อันเนื่องมาจากเรื่อง 'เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ' (2)

อันเนื่องมาจากเรื่อง 'เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ' (2)

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมนำข้อสรุปส่วนหนึ่งของหนังสือ ซึ่งเพิ่งเขียนเสร็จเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ” มาเสนอว่า

 โลกกำลังตกอยู่ในสภาวะสงคราม ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และสงครามระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สภาวะเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อน ในย่านตะวันออกกลางยังผลให้สังคมในย่านนั้นล่มสลาย ปรากฏการณ์เช่นเดียวกันเกิดขึ้นในย่านอื่นในเวลาต่อมา อาทิเช่น ในอาณาจักรมายาและในหมู่เกาะอิสเตอร์

ปัจจัยพื้นฐานของปรากฏการณ์เหล่านั้นได้แก่ การเพิ่มขึ้นของประชากรท่ามกลางความร่อยหรอลงของทรัพยากรธรรมชาติ ความร่อยหรอลงนั้นเกิดจากการถูกนำมาใช้โดยมนุษย์ ทั้งเพื่อสนองความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตและเพื่อทำสิ่งที่ไม่มีความจำเป็น อาทิเช่น สร้างอนุสาวรีย์ขนาดยักษ์อย่างแพร่หลายและกินอยู่แบบสุรุ่ยสุร่ายอย่างกว้างขวาง ในปัจจุบัน ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อม ๆ กับการใช้ทรัพยากรแบบสุรุ่ยสุร่ายในขณะที่ทรัพยากรโลกกำลังร่อยหรอลง ส่งผลให้เกิดความขาดสมดุลของระบบนิเวศอย่างร้ายแรงและการแย่งชิงกันอย่างเข้มข้นในสังคมมนุษย์

เนื่องจากทรัพยากรไม่มีทางเพิ่มขึ้นนอกจากจะไปหามาจากนอกโลก การลดความขาดสมดุลและการแย่งชิงกัน จะต้องเกิดจากการลดจำนวนประชากร และความต้องการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็นของแต่ละคน นั่นหมายความว่า จะต้องไม่เกิดนโยบายส่งเสริมการ “มีลูกเพื่อชาติ” เพื่อหวังให้รุ่นหลังทำงานสนับสนุนผู้สูงวัย 

ทั้งนี้ เพราะรุ่นหลังต้องใช้ทรัพยากรเช่นกัน ตรงข้าม ควรมีมาตรการจูงใจให้แต่ละครอบครัวมีลูกไม่เกินสองคนส่งผลให้จำนวนประชากรค่อย ๆ ลดลงจนกระทั่งถึงระดับที่ทรัพยากรธรรมชาติสนับสนุนได้โดยไม่ต้องทำลายป่า อากาศ ดินและน้ำดังที่ทำกันอยู่

พร้อมกันนั้นจะต้องเกิดนโยบายลดการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็นของแต่ละคน ในระบบตลาดเสรี ระบบภาษีเป็นมาตรการที่มีพลังสูงมากนอกเหนือจากการใช้กฏหมายและการใช้ปืนจี้ ด้วยเหตุนี้ ระบบภาษีต้องถูกยกเครื่องโดยเน้นการใช้ภาษีอัตราสูงสำหรับสินค้าและบริการที่เกินความจำเป็น อาทิเช่น น้ำหวานอัดลม ปูขน หูฉลาม ปลาและผลไม้จากแดนไกล บ้าน รถยนต์และเครื่องประดับราคาทะลุเพดาน การบริการในสถานอาบอบนวดและศัลยกรรมจำพวกปรับแต่งร่างกายเพื่อให้ดูงาม ในขณะเดียวกัน งดภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีที่ไม่มีผลต่อการบริโภคเกินความจำเป็น อาทิเช่น ภาษีการโอนที่ดินและสินทรัพย์ภายในประเทศ

การพึ่งตนเองได้เป็นเป้าหมายสำคัญของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้เพื่อป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ภายนอก มองจากมุมนี้ มาตรการจำพวกที่กระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่องจึงไม่เป็นไปตามแนวคิดรวมทั้งการให้เช่าที่ดินระยะยาวแบบ 99 ปีเพื่อสร้างศูนย์การค้าในพื้นที่ซึ่งควรจะสงวนไว้เป็นปอดของเมืองขนาดใหญ่ และโรงงานในย่านที่ควรจะยังมีสภาพเป็นป่า

เกี่ยวกับเรื่องจะพึ่งหรือไม่พึ่งทุนต่างชาตินี้มักมีความเห็นต่างกัน ย้อนไปเมื่อสมัยญี่ปุ่นและไทยเริ่มเร่งรัดพัฒนาหลังเปิดประเทศค้าขายกับฝรั่งพร้อม ๆ กันในสมัย ร. 4 ญี่ปุ่นไม่หวังพึ่งทุนต่างชาติ แต่ต้องการพึ่งแนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ จึงส่งคนรุ่นหนุ่มไปเรียนในยุโรปซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของการปฏิวัติอุตสาหกรรม คนรุ่นหนุ่มนั้นกลับไปช่วยกันสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและพัฒนาประเทศจนสำเร็จทำให้ญี่ปุ่นเป็น “เสือแห่งเอเซีย” ตัวแรก ต่างกับหนุ่มไทยที่รัฐบาลส่งไปเรียนในยุโรปซึ่งกลับมายึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ส่วนเกาหลีใต้อาศัยทุนต่างชาติในการเร่งรัดพัฒนาพร้อม ๆ กับไทย (อีกครั้ง) หลังสงครามเกาหลียุติ เกาหลีใต้มีทรัพยากรน้อยกว่าไทย แต่พัฒนาสำเร็จเป็น “เสือแห่งเอเซีย” รุ่นที่ 2 ได้ด้วยปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งการมีผู้นำที่แข็งแกร่ง และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เหมาะสม พร้อมกับการสร้างระเบียบวินัยและการปราบความฉ้อฉลอย่างจริงจัง ส่วนไทยยังคงขาดระเบียบวินัยและไม่ปราบความฉ้อฉลอย่างเข้มข้นและจริงจัง แต่หวังพึ่งทุนต่างชาติต่อไป ทั้งที่มีบทเรียนอันเจ็บปวดเมื่อการพึ่งทุนต่างชาติมากนำไปสู่ความล้มละลายในปี 2540

ในปัจจุบัน การหวังพึ่งทุนผู้อื่นของไทยมิใช่จะมีแต่ในระดับรัฐบาล หากได้ฝังลึกลงไปในจิตใจของคนไทยโดยทั่วไปแล้วอีกด้วย โดยเฉพาะหลังเกิดมาตรการกระตุ้นคนไทย ให้สร้างความร่ำรวยด้วยการก่อหนี้เมื่อปี 2544 สภาวการณ์เช่นนี้ชี้ว่า ทั้งรัฐบาลและคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง