อันเนื่องมาจากเรื่อง 'เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ'

อันเนื่องมาจากเรื่อง 'เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ'

ในช่วงเกือบ 6 เดือนที่ผ่านมา ผมใช้เวลาเขียนหนังสือเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ”

 ซึ่งเพิ่งเสร็จเมื่อต้นสัปดาห์ เนื่องจากหนังสือผลิตขึ้นมาเป็นวิทยาทาน จึงไม่น่าจะผิดมารยาทหากจะพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับหนังสือในคอลัมน์นี้ ตามที่ชื่อของหนังสือบ่งบอก เนื้อหาเป็น “เศรษฐกิจพอเพียง” อันเป็นทั้งคำและแนวคิดใหม่ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นต้นคิด พระองค์ทรงบัญญัติศัพท์ภาษาอังกฤษให้แนวคิดว่า Sufficiency Economy มื่อปีที่ผ่านมา นักวิชาการออสเตรเลียนำคำนี้ไปตั้งชื่อหนังสืออันเป็นการยืนยันว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่รับรู้ในแวดวงวิชาการแล้ว แม้ตำราโดยทั่วไปจะยังมิได้บรรจุไว้ก็ตาม

ในช่วงเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ผมได้ค้นคว้าเกี่ยวกับแนวคิดนี้และนำผลมาเผยแพร่อย่างต่อเนื่องรวมทั้งหนังสือเรื่อง “โต้คลื่นลูกที่ 4 : เมื่อความพอเพียงคือคำตอบ” ซึ่งเนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ปจัดพิมพ์เมื่อปี 2549 หลังการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 มีกัลยาณมิตรเสนอและสนับสนุนให้ผมเขียนหนังสือ เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงอีกเล่มให้เสร็จ ก่อนงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยให้เนื้อหาครอบคลุมผลของการค้นคว้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป้าหมายได้แก่ การจารึกแนวคิดไว้ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพ่อหลวง และเพื่อให้คนไทยนำไปประยุกต์ใช้ หลังจากได้ค้นคว้ามาเป็นเวลานาน ผมสรุปว่ายังมีเรื่องเกี่ยวเนื่องที่ต้องค้นคว้าต่อไปอีกมาก

กระนั้นก็ตาม ผมตัดสินใจเขียนหนังสือเพราะมั่นใจว่าเนื้อหาจะครอบคลุมมากพอ สำหรับผู้อ่านที่ต้องการทำความเข้าใจ และนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้จากในระดับบุคคลไปจนถึงในระดับประเทศ ในปัจจุบัน คงเป็นที่รับรู้กันแล้วว่า แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแยกได้เป็นหลายมิตินำโดยมิติปรัชญา ตามด้วยมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม

ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มิติปรัชญาได้รับการขยายความและนำมาเสนออย่างกว้างขวาง รองลงมาเป็นมิติเศรษฐกิจซึ่งมักย้ำเน้นส่วนที่เป็นการทำเกษตรกรรมตามแนวทฤษฏีใหม่ ยกเว้นในกรณีที่ผมนำผลการค้นคว้ามาเสนอ ส่วนอีกสามมิติยังไม่มีใครนำไปขยายความอย่างจริงจัง เนื่องจากทั้งห้ามิติมีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จึงชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงนั้น ทั้งในด้านการเป็นปัจจัยให้เกิดการพัฒนาและในด้านปัญหาจากผลกระทบ ความเชื่อมโยงดังที่นำมาเสนอจะชี้แนวสำหรับการค้นคว้าต่อไปซึ่งผมได้ทำบ้างแล้ว อย่างไรก็ดี หากผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ นำไปค้นคว้าต่ออย่างจริงจังอาจจะได้ข้อสรุปเร็วขึ้น

ข้อสรุปที่นำมาเสนอได้ในโอกาสนี้คือ การพัฒนาในยุคปัจจุบันมีผลสำคัญยิ่งต่อด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น ในด้านสังคม เกิดการแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างเข้มข้นจนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำขั้นวิกฤติ การขาดดุลทางคุณธรรม และสงครามระหว่างประเทศอันเป็นสงครามระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ในด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศถูกทำลายจนไร้สมดุลซึ่งส่งผลให้เกิดสภาวะเสมือนสงครามระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สงครามสองด้านนี้จะมีผลร้ายแรงถึงกับทำให้สังคมมนุษย์ล่มสลายหากเราไม่เปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่แนวความพอเพียง

หนังสือมีทั้งข้อเสนอแนะใหม่และข้อเสนอแนะที่เคยเสนอไว้หลายอย่าง ยกเว้นเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งผมเริ่มเสนอครั้งแรกในบริบทของเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อปี 2543 ในหนังสือเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง: ภูมิปัญญาชาติไทย” ผมไม่นำมาเสนอใหม่เพราะรัฐบาลในสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตั้งคณะกรรมการในแนวนั้นขึ้นมา เช่นเดียวกับรัฐบาลปัจจุบัน แม้กรอบงานของคณะกรรมการทั้งสองจะต่างกัน และของรัฐบาลปัจจุบันต่างกับแนวที่ผมเสนอก็ตาม

ในระหว่างที่เขียนหนังสืออยู่ ผมมองดูว่ารัฐบาลได้เสนออะไรในด้านเศรษฐกิจที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่ตั้ง ผมยังมองไม่เห็น ทั้งที่รัฐบาลไม่เพียงแต่จะประกาศว่าจะนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้เท่านั้น หากยังนำไปเสนอในเวทีโลกอีกด้วย ตอนนี้ มีชาวต่างชาติสนใจในแนวคิดและติดตามดูว่ารัฐบาลไทยจะทำอะไรให้เป็นตัวอย่าง หากรัฐบาลยังไม่มีท่าทีใหม่ที่มองได้ว่ายึดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่ตั้งอย่างแจ้งชัด ไทยจะเสียโอกาสเป็นผู้นำทางความคิด พร้อมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มั่นคง ตรงข้าม ผู้นำอาจจะถูกกล่าวหาว่าได้ว่า ดีแต่พูดและถูกเย้ยหยันว่าเป็นตัวตลกบนเวทีโลก