รถไฟฟ้าไร้คนขับ (EV, AV) ตอนที่ 2

รถไฟฟ้าไร้คนขับ (EV, AV) ตอนที่ 2

ครั้งที่แล้ว ผมเขียนถึงการที่ซีอีโอของบริษัทฟอร์ด นาย Mark Fields ถูกปลดออก

 โดยแต่งตั้งประธานบริษัทลูกที่มีหน้าที่พัฒนารถ EV, AV มาแทนที่เพื่อขับเคลื่อนฟอร์ดไปในทิศทางดังกล่าวอย่างเร่งรีบ เนื่องจากเห็นได้ชัดว่านักลงทุนให้มูลค่ากับหุ้นของเทสล่า ซึ่งมีบทบาทนำในด้านนี้ กล่าวคือราคาหุ้นเทสล่าสูงกว่าราคาหุ้นของฟอร์ดเกือบ 30 เท่า (หุ้นฟอร์ดราคา 11.10 เหรียญ หุ้นเทสล่าราคา 309.23 เหรียญ) ทั้งๆ ที่หุ้นฟอร์ดมีกำไรต่อหุ้น 0.93 เหรียญ ในขณะที่หุ้นเทสล่าขาดทุนหุ้นละ 4.77 เหรียญ

พัฒนาการของรถยนต์ใน 20 ปีข้างหน้านั้น มีลักษณะสำคัญแยกออกได้ 2 ประการคือ ระบบการขับเคลื่อนที่น่าจะเปลี่ยนจากรถสันดาปภายใน (internal combustion engine-ICE) ที่เราใช้กันอยู่ในขณะนี้ มาใช้ระบบที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (electric drivetrain) และในอีกด้านหนึ่งคือพัฒนาการของรถจากที่ปัจจุบันต้องขับและบังคับโดยคนขับรถมาเป็นรถไร้คนขับ หรือที่เรียกกันว่า driverless หรือ autonomous vehicle เดิมทีนั้นผมคาดว่า EV จะมาก่อน AV แต่อาจเป็นไปได้มากว่า AV จะมาพร้อมกับ EV ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะเกิดความพลิกผันครั้งยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ การขนส่งส่วนบุคคล และระบบขนส่งสาธารณะ

ในเรื่องของ EV หรือรถไฟฟ้านั้น พอจะสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

เครื่องไฟฟ้านั้น ได้เปรียบเครื่อง ICE ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างเทียบกันไม่ติด กล่าวคือเครื่องไฟฟ้าถูกกว่า สึกหรอน้อยกว่า มีต้นทุนการบำรุงรักษาต่ำกว่า (มีชิ้นส่วนที่สึกหรอเพียง 20 ชิ้นในขณะที่เครื่อง ICE มีชิ้นส่วนที่ต้องบำรุงรักษา 2,000 ชิ้น) และเครื่องไฟฟ้ายังมีอัตราเร่งและความเร็วสูงสุดเทียบเท่ากับรถซูเปอร์คาร์ปัจจุบันที่ราคาขายคันละ 20-40 ล้านบาท

ประเด็นที่ยังทำให้ต้นทุนของระบบขับเคลื่อน (drivetrain) รถไฟฟ้ายังสูงกว่ารถ ICE คือราคาแบตเตอรี่ ซึ่งต้องเก็บไฟและใช้เวลาชาร์จไฟนาน ซึ่งแบงค์ออฟอเมริกาประเมินว่า ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้ามีต้นทุน 17,900 เหรียญ ในปี 2015 สูงกว่าต้นทุนของระบบขับเคลื่อน ICE ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาน 6,500 ดอลลาร์ แต่คาดการณ์ว่า ต้นทุนของระบบขับเคลื่อนไฟฟ้านั้นจะลดลงเฉลี่ย 6% ต่อปี ขณะที่ต้นทุนระบบขับเคลื่อน ICE นั้น จะสูงขึ้นปีละ 1.5% แปลว่าต้นทุนของทั้งสองระบบขับเคลื่อนจะใกล้เคียงกันภายในประมาณปี 2030 ที่ 7,000 ดอลลาร์ และในวันนั้น ก็จะไม่มีเหตุให้ต้องผลิตระบบขับเคลื่อน ICE ต่อไป

แบงค์ออฟอเมริกา คาดว่ารถไฟฟ้าจะมีสัดส่วนเท่ากับ 16% ของยอดขายของรถทั้งหมดในปี 2030 และ 50% ของยอดขายรถทั้งหมดในปี 2050 แต่ในกรณีที่รถ EV พัฒนาไปเร็วเกินคาดก็อาจจะกินส่วนแบ่งตลาดคิดเป็น 25% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดได้ภายในปี 2030

การเข้ามาทดแทนรถ ICE ดังกล่าวแปลว่า ความต้องการน้ำมันของโลกจะถึงจุดสูงสุดในปี 2035 และในกรณีที่ EV เข้ามาทดแทนรถ ICE อย่างรวดเร็ว ความต้องการน้ำมันก็อาจถึงจุดสูงสุดได้เร็วขึ้นคือปี 2030

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับรถ ICE มีอยู่มากมายและจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่น ปั้มน้ำมันและผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายร้อยประเภท อาทิ หัวเทียนแบตเตอรี่ (12 volt) ท่อไอเสีย เครื่องปั่นไฟ (alternator) ชิ้นส่วนเกียร์ หม้อน้ำฯลฯ

แต่หากมีการใช้รถไฟฟ้าอย่างแพร่ขยายจริงดังที่คาดการณ์ อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมน้ำมัน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 พ.ค. หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal นำเสนอบทวิเคราะห์เรื่อง “Get Ready for Peak Oil Demand” ซึ่งมีสรุปว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะมาถึงจุดสูงสุด ภายในประมาณอีก 25 ปีข้างหน้า (“When not if”) โดยผู้รู้ด้านพลังงานมีความเห็นที่เหมือนกันและแตกต่างกันดังนี้

องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) มองในแง่ดีสำหรับบริษัทน้ำมันว่า โลกจะต้องการใช้น้ำมัน 103 ล้านบาร์เรลต่อวัน (จากปัจจุบันใช้ 98 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ในปี 2040 โดยมีสมมุติฐานว่า ประเทศต่างๆ จะไม่เข้มงวดเกี่ยวกับการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากนัก แต่หากมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด การใช้น้ำมันก็อาจจะถึงจุดสูงสุดเร็วขึ้นคือปี 2020

บริษัท BP คาดว่าความต้องการน้ำมันถึงจุดสูงสุดในปี 2040 โดยจะมีการใช้รถไฟฟ้าถึง 100 ล้านคันในปีดังกล่าว แต่ในกรณีทางเลือกอีก 2 กรณีนั้น จะเกิดการลดการใช้น้ำมันเร็วขึ้นในทั้งสองกรณี

บริษัท Royal Dutch Shell คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันจะถึงจุดสูงสุดในปี 2025-30 เพราะกฎเกณฑ์ควบคุมมลพิษจะเข้มงวดมากยิ่งขึ้น

บริษัท State Oil มองว่า ความต้องการของน้ำมันจะถึงจุดสูงสุดในปี 2030 เพราะพันธกรณีภายใต้ข้อตกลงปารีส ทั้งนี้ในกรณีที่รุนแรง (การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่พลิกผัน) จะทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงเหลือเพียง 78 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2040 แต่ในกรณีที่ความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดียและจีน เพิ่มขึ้นอย่างมาก โลกจะใช้น้ำมัน 116 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2040 (อย่างไรก็ดี บริษัท State Oil จัดสรรงบลงทุน 15-20% ไปสู่การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน)

บริษัท Total คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันจะสูงสุดในปี 2040 เช่นกัน โดยอาศัยการประเมินของ IEA

ครั้งต่อไป ผมจะขอเขียนถึงรถยนต์ไร้คนขับหรือ AV ต่อครับ