เจาะรหัสอาชีพเสี่ยงตกงานยุค 4.0

เจาะรหัสอาชีพเสี่ยงตกงานยุค 4.0

ผลการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษชี้ ให้เห็นว่า 47% ของตำแหน่งงานในปัจจุบันจะหายไปภายใน 25 ปี

 สาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ นาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่แทนคน ผู้มีโอกาสตกงานจึงไม่ใช่แค่แรงงานในโรงงานเท่านั้น แม้แต่พนักงานในบริษัท ทนายความ ครู ข้าราชการ นักบัญชี รวมถึงผู้ที่ทำงานในภาคการเงิน ก็เสี่ยงต่อการตกงานด้วยเช่นกัน

ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของ World Economic Forum ซึ่งระบุว่า จะมีอาชีพใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าอาชีพเกิดใหม่เหล่านี้มีอาชีพอะไรบ้าง แต่สิ่งที่สามารถระบุได้แน่ชัด คือ ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต มี 10 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การคิดแบบวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การบริหารบุคคล การประสานงานกับคนอื่น ความฉลาดทางอารมณ์ การใช้วิจารณญาณและการตัดสินใจ การบริการ การเจรจาต่อรอง และความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ ซึ่งระบบการศึกษาในปัจจุบันยังไม่สามารถสร้างทักษะเหล่านี้ได้ดีเพียงพอ เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นในห้องเรียนซึ่งเรียนจากตำราเป็นหลัก ระบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมในการสร้างทักษะเหล่านี้ จะต้องเป็นการผสมผสานการเรียนในห้องเรียน การเรียนออนไลน์ ประสบการณ์ในการทำงานจริงเข้าด้วยกัน

ตารางที่แสดงไว้เป็นการสรุปผลการศึกษาของ The future of employment: how susceptible are jobs to computerization ของ Frey and Osborne (2013) พวกเขาได้ประเมินความเสี่ยงของอาชีพต่าง ๆ ว่ามีโอกาสจะตกงานมากน้อยแค่ไหนเมื่อโลกหันมาใช้เทคโนโลยีทำงานแทนคน จากข้อมูลที่แสดงไว้จะเห็นว่า อาชีพส่วนใหญ่ที่เสี่ยงตกงานจะเป็นอาชีพที่ทำงานซ้ำ ๆ ไม่ได้ใช้ทักษะเฉพาะด้าน หรือหากจะต้องใช้ทักษะก็เป็นทักษะในระดับต่ำถึงระดับกลาง เช่น พนักงานขายของทางโทรศัพท์มีโอกาสตกงาน 99% ในอีก 15 ปีข้างหน้า เลขาและธุรกิจมีโอกาสตกงาน 94%

สำหรับอาชีพที่เสี่ยงตกงานน้อยที่สุด ได้แก่ นักสังคมสงเคราะห์ด้านการดูแลสุขภาพจิตและผู้ติดยาเสพติด แพทย์ นักมนุษยวิทยาและนักโบราณคดี รวมถึงวิศวกรทางทะเลและนักออกแบบเรือ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีโอกาสตกงานแค่ประมาณ 1% สิ่งที่อาชีพเหล่านี้มีเหมือนกัน คือ ล้วนแต่เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง ต้องมีการคิด วิเคราะห์ ควบคู่ไปกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์

ผลการศึกษานี้สะท้อนให้เห็นว่า ยุค 4.0 เป็นยุคที่โลกของงานจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากวันนี้อย่างมาก และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่าในอดีต เดิมเราใช้เวลาประมาณ 90 ปีเพื่อเปลี่ยนจากยุค 1.0 มาสู่ยุค 2.0 และอีกประมาณ 100 ปีในการเปลี่ยนจากยุค 2.0 ไปสู่ยุค 3.0 นั่นหมายความว่า สำหรับคนรุ่นก่อน โลกที่เขาอยู่จะคล้ายกับโลกที่คนรุ่นก่อนหน้าอยู่ วิธีการคิด วิธีการมองโลก วิธีการทำงาน จึงไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ ระบบการศึกษาในยุค 2.0 หรือ 3.0 จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนหลาย ๆ รุ่นได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์กันว่าเราจะใช้เวลาแค่ไม่เกิน 50 ปีในการพาโลกไปสู่ยุค 4.0 การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงมีความรวดเร็วขึ้นมากกว่าที่ผ่านมาอย่างน้อยเท่าตัว ความเร็วในระดับนี้หมายความว่า สิ่งที่คนรุ่นหนึ่งเรียนรู้และใช้ประโยชน์ อาจจะกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงสำหรับคนรุ่นต่อมา การศึกษาแบบ 2 ปี ได้ใบประกาศ 4 ปีได้ใบปริญญา จึงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป เพราะกว่าจะเรียนจบ สิ่งที่เรียนก็อาจล้าสมัยแล้ว

ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ความเร็วของการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่งสัญญาณให้เรารู้ว่าโลกในยุคต่อไป การมีทักษะจะสำคัญกว่าการมีวุฒิ โอกาสได้งานหรือตกงานขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน ว่าจะพัฒนาทักษะของตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานได้มากน้อยแค่ไหน การศึกษาที่สอนให้คนรู้บางเรื่อง จะกลายเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว การศึกษาที่จะพาคนไปข้างหน้าได้ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้คนสามารถเรียนรู้ทุกเรื่องได้ด้วยตัวเอง นี่คือโจทย์ใหญ่ที่คนในวงการศึกษาไทยต้องคิดกันอย่างจริงจังเสียที