'ไปป์บอมบ์' ระเบิดการเมือง!

'ไปป์บอมบ์' ระเบิดการเมือง!

จะเรียกว่าเกิดขึ้นถี่ก็ว่าได้ สำหรับเหตุระเบิดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 เพราะในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 1 เดือนกว่าได้เกิดเหตุขึ้นถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกคือเหตุระเบิดที่หน้ากองสลากเก่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ครั้งที่ 2 เหตุระเบิดที่หน้าโรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.  และครั้งที่ 3 เหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า บริเวณ ห้องวงษ์สุวรรณในวันที่ 22 พ.ค.ซึ่งเป็นวันครบรอบ3ปีการรัฐประหาร

000 เหตุที่เกิดขึ้นหน่วยงานด้านความมั่นคงต่างออกมาระบุในทิศทางค่อนข้างตรงกันว่า ทั้ง เหตุการณ์เป็นฝีมือของผู้ก่อเหตุกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากผู้ก่อเหตุเลือกใช้ ไปป์บอมบ์ เช่นเดียวกันและมีลักษณะการประกอบที่คล้ายกัน มีอานุภาพไม่รุนแรง ไม่ได้มุ่งเน้นให้เกิดความสูญเสีย แต่เพื่อสร้างความวุ่นวายเท่านั้น

000 สืบเนื่องจากประเด็นนี้มีการพุ่งเป้าไปที่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งพรรคหลังดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยเห็นหน้าเห็นตาผ่านทางหน้าสื่อและยังลาประชุมครม.ถึง 2 สัปดาห์ตามด้วยกระแสข่าวลือที่เจ้าตัวป่วยหนักจนเข้าโรงพยาบาล ร้อนถึงผู้ใหญ่ในรัฐบาลคนใกล้ชิดออกมาชี้แจงถึงกระแสข่าวที่เกิดขึ้น โดยระบุแต่เพียงว่า ไม่ทราบ แต่ยังโทรศัพท์พูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด

000 อย่างไรก็ดีทั้ง 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตั้งประเด็นสงสัยไว้ 2 ประเด็นคือการสร้างสถานการณ์ทางการเมือง และการขยายพื้นที่ของกลุ่มที่ก่อเหตุใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยยังไม่ตัดประเด็นใดประเด็นหนึ่งทิ้ง แต่เวลานี้ดูเหมือนว่าเวลานี้สังคมจะให้ความสนใจไปที่ประเด็นแรกเป็นพิเศษ เพราะทั้ง 3 เหตุการณ์ล้วนมีการก่อเหตุในวันสำคัญซึ่งแฝงไปด้วยนัยในเชิงสัญลักษณ์ทั้งสิ้น

000 เรื่องนี้คงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าผู้ก่อเหตุและผู้สั่งการว่าทำไปเพื่อจัดฉาก สร้างสถานการณ์ ตอบโต้ หรือเพื่อแสดงศักยภาพ หรือเพื่อเหตุผลใด เพื่อประโยชน์ของใครก็แล้วแต่ แต่การก่อเหตุในพื้นที่ที่มี เครื่องหมายกาชาดหรือเครื่องหมายกากบาทสีแดง” ไม่ว่าจะเป็นฝีมือใครก็ถือเป็นเรื่องที่ไร้มนุษยธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะแม้แต่พื้นที่สงคราม หากที่ใดมีเครื่องหมายดังกล่าวย่อมหมายถึงที่นั่นย่อมได้รับความคุ้มครอง

.................

- ดารากร -