ปัญหาความสมดุล

ปัญหาความสมดุล

กรมสรรพากรเตรียมเสนอกฎหมายเก็บภาษีการซื้อขายบนโลกออนไลน์

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการซื้อขายที่อยู่ในดินแดนของประเทศไทย และดำเนินธุรกรรมผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งถือเป็นความพยายามอีกครั้งของหน่วยงานด้านภาษีของรัฐในการขยายฐานภาษีเพิ่มขึ้น และเป็นการปิดช่องการหลีกเลี่ยงภาษี โดยเชื่อว่าหากสามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่รายละเอียดของกฎหมายอาจมีมากและเชื่อว่าร่างกฎหมายที่กำลังจะออกมานี้ คงไม่ไปขัดกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล

ความพยายามในการจัดเก็บภาษีในโลกออนไลน์ ไม่ถือว่าเป็นครั้งแรกที่กรมสรรพากรพยายามผลักดัน และประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่พยายามคิดค้นหาวิธีการจัดเก็บ โดยแต่ละประเทศได้มีความพยายามมานาน นับตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายผ่านโลกออนไลน์กันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็น“ปลายทาง”ของการพัฒนาเทคโนโลยี อย่างเช่น ประเทศไทย ในขณะที่เครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ หรือเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมักจะได้เปรียบในเรื่องของผลประโยชน์ที่ได้จากการทำธุรกรรมออนไลน์

ข้อถกเถียงในเรื่องของภาษีในโลกออนไลน์ที่อาจหยิบยกกันมากล่าวถึงในระยะต่อไป คือ ภาครัฐสมควรจัดเก็บภาษีหรือไม่ และการจัดเก็บภาษีจะส่งผลกระทบกับการพัฒนาทางธุรกิจสมัยใหม่หรือไม่ ซึ่งแนวคิดการจัดเก็บภาษีมักจะวนเวียนในประเด็นเรื่องเหล่านี้ โดยเป็นความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์แห่งรัฐกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากภาครัฐเลือกที่จะยึดเอาผลประโยชน์ในเรื่องการจัดเก็บภาษีเป็นหลัก ก็อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฏกติกาต่างๆของรัฐเป็นอุปสรรคสำคัญของการดำเนินธุรกิจ

อันที่จริง การซื้อขายผ่านโลกออนไลน์ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีฟื้นตัวขึ้นมาจากวิกฤติ เนื่องจากลักษณะของโลกออนลน์จะทำให้เกิดตลาดขนาดใหญ่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และเป็นระบบตลาดที่ไม่มีเวลาปิดทำการ อีกทั้งการซื้อขายก็สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ดังนั้น ตลาดขนาดใหญ่และการซื้อขายจริงๆที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายทำให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งมาตรการใดๆที่ออกมาเพื่อสกัดกั้นหรือเป็นอุปสรรคมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์

ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการจะผลักดันกฎหมายนี้ออกมา ซึ่งหากดูปริมาณธุรกรรมที่ผ่านโลกออนไลน์ ก็จะเห็นว่ามีความจำเป็นต้องจัดเก็บการซื้อขายผ่านโลกออนไลน์จริงๆ เพราะมีมูลค่ามหาศาลและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลอาจต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้มีความชัดเจนและต้องออกกฏกติกาการจัดเก็บที่ค่อนข้างละเอียดมาก เนื่องจากธุรกิจกรรมในโลกออนไลน์มีค่อนข้างหลากหลายและมีผู้เล่นจำนวนมาก ซึ่งเราเชื่อว่าหากรัฐบาลสามารถชี้แจงได้อย่างชัดเจนก็จะได้รับการสนับสนุน อย่างน้อยธุรกิจของคนไทยก็น่าจะเห็นด้วย

ที่สำคัญ มักจะมีการเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่ส่งเสริมการทำธุรกรรมด้านนี้ แต่เราเชื่อว่าแต่ละประเทศย่อมมีมาตรการและวิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นไปตามระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ เราเชื่อว่าอาจจะเป็นแบบอย่างให้กับหลายๆประเทศที่กำลังคิดค้นระบบการจัดเก็บภาษีอยู่ในขณะนี้ แต่คงต้องรอดูมาตรการการจัดเก็บที่ประกาศใช้ออกมาจริงๆ ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะกว่าจะออกเป็นกฎหมายก็น่าจะมีการปรับแก้ไขพอสมควร

เราเห็นว่ามาตรการจัดเก็บภาษีบนโลกออนไลน์นั้น ถือว่าภาครัฐไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะด้านหนึ่งจำเป็นต้องจัดเก็บรายได้เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ ในขณะที่ภาษีอื่นๆมีแต่จะลดลง แต่การซื้อขายหรือธุรกรรมบนโลกออนไลน์กลับมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และกินอาณาเขตของธุรกรรมอื่นๆมากขึ้น ดังนั้น ความท้าทายสำหรับรัฐยุคใหม่ คือ ด้านหนึ่งมีความจำเป็นต้องออกมาตรการ แต่อีกด้านหนึ่งก็กลัวว่ามาตรการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการหาความสมดุลระหว่างสองด้านจึงเป็นคำถามใหญ่ว่ารัฐจะทำอย่างไรในโลกยุคไร้พรมแดน