อนาคตสดใสด้วย Skill for Future

อนาคตสดใสด้วย Skill for Future

ขณะที่หลายประเทศในภูมิภาค รวมถึงไทยด้วย ยังคงพยายามแก้ปัญหาเก่าๆหลายด้าน ปัญหาใหญ่อันหนึ่งคือการพัฒนากำลังคนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง

ทั้งความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต ทั้งในเชิงปริมาณ(เพียงพอกับความต้องการ) และเชิงคุณภาพ(ใช้การได้จริงไม่อิงแต่ทฤษฎี) แต่มาตรฐานทักษะความสามารถไม่ใช่มุ่งเฉพาะคนทำงานระดับปฏิบัติการเท่านั้น หากแต่ระดับบริหารก็จำเป็นเช่นกัน

 

มาตรฐานและทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารระดับสูง ในที่นี้ครอบคลุมตั้งแต่ตำแหน่งเบอร์หนึ่งขององค์กร จนถึงทีมผู้บริหารระดับสูงที่เป็นเบอร์รองๆ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ร่วมกันในการนำพาทั้งองค์กรไปสู่จุดหมาย โดยไม่เพียงแต่แค่อยู่รอดได้ในทางธุรกิจเท่านั้น หากแต่ต้องเติบโต และมีความยั่งยืนด้วย ดังนั้นความรู้ความสามารถและประสบการณ์ต่างๆในอดีตถือเป็นรากฐานที่สำคัญ หากแต่ทักษะที่จะช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินสถานการณ์ วางแผนกลุยุทธ์ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง จัดเตรียมทรัพยากรให้พร้อมรับกับแนวโน้มใหม่ในอนาคตที่กำลังจะมาถึง รวมถึงการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลได้อย่างทันเหตุการณ์ ทำให้คณะผู้บริหาร (Executive team) จึงเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งต้องพัฒนาเช่นกัน

 

แม้ว่าเราจะคุ้นเคยกับการฝึกอบรมและพัฒนากำลังคน การกำหนดความต้องการในการฝึกอบรม การจัดทำแผนการฝึกอบรม และการฝึกอบรมจริงในระดับปฏิบัติการ ไล่ขึ้นมาถึงระดับผู้บริหารชั้นต้น จนถึงผู้บริหารชั้นกลาง ซึ่งเกือบจะกลายเป็นงานประจำเกิดขึ้นซ้ำๆกันในทุกปี แต่ก็มีหลายคนนึกสงสัยว่าผู้บริหารระดับสูงมีการเข้ารับการฝึกอบรมหรือต้องพัฒนาอะไรอีกบ้างไหม พนักงานทั่วไปก็มักไม่เห็นหรือไม่รู้ด้วยซ้ำไป จนบางทีเรานึกว่าสงสัยจะเก่งและมากความสามารถอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงรูปแบบและวิธีการในการเรียนรู้ของผู้บริหารระดับสูงแตกต่างจากตำแหน่งระดับอื่นๆทั่วไป ระดับนี้คงไม่ต้องนั่งรอให้คนมาสั่งให้ต้องเข้า หรือให้คนมาสอนถึงจะรู้ แต่ผู้บริหารเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาผ่านช่องทางและวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ วารสาร ข่าวสารทุกวัน ประชุมกลุ่ม จ้างที่ปรึกษาส่วนตัว เข้าร่วมสัมมนาใหญ่ๆสำคัญ จนถึงการบินไปเข้าคลาสที่จัดให้เฉพาะผู้บริหารระดับสูงโดยเฉพาะ

 

ผู้เขียนเองก็ยังไม่เคยเห็นการระบุถึงทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารระดับสูงในองค์กรทั่วไป และก็พยายามค้นคว้าหาจากแหล่งข้อมูลต่างๆในต่างประเทศ แต่ที่เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้อย่างชัดเจน และอยู่ไม่ไกลบ้านเราเท่าไรก็คือ สิงคโปร์ จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆแห่งนี้ จึงกลายเป็นประเทศชั้นนำของโลก มีอันดับความสามารถการแข่งขันสูง ดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากหลากหลายประเทศ มีมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับชั้นนำของโลก

