เรื่องของค่าเงินบาท

เรื่องของค่าเงินบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 5% ใน 5 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ

 ถามว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีกหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าเสียงส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่ก็มีปัจจัยที่น่าจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการคาดการณ์ค่าเงินจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากและผิดพลาดได้โดยง่าย

สาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าคือ การอ่อนตัวของเงินดอลลาร์ สืบเนื่องมาจากการที่ตลาดน่าจะเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์อาจไม่สามารถผลักดันรัฐสภาให้ลงมติเห็นชอบนโยบายลดภาษีรายได้บุคคลและนิติบุคคลดังที่เคยสัญญาไว้ จะเห็นว่าเมื่อต้นปีตลาดมีความหวังสูงกับนโยบายปฏิรูปภาษีของทรัมป์ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับสูงขึ้นที่ 2.6% ในเดือนมีนาคม แต่ปัจจุบันปรับตัวลงมาที่ 2.18% แล้ว และเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงในทำนองเดียวกัน ผมเชื่อว่าตลาดยังคงมีความหวังอยู่บ้างว่า ทรัมป์จะสามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาได้ แต่เป็นขนาดเล็กและอาจต้องรอให้เกิดผลในปีหน้า อย่างไรก็ดีหากไม่มีความคืบหน้าในการขับเคลื่อนกฎหมายผ่านรัฐสภาภายในเดือนกันยายนนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่า อาจทำให้ตลาดผิดหวังและเงินดอลลาร์อาจอ่อนตัวลงไปได้อีก

ทางการไทยก็จะพยายามอธิบายว่า การแข็งค่าของเงินบาทจะมีผลไม่มากนักต่อการส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความต้องการสินค้าเทคโนโลยีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยย้ำว่าการปรับตัวของเงินบาทเป็นการแข็งค่าตามแนวโน้มของเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค แปลว่าประเทศไทยไม่ได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันเพราะอัตราแลกเปลี่ยน “จริง” (เมื่อนำไปเทียบกับประเทศคู่แข่งและคู่ค้าโดยถ่วงน้ำหนักการค้า) นั้นมิได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากธปทดูแลค่าเงินให้อยู่ที่ระดับที่เหมาะสม

การ ดูแลดังกล่าวส่วนหนึ่งหมายถึงการเข้าไปแทรกแซงโดยการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ (ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้น) และขายเงินบาททำให้มีปริมาณเงินบาทในระบบเพิ่ม ซึ่งกดดันให้ดอกเบี้ยในตลาดเงินลดลง โดยเมื่อต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งกำหนดเอาไว้ที่ 1.5% ธปทก็จำเป็นต้องลดจำนวนบาทในระบบลงโดยการขายพันธบัตรระยะสั้น ตรงนี้ทำให้งบดุลของธปทมีสินทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน หนี้สินที่เป็นพันธบัตรสกุลเงินบาทก็จะต้องเพิ่มขึ้นไปด้วย เว้นแต่ว่าจะแทรกแซงโดยไปรับเงินดอลลาร์ในอนาคต เห็นได้จากการที่ฐานซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิ (Net Forward Position) เพิ่มขึ้นจาก 15,600 ล้านเหรียญในวันที่ 27 พ.ค. 2016 มาเป็น 29,200 ล้านในวันที่ 26 พ.ค. 2017 (ตัวเลขล่าสุด) กล่าวคือ ธปทซื้อเงินดอลลาร์แต่ให้ส่งมอบในอนาคตเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ดูเหมือนว่าทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นมากกนัก กล่าวคือจาก 176,100 ล้านเหรียญมาเป็น 184,000 ล้านเหรียญในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาดังกล่าว (ทุนสำรองเพิ่มขึ้นเพียง 8,000 ล้านเหรียญ) แต่ทุนสำรองที่ธปทพึงมีทั้งหมดนั้นได้เพิ่มขึ้นเท่ากับ 8,000 ล้านบวกกับ 13,600 ล้านเหรียญหรือ 21,600 ล้านเหรียญ

ในปี 2016 รายงานของผลกำไรขาดทุนของ ธปท. พบว่า ธปท.ขาดทุน 139,000 ล้านบาท (ปี 2015กำไร 94,200 ล้านบาท) การขาดทุนนั้นมาจาก 2 ส่วนคือ การขาดทุนเพราะรายได้จากเงินตราต่างประเทศต่ำ(ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ 0.75%) ในขณะที่ธปท.ต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรเงินบาท (ที่ออกมาดูดซับสภาพคล่องจากการแทรกแซงเงินบาท) ที่ระดับสูงกว่ามาก (ดอกเบี้ยนโยบายธปท. = 1.5%) ส่วนนี้จึงขาดทุน 80,800 ล้านบาทในปี 2016 อีกส่วนหนึ่งที่ขาดทุนคือการตีมูลค่าสินทรัพย์ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศ (ที่ซื้อมาเก็บเอาไว้เพิ่มเพื่อการแทรกแซงค่าเงินบาท) อีก 58,000 ล้านบาท โดยการแทรกแซงดังกล่าวทำให้ ธปท มีผล ขาดทุนสะสม จนทำให้ส่วนทุนของ ธปท. ติดลบ 746,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2016

แต่จะพูดกันว่าธปท.ทำเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและขาดทุนไม่เป็นไรซึ่งดูจะขัดกับเหตุผลพื้นฐานว่าการขาดทุนจำนวนมากอย่างต่อเนื่องนั้นย่อมไม่ใช่สิ่งที่ดีอย่างแน่นอน แต่ทางการไทยจะยืนยันว่าธปท.จะยังทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ต้องพึงระวังว่าการขาดทุนแปลว่าธปท.จะต้องพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นมาจ่ายดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องซึ่งหากหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก ก็จะต้องพิมพ์เงินมาพยุงหนี้สินเป็นปริมาณมากขึ้นด้วย ทำให้ความสามารถในการควบคุมปริมาณเงินในระบบด้อยลง 

กล่าวคือหากต้องจำกัดการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินในระบบเพื่อควบคุมเงินเพื่อไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น การต้องพิมพ์เงินเพิ่มมาจ่ายดอกเบี้ยย่อมจะทำให้การรักษาวินัยทางการเงินทำได้ยากลำบากยิ่งขึ้น จริงอยู่ปัจจุบันที่มีการขาดทุนสะสมไม่สูงจนน่ากลัว (ประมาณครึ่งหนึ่งของฐานเงินของประเทศและ 5% ของจีดีพี) แต่การขาดทุนอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ย่อมไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์สำหรับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะยาวอย่างแน่นอนครับ