง 2 ฝ่ายพูดคุยเปิดเผยจะทำให้ทุกคนรับรู้การตัดสินใจนั้นๆ

และเมื่อทุกคนเข้าใจสถานการณ์ที่ผู้บริหารตัดสินใจทำในเรื่องดังกล่าว แต่ละคนก็จะเข้าใจบทบาทและหน้าที่ตัวเอง เพราะรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรและจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง และไม่มีใครอยากล้มเหลว เมื่อรู้เป้าหมายว่างานที่ทำอยู่จะส่งผลให้บริษัทเติบโตได้อย่างไร พวกเขาย่อมทุ่มเททำอย่างเต็มที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน

ความโปร่งใสในองค์กรจึงไม่ได้หมายถึงเรื่องของการปลอดทุจริตเท่านั้น แต่หมายถึงการสื่อสารกันอย่างเต็มที่เพื่อให้ทุกคนเข้าใจบทบาทของกันและกัน รวมถึงตระหนักในความสำคัญของหน้าที่ของแต่ละคนที่มีผลต่อองค์กรในภาพรวมเช่นเดียวกัน

ข้อที่ 3 อย่าหลงตัวเอง เพราะในยุคเริ่มต้นของธุรกิจ เจ้าของหรือผู้บริหารมักจะตัดสินใจดำเนินงานทุกอย่างโดยลำพัง ซึ่งถ้าไม่โชคร้ายจนเกินไปก็จะฝ่าฟันข้อจำกัดทั้งหลายจนประสบความสำเร็จได้ แต่เมื่อบริษัทขยายตัวจนมีลูกน้องมากมาย แต่กลับไม่เปิดโอกาสให้ลูกน้องเพราะเชื่อว่าไม่มีใครทำดีได้เท่าตัวเอง เมื่อนั้นจะทำให้อนาคตของบริษัทขึ้นอยู่กับคนเพียงคนเดียวเท่านั้น

ในขณะที่บริษัทอื่นถ่ายโอนการตัดสินใจและการดำเนินการต่างๆ ให้กับลูกน้อง ย่อมมีโอกาสขยายตัวรับงานได้มากขึ้น ยิ่งถ้าเปิดโอกาสให้ลูกน้องที่เก่งและมีความสามารถมาร่วมงานก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นตามไปด้วย

ข้อที่ 4 คือ การมีส่วนร่วมกับสังคม ถึงแม้แต่ละองค์กร แต่ละบริษัทจะมีนโยบายที่ระบุไว้ว่าต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม แต่ภายในกลายเป็นการรับผิดชอบแต่เพียงคำพูดบนหน้ากระดาษ ไม่มีการกระทำใดๆ สะท้อนความใส่ใจต่อสังคมอย่างจริงจัง ก่อนจะร่างนโยบายนี้ขึ้นในองค์กร เราจึงต้องหันมาพูดคุยอย่างจริงจังถึงความหมายที่แท้จริงของการมีส่วนร่วมกับสังคม และต้องพิจารณาว่า มีอะไรที่เราร่วมรับผิดชอบให้สังคมได้บ้าง มีอะไรที่เราอยากคืนกลับให้สังคม และเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสังคมจริงหรือไม่

เราต้องตระหนักว่าการเติบโตในหน้าที่การงานของเรา หรือความสำเร็จขององค์กร ล้วนเป็นผลจากสังคมให้โอกาส แต่ในขณะเดียวกันสังคมก็มีหลากด้านหลายมิติที่ยังไม่สมบูรณ์และรอให้มีคนเข้ามาเติมเต็มให้ ซึ่งจะรอแต่เพียงความช่วยเหลือของรัฐบาลไม่ได้

โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสที่มีอยู่ในทุกภาคส่วนของประเทศที่อาจเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศได้ หากมีการส่งเสริมเขาได้ถูกจุด แต่หากทิ้งเขาไว้เฉยๆ ก็จะเป็นเพียงภาระของสังคมที่รัฐบาลต้องคอยดูแลเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสไตล์ไหน องค์ประกอบทั้ง 4 ข้อนี้ก็ล้วนช่วยเสริมให้องค์กรมีโอกาสประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้น