ตั้งมหาวิทยาลัยต่างประเทศในไทย ?

ตั้งมหาวิทยาลัยต่างประเทศในไทย ?

โครงการ “ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ของรัฐบาลกำลังเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ

ตามแผนการที่ได้วางไว้ เรื่องหนึ่งที่มีการกล่าวถึงก็คือ การยอมให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศเข้ามาตั้งในประเทศไทย ปฏิกิริยาในเรื่องนี้มีอยู่เงียบ ๆ อย่างไม่ เปิดเผยนัก ผู้เขียนขอแสดงความเห็นในเรื่องนี้

EEC เป็นความพยายามที่จะสร้างและเสริมเพิ่มเติม กลไกขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ (Engine of Growth) โดยเล็งไปที่ทำเลที่ตั้งในภาคตะวันออกต่อยอดจากโครงการ Eastern Seaboard บริเวณแหลมฉบังมาบตาพุด ฯลฯ ซึ่งเริ่มในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 30 ปีก่อน โดย ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นมันสมอง โดยมีทีมงานสำคัญคือ ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค คุณสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม ฯลฯ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เกิดท่าเรือน้ำลึกแห่งแรกขนาดใหญ่ของประเทศไทย เป็นฐานของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วน ฯลฯ

จากสัดส่วน GDP ของภาคตะวันออกประมาณ 3.6% ของทั้งประเทศในปี 2526 เพิ่มเป็น 17.7% ในปี 2557 ทำให้รายได้ต่อหัวของคนที่อยู่ในภาคตะวันออกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขเฉลี่ยมากกว่าคนกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ คงไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่าโครงการ Eastern Seaboard เป็น “คานงัด” ที่สำคัญของอุตสาหกรรมไทยในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา

รัฐบาลปัจจุบันมองว่า “คานงัด” อันเก่ามันเริ่มจะล้าเพราะทำงานมานาน อุณหภูมิและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนไม้คานของประเทศอื่นที่มีอายุน้อยกว่า เริ่มมีอิทธิฤทธิ์มากขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นประเทศเราจึงต้องการ “คานงัด” อันใหม่ ซึ่งได้แก่ EEC

EEC จะอยู่ในบริเวณพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งแท้จริงก็คือบริเวณที่เดิมของ Eastern Seaboard โดยจะใช้พื้นที่ว่างใกล้เคียงที่มีอีกมาก พื้นที่ขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 30,000 ไร่ (มีอยู่แล้วพร้อมลงทุน 15,000 ไร่ และอยู่ระหว่างพัฒนา 15,000 ไร่) มุ่งจะพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้สะดวกเหมาะสม ต่อการเข้ามาลงทุนของธุรกิจต่างประเทศ และไทยเพราะอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่ไม่ไกลจาก CLMV และจีนสอดคล้องกับการการเป็นศูนย์เชื่อมต่อกับประเทศเหล่านี้อย่างยิ่ง การพัฒนามีดังนี้

ส่วนแรก คือ การก่อสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ สร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทางพร้อมปรับปรุงทางหลวงเชื่อมต่อ มีรถไฟรางคู่ รถไฟ ความเร็วสูง และสถานีรถไฟแห่งใหม่ ที่สำคัญคือเน้นให้ 3 สนามบินคืออู่ตะเภา สุวรรณภูมิ และดอนเมือง เชื่อมต่อถึงกันอย่างสะดวก มีการขยายสนามบินอู่ตะเภาเพื่อเป็นอาคารรับผู้โดยสารเพิ่มเติม ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศ ฯลฯ

นอกจากนี้ก็คือพัฒนาสาธารณูปโภค ระบบน้ำ ไฟฟ้า สาธารณสุข สภาพแวดล้อม การท่องเที่ยว โดยมองไปที่การสนับสนุนพัทยา (มีนักท่องเที่ยวปีละ 10 ล้านคน)ตลอดจนขยายเมืองใหม่

ส่วนที่สอง  คือ พัฒนานิคมอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีชั้นสูง กำจัดขยะ น้ำเสีย โดยมองไปที่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

กล่าวโดยสรุปก็คือต้องการสร้างพื้นที่ดึงดูดใจนักลงทุนจากภูมิภาคนี้และทุกแห่ง ตลอดจนจากภาคธุรกิจไทย โดยทำให้มีต้นทุนต่ำ สามารถเช่าที่ดินได้นานสำหรับการลงทุน มีส่วนประกอบด้านต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตของผู้เกี่ยวพันและครอบครัวมีคุณภาพสูง

ส่วนสำคัญก็คือแรงจูงใจด้านภาษี และด้านไม่ใช่ภาษี เช่น การถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน การยอมให้นำเข้าช่างฝีมือ และประเด็นของข้อเขียนนี้ก็คือการยอมให้ต่างชาติตั้งมหาวิทยาลัยในไทย ซึ่งมีประเด็นดังต่อไปนี้

(1) การมีมหาวิทยาลัยต่างชาติในไทยชนิดแบบเป็นแคมปัส มิใช่การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ (ถึงแม้ในตอนต้นอาจไม่ใช่มหาวิทยาลัยต่างชาติแต่ต่อมากลายร่าง) ตัวอย่างก็คือมหาวิทยาลัย Stamford ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคเอกชนเครือข่าย Laureate International University ซึ่งมีอยู่ 60 มหาวิทยาลัยใน 29 ประเทศ และ Webster University ซึ่งแคมปัสหลักของมหาวิทยาลัยชื่อเดียวกันอยู่ในรัฐ Missouri สหรัฐอเมริกา

