หยุดแถลงข่าว 'เอาหน้า'

หยุดแถลงข่าว 'เอาหน้า'

หลายครั้งที่เราเห็นตำรวจ โดยเฉพาะ“นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่” นำตัวผู้ต้องหาในคดีต่างๆ ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวการจับกุม

 และพบว่าบางครั้งในคดีสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ ผู้บังคับบัญชาบางรายถึงกับทิ้งภารกิจอื่นมาร่วมโต๊ะแถลงด้วยตัวเอง ระยะหลังยิ่งมีพัฒนาการด้วยการซักถาม ที่เกือบจะถึงขั้น“สอบสวน”เพื่อโชว์ผู้สื่อข่าว และมีการบันทึกภาพ บันทึกเสียงออกทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง แถมด้วยการเผยแพร่ต่อบนสื่อออนไลน์ต่างๆ จนดูเสมือนเป็นเรื่องปกติ และเป็นหนึ่งในขั้นตอนการจับกุมแบบเดียวกับการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ

จนเกิดคำถามว่าตำรวจสามารถทำเช่นนั้นได้หรือไม่ การทำเสมือนเป็นการประจานให้ผู้ต้องหาได้รับความ “อับอาย” เป็นเรื่องเหมาะสมหรือเปล่า หรือเพียงเพราะว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่รัฐผู้ถือกฎหมายอยู่ในมือจะทำกับเขาอย่างไรก็ได้ กรอบในการเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ที่มีการคุ้มครองไว้ในกฎหมาย ถูกนำมานึกถึงบ้างหรือเปล่า แม้ว่าหลายครั้งที่ผ่านๆ มาอาจมีประชาชนส่วนหนึ่งชื่นชม เพราะมีอารมณ์ร่วมที่อยากจะประณามการกระทำความผิดของคนร้าย แต่ก็ไม่น่าจะใช่เหตุผลให้ละเลยความถูกต้อง 

คลิปที่ปรากฏออกไปทั่วเมื่อ 3-4 วันที่ผ่านมา กรณีพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณ์กุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โต้เถียงกับนายวสุ ผันเงิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ แม้ว่าสังคมจะคาดเดาไปล่วงหน้าแล้วว่าใครกระทำความผิดอย่างไร แต่ท่าทีของนายตำรวจต่อผู้ถูกกล่าวหา ก็ถูกแสดงความเห็นอย่างน่ากังวล เพราะท่ามกลางการโต้เถียงถูกห้อมล้อมด้วยตำรวจ และยังมีการ“สะกิด”อีกฝ่ายให้สงบปากสงบคำ จนมีเสียงวิจารณ์อย่างวิตกกังวลว่ายิ่งหากเป็นการสอบสวนในที่มิดชิด ประชาชนจะมีสิทธิ์“พูด”ได้มากน้อยแค่ไหน

มีการให้ความรู้กันมานานและในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา29 ก็ระบุไว้ว่าในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้นการกระทำการใดๆ ก็ตาม ไปไม่ว่าจะเป็นการซักถามในลักษณะกดดัน ตั้งคำถามชี้นำให้ตอบ หรือแม้แต่การตั้งโต๊ะประจานอย่างที่ปรากฏอยู่ จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เพราะการชี้ถูกชี้ผิดไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจ แต่กระบวนการชัดเจนอยู่แล้วว่าจะต้องส่งสำนวนไปยังอัยการ และถูกส่งต่อไปยังศาล ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการตัดสินคดี

พล.ต.อ.วิศิษฐ์ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ เคยระบุถึงพฤติกรรมที่ปรากฏหลายครั้งหลายหนนี้ ว่าการนำตัวผู้ต้องหาออกไปซักถามและปรักปรำในที่สาธารณะ และต่อหน้าผู้สื่อข่าวอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา กรณีเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น และเคยมีการพูดถึงเรื่องนี้กันหลายครั้งหลายหนว่าผู้ต้องหา หรือญาติผู้ต้องหา รวมทั้งทนายความสามารถปฏิเสธการถูกนำตัวมานั่งแถลงประจานได้หรือไม่

มีคำตอบง่ายๆ ว่าใครจะกล้าขัดขืน เพราะการถูกจับกุมก็เท่าตกอยู่ในอุ้งมือเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องเป็นผู้ควบคุมตัว และทำสำนวนคดีสั่งฟ้องต่อไป และหากพูดกันด้วยความเป็นจริงแล้วคงไม่มีผู้ต้องหารายไหนที่อยากถูกประจานต่อสังคม ที่สำคัญคนเหล่านี้มีพ่อ มีแม่ มีครอบครัว การเอ่ยชื่อเสียงเรียงนาม รวมทั้ง“นามสกุล”มีการฉุกคิดกันบ้างหรือไม่ว่า เป็นการสร้างความเสียหายไปถึงบุคคลที่ 3 เป็นวงกว้าง ดังนั้นถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลหรือสตช.จะออกเป็นกฎเป็นกติกาให้ชัด ให้ตำรวจเลิกพฤติกรรม “แถลงข่าวเอาหน้า” เหยียบย่ำความเป็น “มนุษย์” ของคนอื่นเหมือนอย่างทุกวันนี้