Strategic Transformation

Strategic Transformation

ในยุคที่ปัจจัยรอบๆ ตัวมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา องค์กรจะไม่สามารถดำเนินงานในรูปแบบและวิธีการเดิมๆ

 และคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จหรืออยู่รอดได้ตลอดไป การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพียงเล็กๆ น้อยๆ ในลักษณะของการพัฒนาหรือปรับปรุงก็อาจจะไม่เพียงพอ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของ Transformation จึงกลายเป็นเรื่องที่เป็นที่หลายๆ องค์กรไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลยุทธ์เดิมๆ ที่เคยใช้อยู่เริ่มที่จะล้าสมัยหรือเผชิญการคุกคามจากปัจจัยภายนอกมากขึ้น จึงกลายเป็นที่มาของคำที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในชื่อของ Strategic Transformation

ภายใต้แนวคิด Strategic Transformation นั้นองค์กรจะต้องสามารถปรับธุรกิจหลักเดิมๆ หรือ core business ให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะต้องสามารถแสวงหาโอกาสหรือตัวขับเคลื่อนการเติบโตใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ หรือ Business model ใหม่ๆ และยิ่งการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกรุนแรงและรวดเร็วเพียงใด Strategic Transformation ก็ยิ่งกลายเป็นความสามารถหลัก ที่จะทำให้องค์กรยังคงความเป็นผู้นำทางธุรกิจได้ต่อไปเรื่อยๆ

บริษัท Innosight บริษัทที่ปรึกษาทางด้านกลยุทธ์ที่ก่อตั้งโดย Clayton Christensen ปรมาจารย์ด้าน Disruptive ได้มีการสำรวจและจัดอันดับ 10 บริษัท ที่มีสามารถทำให้เกิด Strategic Transformation ขึ้นมาได้อย่างเห็นผลชัดเจนที่สุดและเรียกบริษัทเหล่านี้ว่า T10 (Transformation 10) เพื่อให้บริษัทเหล่านี้ได้กลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับองค์กรอื่นๆ ที่อยากจะทำ Strategic Transformation

บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกมาทั้ง 10 บริษัทนั้นไม่เพียงแต่จะต้องมีผลประกอบการทางด้านการเงินที่ดี แต่ยังจะต้องมีการเติบโตผ่านทางตัวขับเคลื่อนการเติบโต (Growth driver หรือ growth engine) ใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ ตลาดใหม่ และยังจะต้องมีการปรับเปลี่ยนธุรกิจเดิม (Core business) ให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอก และทำให้ธุรกิจเดิมนั้นยังคงดำเนินอยู่ได้อย่างมั่นคง

ตัวอย่างของบริษัทที่ได้รับเลือกให้เป็น T10 นั้น อาทิเช่น Amazon ที่นอกเหนือธุรกิจเดิมคือการขายของออนไลน์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังได้มีการเติบโตอย่างสำคัญผ่านทางธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจ Cloud services หรือ Danone ที่จากเดิมเป็นผู้ผลิตและขายอาหารและเครื่องดื่มธรรมดา กลายเป็นบริษัทอาหารเพื่อสุขภาพ

จากการศึกษาบรรดาบริษัทใน T10 ทำให้ทาง Innosight ได้พบว่าบริษัทเหล่านี้ที่ทำเรื่องของ Strategic Transformation จนสำเร็จนั้นจะมีสิ่งที่เหมือนๆ กันอยู่หลายประการด้วยกัน

การทำ Strategic transformation นั้นไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็วดังนั้น CEO ที่ทำ Strategic transformation จนสำเร็จนั้นมักจะเริ่มคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกๆ ที่เข้ารับตำแหน่ง CEO เหล่านี้เข้าสู่ตำแหน่งพร้อมด้วยแผนการสำหรับเปลี่ยนแปลงเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น CEO ของบริษัท T10 ส่วนใหญ่มักจะมาจากคนภายในที่มีความรู้ในธุรกิจดีอยู่แล้ว รวมทั้งอาจจะเคยแสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ภายในบริษัทมาแล้ว

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นมักจะเป็นไปในลักษณะของ Dual Transformation นั้นคือธุรกิจเดิมก็ยังคงอยู่ แต่ขณะเดียวกันธุรกิจใหม่ทีจะเป็นช่องทางการเติบโตใหม่นั้นจะถูกแยกออกจากธุรกิจเดิมอย่างชัดเจน โดยการแยกออกจากกันนั้นอาจจะอยู่ในรูปของบริษัทใหม่ หน่วยธุรกิจใหม่ หรือ ฝ่ายใหม่ก็ได้

จะต้องมีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งความยากจะอยู่ที่การเปลี่ยนวัฒนธรรมหรือรูปแบบและวิธีการทำงานแบบเดิมๆ เพื่อให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับ Strategic Transformation ที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้หน้าที่สำคัญของ CEO คือนักเล่าและนักสื่อสาร ที่จะต้องสื่อสารถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลาและกับทุกกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง

สุดท้ายคือจะต้องคิดและมีแผนสำหรับการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะถูก disrupt จากปัจจัยภายนอก ไม่ใช่รอให้ถูก disrupt เหมือน Blackbuster, Blackberry หรือ Kodak ค่อยมาคิดแผนที่จะเปลี่ยนแปลง

เขียนบทความนี้เสร็จก็ทำให้คิดนะครับว่าแล้วประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของ Strategic Transformation หรือเปล่า? จากประเทศไทย 3.0 ก้าวเข้าสู่ 4.0