(2) มหาวิทยาลัยต่างชาติในไทยไม่เป็นที่นิยมนัก รวมกันมีนักศึกษาอยู่ในระดับจำนวนพัน ในจำนวนนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนทั้งหมดประมาณ 150,000 คน ในจำนวนนักศึกษาทั้งประเทศไทยซึ่งมีกว่า 1.5 ล้านคน

เหตุผลก็คือนักเรียนไทยที่มีความรู้ภาษาอังกฤษดีพอที่จะเรียนได้ มีเงิน และปรารถนาเรียนหลักสูตรที่เป็นภาษาอังกฤษสามารถเรียนได้ใน International Program ของมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งมีอยู่นับร้อยแห่ง ส่วนกลุ่มที่อยากเรียนหลักสูตรแบบมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ถ้ามีเงินพอที่จะก็ไปเรียนออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา

(3) เกือบทั้งหมดของนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษในไทย ไม่ว่าในมหาวิทยาลัยไทยหรือต่างประเทศ ล้วนเรียนในระดับปริญญาตรีเกือบทั้งสิ้น ในบ้านเรามีหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงอยู่น้อยมาก ๆ อีกทั้งอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากงานวิจัย รู้จริงและรู้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงนั้นก็มีน้อยมาก บุคลากรเหล่านี้ที่พอมีอยู่บ้างก็ไม่ใช่อาจารย์ หากเป็นนักวิชาการ นักเทคโนโลยีในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และภาคเอกชน

(4) หลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอกทั้งหลายในบ้านเราไม่ว่าสอนในภาษาใด ก็พูดได้ว่าไม่ทันกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง หลักสูตรเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาล่าสุดก็ปีก่อนหน้า ดังนั้นจึงใช้เวลา 4 ปี กว่าจะผลิตคนออกมาได้ และระหว่างที่เรียนนั้นโลกและตลาดก็เปลี่ยนไป จนสิ่งที่เรียนมาไม่สอดคล้องกับโลกที่ต้องเผชิญ หลักสูตรในต่างประเทศก็เข้าหรอบเดียวกับไทย แต่หลายแห่งหลักสูตรมีความคล่องตัวกว่ามาก จนนักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาที่ตนเองสนใจ และคาดเดาว่าจะสามารถนำไปปรับปรุงใช้กับโลกจริงได้อย่างดีที่สุด

ครูอาจารย์เกือบทั่วโลกจำนวนมากสอนตามเนื้อหาที่ตนเองถูกสอนมาซึ่งอาจเป็นเวลาสิบ ๆ ปีและเราก็ตระหนักกันดีกว่าโลกเมื่อ 10 ปีก่อนนั้นต่างไปจากปัจจุบันอย่างไร และนี่คือปัญหาหนักอกในระดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกในปัจจุบัน

การอนุญาตให้มหาวิทยาลัยต่างชาติมาเปิดในไทยนั้น จะมีผลกระทบน้อยในการแย่งชิงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยไทย เพราะส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคนละกลุ่มกับที่จะไปเรียน

การมีมหาวิทยาลัยต่างชาติชั้นดีในเขต EEC จะช่วยทำให้ผู้ที่อาจเกี่ยวพันกับกิจกรรมของ EEC ยินดีที่จะมาร่วมมากขึ้นเพราะลูกหลานมีที่เรียน อีกทั้งเป็นแรงกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยไทย ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคุณภาพการเรียนการสอน โดยเฉพาะเป็นต้นแบบของงานวิจัยและการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา

การมีเครือข่ายเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยเหล่านี้จะเป็นผลดีต่อไทยมากกว่าผลเสีย แรงดึงดูดนักศึกษา CLMV และจีนให้มาเรียนในไทยอย่างมีคุณภาพก็จะแรงขึ้น ผู้บริหารการศึกษาไทยไม่ควรรังเกียจและหวาดกลัวการมาตั้งมหาวิทยาลัยเช่นนี้ในไทย อย่างไรเสียก็ไม่อาจหยุดกั้นได้ เพื่อนบ้านของเรา เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ มีมหาวิทยาลัยต่างชาติมาตั้งอยู่หลายปีแล้ว

สิ่งหนึ่งที่ขอติงก็คือการอนุญาตให้ตั้งมหาวิทยาลัยต่างชาติชนิดออนไลน์เท่านั้น จะไม่เป็นผลแต่อย่างใด เพราะขณะนี้คนไทยก็สามารถเรียนออนไลน์ กับมหาวิทยาลัยต่างชาติเหล่านี้ได้อยู่แล้ว ประเด็นที่ควรตระหนักก็คือการเรียนออนไลน์นั้นพิสูจน์แล้วทั่วโลกว่าไม่ได้ผล มีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่เรียนจบ (เฉพาะคนที่มุ่งมั่นอย่างแท้จริงเท่านั้น) เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องการเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ และมีสังคมแห่งการเรียนรู้ที่จับต้องได้

การมีทัศนคติที่กว้างขวาง คิดถึงผลประโยชน์ของชาติมากกว่าส่วนตนคือความรักชาติที่แท้จริง