 

ยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นเป็นอย่างดี และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังทันที เป็นสิ่งที่สะท้อนความสำเร็จของสิงคโปร์อย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ประเทศต่างๆในโลกตระหนักแล้วว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ จากความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีดิจิตัล บิ๊กดาต้า ตลอดจนปัญญาประดิษฐ์ ทักษะความสามารถของคนในยุคใหม่ อยู่ที่คุณภาพไม่ใช่ปริมาณ คนหนึ่งคนในยุคใหม่ต้องสามารถใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆที่อยู่รอบตัวเพื่อสร้างงาน ด้วยเวลาที่สั้นและผลผลิตที่มากกว่าคนทำงานในปัจจุบันถึง 10 คน และสะท้อนผ่านตัวชี้วัดที่เรียกว่า ผลิตภาพ (Productivity) อย่างชัดเจน

 

เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมานี้เองสิงคโปร์ได้ประกาศแผนการพัฒนาบุคลากรสู่ยุคใหม่ภายใต้ชื่อโครงการ SkillsFuture (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ skillsfuture.sg) ซึ่งเป็นขบวนการขับเคลื่อนในระดับชาติเพื่อมุ่งสู่อนาคต เหมือนกับที่สิงคโปร์ทำสำเร็จมาแล้วในอดีต อาทิ Productivity Movement ที่เป็นขบวนการสำคัญตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 การขับเคลื่อนด้านมาตรฐานสากลในราวปี ค.ศ. 1990 และการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในศตวรรษที่ 21 แผนงานดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือสำคัญของ 3 หน่วยงานคือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกำลังคน และกระทรวงอุตสาหกรรมกรรมและการค้า ที่สำคัญอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดย Council for Skills, Innovation and Productivity(CSIP) ที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ โดยสมาชิกในสภาประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ ภาคอุตสาหกรรม สภาแรงงานลูกจ้าง ภาคการศึกษา และสถาบันจัดอบรม

 

ตัวอย่างทักษะความสามารถที่จำเป็นในอนาคตสำหรับตำแหน่งงานระดับสูง (ระดับ C level) อาทิ CEO COO CMO รวมถึงระดับผู้อำนวยการฝ่ายต่างๆ (Vice president) แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ได้แก่ กลุ่ม Product Management กลุ่ม Operations Planning and Production กุล่ม Sustainable Manufacturing กลุ่ม Manufacturing Productivity and Innovation กลุ่ม Quality Management System กุล่ม Business Continuity Management กลุ่ม Leadership and People Management เป็นต้น

 

ซึ่งในแต่ละกลุ่มความสามารถนั้น จะระบุทักษะที่จำเป็นเช่น กลุ่ม Product Management จะต้องมีทักษะที่เรียกว่า Strategic Research and Development กลุ่ม Sustainable Manufacturing จะต้องมีทักษะ Champion Green Manufacturing และ Practices for Sustainability หรือกลุ่ม Business Continuity Management จะต้องมีทักษะ Endorse Business ContinuityFramework, Strategies, Policies and Plans และ Provide Leadership during Crisis Situations กลุ่ม Public Relations จะต้องมีทักษะ Build International Business Networks และ Speak with Impact เป็นต้น

 

จะเห็นได้ว่าผู้บริหารองค์กรจะต้องมีความสามารถรอบด้านจริงๆ ไม่ใช่แค่บริหารงานที่รับผิดชอบ บริหารคนภายในองค์กร แต่ยังต้องมีทักษะที่ต้องใช้สู้รบปรบมือกับทั้งการค้าการแข่งขันระหว่างประเทศอีกด้วย เพราะสิงคโปร์มองว่าตลาดคือโลก การศึกษาและความรู้ความสามารถจึงต้องเป็นสากล เครือข่ายต้องกว้างขวาง ดังนั้นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตต้องสอดรับกับโลกที่กำลังเปลี่ยนไป