หยั่งรู้ดิจิทัล ศาสตร์แห่งความอยู่รอด(7):AI Challenge

หยั่งรู้ดิจิทัล ศาสตร์แห่งความอยู่รอด(7):AI Challenge

เมื่อกระแสการเติบโตของสมาร์ทโฟนเริ่มอิ่มตัว โดยเติบโตเพียง 3% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเคยอยู่ในระดับ 10% ในปีก่อนหน้านี้

จึงทำให้ผู้นำดิจิทัลยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล แอ๊ปเปิ้ล อเมซอน เฟซบุ๊ค หรือไมโครซอฟท์ ต่างหันเข้าหานวัตกรรมอัฉริยะอย่าง Artificial Intelligence หรือ AI เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจและผลิตภัณฑ์ เห็นได้จากการประกาศตัวของกูเกิลในงาน Google I/O 2017 ว่ากูเกิลได้เปลี่ยนกลยุทธ์จาก Mobile First มาเป็น “AI First

ถึงยุค AI First

กูเกิลได้อินทริเกรทเอา AI เข้าไปอยู่ในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นเสิร์ช (Search), แอนดรอยด์, Gmail, Google Photos, Google Assistant, Google Cloud Platform และระบบดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อให้สามารถให้บริการที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด 

ตัวอย่าง กูเกิล เสิร์ช จากเดิมเป็นเพียงการส่งคำตอบจำนวนมากมายให้ปรากฏบนหน้าจอแสดงผลและให้กับผู้ใช้งานเลือกหาคำตอบที่ใกล้เคียงตามต้องการ แต่จากนี้ไปด้วยความสามารถของ AI กูเกิลจะส่งคำตอบที่ตรงหรือใกล้เคียงตามคำค้นหา รวมถึงเตือนหรือให้ข้อมูลการนัดหมาย การชอปปิงหรือกิจกรรมอื่นๆ การค้นหาข้อมูลทำได้ด้วยเสียงหรือภาพ โดยเฉพาะการค้นหาด้วยเสียง (Voice Platform) อย่าง Google Assistant ซึ่งสามารถคุยสนทนากับผู้ใช้งานได้อย่างสมาร์ทและถูกติดตั้งในผลิตภัณฑ์เช่น Google Home หรืออุปกรณ์ที่ใช้ระบบแอนดรอยด์

จากสถิติพบว่าในปีที่ผ่านมามีการค้นหาข้อมูลผ่านทางเสียงเพิ่มขึ้นเป็น 20% โดยผลลัพธ์ที่ได้มีความถูกต้องถึง 95% ดังนั้นหากกูเกิลอินทริเกรทเอา Google Assistant เข้ากับพันธมิตรอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอย่างจีอี (GE) เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถบอกหรือสอบถามเครื่องซักผ้าหรือเตาอบถึงการทำงานต่างๆ ได้จึงเป็นการท้าทายต่อคู่แข่งสำคัญ อย่าง Alexa ของอเมซอน ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมากจากเครื่อง Amazon Echo รวมถึง Siri ของแอ๊ปเปิ้ล ล่าสุดได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ชื่อว่า “HomePod” ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องระบบเสียงที่ไพเราะเหนือชั้น เห็นได้ว่าทุกค่ายล้วนแต่เร่งพัฒนานวัตกรรม AI ในขณะนี้

ความท้าทายของ Deep Learning

เมื่อ DeepMind ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำด้านนวัตกรรม Deep Learning ของกูเกิลได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการที่ แพลตฟอร์มอัลฟ่าโกะ (Alpha Go) สามารถเอาชนะแชมป์โกะระดับโลกในทุกสนาม รวมถึงการโค่นแชมป์ Ke Jie ของจีนเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่าน และได้ประกาศแขวนนวมจากสังเวียนเกมโกะไปในโอกาสเดียวกัน

ดีมิส ฮาซซาบิส (Demis Hassabis) ซีอีโออัจฉริยะของ DeepMind เปิดเผยถึงการทำงานของนวัตกรรม Deep Learning ที่ Alpha Go ใช้ในการพัฒนาตัวเองโดยการศึกษาและฝึกฝนเล่นเกมเพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมประสบการณ์ในการเล่นนับล้านครั้ง จนมีข้อมูลมากพอในการตัดสินใจการเคลื่อนหมากแต่ละครั้ง โดยดีมิส กล่าวว่าความเป็นไปได้ของการเคลื่อนหมากในกระดานมีมากกว่าจำนวนอะตอมในจักรวาลเสียอีก 

ดังนั้นการฝึกฝนของ Alpha Go จึงเป็นการเรียนรู้การเล่นเกมจากข้อมูลที่มีอยู่ (Data Set) และการฝึกฝนการเล่น (Training) ของระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้เข้าใจการเล่นและผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งคล้ายกับการแมพข้อมูลที่เข้า (Input Mapping) เข้ากับผลลัพธ์ที่ออกมา (Output) ด้วยประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์ที่สูงเพียงพอและจำนวนชุดข้อมูลที่มากพอ จะทำให้การประมวลผลและการตัดสินใจถูกต้องมากที่สุด

AI เป็นนวัตกรรมที่พัฒนามาจาก Neural Network ที่คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้และเลียนแบบการตัดสินใจของมนุษย์ผ่านโลจิกหรือกฎที่กำหนดขึ้น โดยมีส่วนที่ถูกนำไปพัฒนาต่อเป็น “Machine Learning” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถศึกษาและจดจำแบบ (Pattern Recognition) และทำนายผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น แต่นวัตกรรมที่กำลังจะพลิกโฉมทุกอุตสาหกรรมในขณะนี้อาจเป็น “Deep Learning” ซึ่งเป็นส่วนย่อยของ Machine Learning ที่คอมพิวเตอร์สามารถฝึกฝนตัวเองได้ เช่นเทคโนโลยีใน Speech Recognition หรือ Image Recognition รวมถึง Alpha Go ที่สามารถเอาชนะมนุษย์ในเกมโกะได้แล้ว

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซีอีโอแห่งบริษัทเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ ยอมรับว่าธุรกิจไม่สามารถมองข้ามนวัตกรรมและความก้าวหน้าของ AI ได้อีกต่อไป โดยบริษัทของเขาที่เป็นเจ้าของรถไฟสาย Burlington Northern Santa Fe และบริษัทประกันภัยชั้นนำที่ชื่อ Geico จะได้รับผลกระทบจากนวัตกรรมรถบรรทุกไร้คนขับ (Driverless Truck) ที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยของการขนส่งด้วยรถบรรทุก ทำให้ได้รับความนิยมและราคาในการขนส่งลดลง ซึ่งจะส่งผลให้พรีเมียมประกันรถยนต์ลดลงในทางอ้อม และมีผลต่อรายได้ของบริษัทและโอกาสทางธุรกิจที่จะเปลี่ยนไปจากเดิม

หลักคิดดิจิทัล

ไม่จำเป็นที่ธุรกิจต้องพัฒนานวัตกรรม AI ได้เอง แต่ผู้บริหารควรมีวิสัยทัศน์ในการเลือกใช้ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานหรือการผลิต เพื่อให้พร้อมต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่หุ่นยนต์และ AI ได้เข้ามาทดแทนงานบางส่วนแล้ว และคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากนวัตกรรมที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว ผู้บริหารต้องเข้าใจและเตรียมปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากคู่แข่งหน้าเดิมที่มีวิสัยทัศน์ หรือคู่แข่งหน้าใหม่ที่อาจไม่เคยอยู่ในสังเวียนมาก่อนก็เป็นได้